มีที่มา ก็มีที่ไป...ดูเนคไทเป็นตัวอย่าง
ทุกวันนี้ ก่อนออกจากบ้านไปทำงาน ผมจะถามตัวเองว่า วันนี้มีนัดกับใครที่ควรจะต้องใส่สูท ผูกเนคไทหรือไม่
ถ้าจะต้องพบผู้ใหญ่ หรือเข้าประชุมบอร์ด หรือตอนเย็นต้องไปงานแต่งงาน ผมก็จะผูกเนคไทใส่สูท แต่โอกาสเช่นนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นในวันทำงานทั่วไป แม้กระทั่งวันที่ไปสอนหนังสือผู้บริหาร ผมไม่ค่อยจะได้ใช้เนคไท ส่วนใหญ่ใส่เสื้อเชิ้ต สวมทับด้วยแจคเก็ตกึ่งลำลองเท่านั้นเอง
เป็นไปตามเทรนด์ครับ อะไรๆก็เปลี่ยนไป สมัยก่อนใครเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าจะซื้อของฝากให้สุภาพบุรุษ สิ่งแรกๆที่นึกถึงก็คือเนคไทแบรนด์ดีๆ เพราะ “ยังไงก็ต้องได้ใช้แน่ๆ”.... แต่วันนี้ไม่ถึงขนาดนั้นเสียแล้ว
ทุกอย่างมี ที่มา และ ที่ไป ครับ สองสัปดาห์ก่อนผมเล่าเรื่อง “ไวน์ชั้นดี มีที่มา” วันนี้ผมจะเล่าว่า เนคไท ก็มีที่มาเหมือนกัน คือเริ่มต้นในศตวรรษที่ 17 เมื่อ พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ทรงเห็นทหารรับจ้างชาวโครเอเซียน เอาเสื้อแจคเก็ตที่พวกเขาไม่ได้สวม ไปห้อยไว้ข้างหลัง โดยใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งรวบมัดปลายเสื้อไว้ตรงรอบคอ
ทรงเห็นว่าผ้าที่มัดไว้รอบคอ เป็นเครื่องประดับกายที่สวยดี เลยสั่งให้ข้าราชบริพาร ใช้ผ้าพันคอในงานพระราชพิธีต่างๆ ตั้งแต่นั้นมา
“ผ้าพันคอ” มีการใช้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 300 ปี และได้พัฒนารูปแบบตามลำดับ จนกลายเป็น เนคไท อย่างที่เราเห็นคุ้นตากันทุกวันนี้ แต่แล้วความนิยมเนคไทก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อดาราภาพยนตร์ ดาราทีวี เลิกผูกเนคไท หันมาสวมเสื้อโชว์ปก แล้วสวมทับด้วยแจคเก็ตเท่ๆ นอกจากนั้น เทรนด์การ “เดรสดาวน์” ก็กระจายไปทุกวงการทั่วโลก
เมื่อคนดังอย่าง บารัค โอบาม่า สตีฟ จ็อบส์ หรือ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างมาก หันมาแต่งกายง่ายๆ สบายๆ เลยกลายเป็นเทรนด์ทั่วโลก และได้รับการยอมรับจาก นักธุรกิจรวมทั้งสตาร์ทอัพทั้งหลาย อย่างกว้างขวาง
เวลานี้ ถ้าไปร่วมงานที่ไม่เป็นทางการมากนัก เราจะเห็นผู้ชายจำนวนมาก ใส่แจคเก็ตโดยไม่ผูกเนคไท และก็ไม่มีใครมองว่าไม่เหมาะสมกับกาละเทศะ ดังนั้น ที่เรียกว่า ดิสรัปชั่น จึงไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยี เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจาก รสนิยมและกระแสที่เปลี่ยนไป ก็ได้ เพียงแต่จะช้ากว่าดิสรัปชั่นที่เกิดจากเทคโนโลยีโดยตรง มากน้อยแค่ไหน ก็ว่ากันเป็นกรณีๆไป
แบรนด์ดังๆอย่าง Hermes ได้ออกมายอมรับว่า ยอดขายเนคไทได้รับผลกระทบอย่างมาก ที่ยังมีผู้ซื้ออยู่บ้างก็เพราะว่า ยังมีงานที่เป็นทางการ เช่นงานแต่งงาน หรือการประชุมทางการเมืองหรือทางธุรกิจที่สำคัญๆ ฯลฯ ซึ่งการสวมใส่เนคไท ยังเป็นวิถีปฎิบัติที่เหมาะสม
แต่เมื่อโอกาสที่จะใช้เนคไทมีน้อยลง ความต้องการซื้อเพิ่มจึงมีไม่มากเหมือนสมัยก่อน และเป็นความยากลำบากของผู้ผลิตเนคไทที่จะอยู่รอด เพราะดีมานด์ลดลงค่อนข้างมาก
ในทางจิตวิทยา การแต่งกายดีและเหมาะสมแก่กาละเทศะ ยังนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนั้น “ความรู้สึกแรกพบ” (First Impression) ส่วนหนึ่งก็เกิดจาก “การแต่งกาย” นักจิตวิทยาจำนวนหนึ่ง เชื่อว่าการแต่งกายดี มีผลไปถึงการทำงานที่ได้ผลดีด้วย ซึ่งผมก็เชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กันทีเดียว
เมื่อแต่งกายดี ก็มีความรู้สึกมั่นใจตนเองมากขึ้น และน่าจะมีผลให้การใช้ความคิดความอ่านในการทำงานดีขึ้นไปด้วย เพราะไม่ว่าทำงาน หรือเล่นกีฬา หรือกิจกรรมอะไรก็ตาม ถ้าเสียความมั่นใจไปเมื่อใด ผลงานก็จะถดถอยลงทันที
แต่ที่ทำให้น่าห่วงใยเนคไทมากขึ้น ก็คือการแต่งกายสบายๆ เป็นบางวัน เช่น “ทุกวันศุกร์” กำลังจะกลายเป็น “ทุกวัน” ไปเสียแล้ว นอกจากนั้น เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2018 มีรายงานในนิตยสารการแพทย์ Journal of Neuroradiology ว่าการผูกเนคไทแน่นเกินไป มีผลให้เลือดไหลขึ้นไปสู่สมอง ลดลง 7.5% ซึ่งจะมีผลต่อประสิทธิผลการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ อีกด้วย
ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2003 นิตยสารจักษุแพทย์ British Journal of Ophthalmology ก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของนักวิจัย 5 คน ที่ระบุว่าการผูกเนคไทแน่นๆ อาจมีผลให้ “ความดันตา” (Intraocular Pressure) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่ โรคริดสีดวงตา ได้ ซึ่งใครที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้และถ้าอ่านแล้วเชื่อ ก็อาจจะกังวลเพิ่มขึ้นไปอีก
เท่านั้นยังไม่พอ กระแสกดดันยังมาจากผู้นำในสังคมอีกด้วย เช่นเมื่อต้นปี 2017 รัฐสภาอังกฤษ ได้ประกาศว่า สมาชิกสภาผู้แทนฯ ควรแต่งตัวด้วยชุดที่เหมาะสม “แต่ไม่จำเป็นต้องผูกเนคไทอีกต่อไป”
แถมด้วย นายกเทศมนตรี เมือง Lancaster รัฐ California อายุ 66 ปี ซึ่งผูกเนคไทมาตลอดชีวิต ได้ออกมาประกาศเรียกร้องเมื่อกลางปี 2018 ให้บริษัทต่างๆเลิกออกกฎข้อบังคับให้พนักงานชาย ต้องผูกเนคไท
“ก็ผู้หญิง ยังมีคำสั่งศาลห้ามบริษัทออกข้อบังคับ ให้พนักงานสตรีต้องสวมใส่รองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน แล้วทำไมผู้ชายจะต้องถูกบังคับให้ผูกเนคไทด้วย ในเมื่ออากาศเมือง Lancaster ร้อนถึง 120 ฟาเรนไฮต์” ท่านนายกเทศมนตรี ตั้งคำถาม
สรุปก็คือเนคไท กำลังจะหายไป และเราก็คงได้บทเรียนชีวิตว่า “สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป” เพียงแต่บางครั้ง เราก็มักวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆของชีวิต หรือต้องแข่งขันกันมาก หรืออยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นของตน จนกระทั่งหลงผิด และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้ลืมสัจธรรมข้อนี้ไป
เช้าวันนี้หรือหลายวันที่ผ่านมา ถ้าหากคุณแต่งตัวไปทำงาน แล้วไม่ได้หันไปมองเนคไท ในตู้เสื้อผ้าของคุณเลย ก็ควรจะเป็นข้อเตือนใจว่า แม้กระทั่งเนคไทที่ “ตั้งอยู่” มานานกว่า 300 ปี ก็กำลังจะเข้าสู่ช่วง “ดับไป” เช่นกัน
ปีใหม่ 2563 นี้ คงพอมีข้อคิดแล้วใช่ไหมครับว่า ชีวิตที่มีคุณค่านั้น เราควรเดินทางเช่นใด