ทางออก“เงินบาทไทย” ในยุคจักรวรรดินิยมการเงินสหรัฐฯ (1)

ทางออก“เงินบาทไทย”  ในยุคจักรวรรดินิยมการเงินสหรัฐฯ (1)

นับจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ระบบเศรษฐกิจหลักของโลกอยู่ในภาวะล้มเหลว โดยสังเกตได้จากการต้องพิมพ์เงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตนจำนวนมหาศาล

ของเหล่าประเทศมหาอำนาจทั่วทุกภูมิภาคของโลก อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น และกลุ่มอียู เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า ระบบเศรษฐกิจหลักของโลกเป็นระบบเศรษฐกิจผีดิบ จากภาวะถดถอย และภาวะเงินล้นโลกดังกล่าวทำให้กองทุนและนักลงทุนทั่วโลกหันไปแสวงหามูลค่าเพิ่มเทียมจากการเก็งกำไร(digital/ financial sector) แทนการแสวงหามูลค่าเพิ่มที่แท้จริงทางกายภาพ( physical / real sector) ทำให้ ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ ที่เปิดลงทุนอย่างเสรีทั่วโลก ได้แปรสภาพเป็น “บ่อนพนันสากลขนาดยักษ์”

 ยกตัวอย่าง ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งปริมาณแลกเปลี่ยนเงินตราเฉลี่ยประมาณ 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (~1,375 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี) ซึ่งสูงกว่าGDPของทุกประเทศทั่วโลกประมาณ 16 เท่า (GDPโลกปี 2018 รวมแล้วประมาณ 87 ล้านล้านดอลลาร์) และเมื่อเทียบกับตลาดพันธบัตรทั่วโลกมี~100 ล้านล้านดอลลาร์ (2017) (~1.15 เท่าของ GDP โลก) และตลาดหุ้นโลกมีขนาดประมาณ 76.3 ล้านล้านดอลลาร์ (~0.88เท่าของ GDP โลก) มีปริมาณการซื้อขายหุ้นทั่วโลกต่อปีโดยเฉลี่ย (2014-2018) ประมาณ 105 ล้านล้านดอลลาร์( 1.2เท่าของ GDP โลก) จะพบว่าทั้ง 2 ตลาดมีขนาดเล็กกว่าตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมาก และตกอยู่ภายใต้สภาวการณ์เก็งกำไรสูงมาก (ผู้เข้ามาในตลาดมิได้เข้ามาลงทุนแต่มาเพื่อการเก็งกำไร)

เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรไทย มีการซื้อ-ขายต่อวันรวมแล้วโดยเฉลี่ยประมาณ 440,000 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 114.4 ล้านล้านต่อปี (ประมาณ 7 เท่าของ GDP ของประเทศไทยในปี 2561)โดยการซื้อ-ขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (~300,000ล้านบาท/วัน(ปี 2558))ตลาดหุ้น (~50,000ล้านบาท/วัน) และตลาดตราสารหนี้ (~90,000ล้านบาท/วัน) รวมแล้วประมาณ 440,000ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 114.4 ล้านล้านบาทต่อปี(~7 เท่าของGDP ของประเทศไทยในปี2561) จึงเห็นได้ว่ากระแสการขับเคลื่อนของการเก็งกำไรมีอิทธิพลมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มของประเทศถึง 7 เท่า ทำให้การแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทไทยโดยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมนั้นไม่ได้ผล เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

การแข็งค่าของเงินบาท ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออก สูญเสียยอดขายความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการแข่งขันและการจ้างงานซึ่งเชื่อมโยงถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่ลดน้อยถอยลงมา คิดมูลค่าเฉลี่ยต่อปีประมาณกว่า 1 ล้านล้านบาท (ระหว่างปี 2550-2562) รวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมถึง การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เฉพาะปี 2559-2561 ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

ผู้เขียนจึงขอนำเสนอการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท ด้วยการออกนอกกรอบแนวความคิดเดิม เข้าสู่กรอบแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์เทคโนโลยีทางการเงินดิจิทัล ที่เชื่อมโยงกับภาษีธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับการเก็งกำไรค่าเงิน และนโยบายการเงินขยายตัวด้วยการเพิ่มปริมาณเงิน ดังนี้

1.การออกนอกกรอบส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.25% ซึ่งแทบจะเป็นอัตราต่ำสุดตาม “Policy Space” ตามที่ ธปท.กำหนดไว้กล่าวคือ หากลดลงอีก 0.25% โดยคงค่าส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝากไว้เหมือนเดิม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์จะเท่ากับ 0 ซึ่งอาจทำให้เกิด Bank Run คือกลุ่มผู้ฝากเงินถอนเงินออกจากระบบธนาคารพาณิชย์จำนวนมากได้ แต่หากภาครัฐพิจารณา Platform ทางการเงินทางดิจิทัลของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน(Fintech companies) จะพบว่าการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงินโดยมีกฎเกณฑ์และกลไกการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลดส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้(เช่น MRR-อัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดีที่ 6.8%)และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ( เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินออมทรัพย์ที่ 0.5%) จากประมาณ 6.3% ลงเหลือเพียง 3% ได้

การดำเนินการแปรรูปวงการธนาคารเข้าสู่ระบบดิจิทัลเช่นนี้ ทำให้เหล่าธนาคารพาณิชย์ได้Disruptตัวเองก่อนที่จะถูกDisruptedโดยกระแสของเทคโนโลยีการเงิน(Fintech) ในอนาคตอันใกล้การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะลดภาระของผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมทำให้มีรายได้ และความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ( เช่น ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยภาพรวม 2.3% ) ในขณะเดียวกันการเพิ่มอัตรา ดอกเบี้ยเงินฝาก (เช่น เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยภาพรวม 1% ) จะทำให้ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นรากหญ้า ชนชั้นกลาง และวัยเกษียณมีแรงจูงใจในการออมเพิ่มขึ้น มีรายรับในการจับจ่ายใช้สอยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และทำให้เงินบาทอ่อนค่าจากอำนาจการซื้อของประชาชน ความสามารถในการทำกำไร และการลงทุนของหน่วยธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับแนวคิดของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ว่า ผู้ประกอบการ(ในธุรกิจธนาคาร) ควรฉวยโอกาสที่เงินบาทแข็งค่า ลงทุนในเทคโนโลยี(ทางการเงิน)ใหม่ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลให้แก่ธุรกิจอันเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มผลิตภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และหากพิจารณาจากกรอบของอัตราดอกเบี้ยนโยบายการปฏิรูประบบธนาคารพาณิชย์เช่นนี้ เปรียบเสมือนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเดือนละครั้ง ครั้งละ 0.25%นานถึง 12 เดือนติดต่อกัน แต่ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกระทั่งติดลบ โดยลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงนั่นเอง ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้อย่างต่อเนื่องค่อยเป็นค่อยไป

โดย... 

ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล

ตระการ ไตรพิเชียรสุข