สัญญาโอนขายธุรกิจ vs ปัญหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

สัญญาโอนขายธุรกิจ vs ปัญหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

จากสภาวะเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการที่หลายฝ่ายรอลุ้นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงดำเนินอยู่

ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวกับกำลังซื้อและยอดการสั่งซื้อที่ลดลง หลายๆ ธุรกิจไม่สามารถแบกรับผลขาดทุนติดต่อกันได้จนนำไปสู่การปิดกิจการและการเลิกจ้างในที่สุด ในขณะที่หลายๆ กิจการต้องตัดใจขายธุรกิจบางส่วนให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพมากกว่า นำมาสู่การเลิกจ้างลูกจ้างหรือการโอนลูกจ้างไปทำงานกับผู้ซื้อกิจการรายใหม่

ในทางกฎหมายการโอนขายธุรกิจอาจเป็นการโอนขายธุรกิจทั้งหมดของผู้ประกอบการเดิมให้แก่ผู้ซื้อตามสัญญาซื้อขายกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer Agreement) หรือหากผู้ประกอบการมีการผลิตสินค้าหลายประเภทอยู่เดิม เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อาจมีการผลิตผ้าเบรก เบาะรถยนต์หรือชุดไฟรถยนต์ ผู้ประกอบการอาจทำการโอนขายกิจการเฉพาะการผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งให้กับผู้ซื้อ ซึ่งผู้ขายและผู้ซื้อจะเข้าทำสัญญาซื้อขายกิจการบางส่วนหรือซื้อขายทรัพย์สินของกิจการนั้น (Partial Business Transfer Agreement หรือ Asset Transfer Agreement) ในสัญญาโอนขายกิจการไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนนั้นข้อสัญญาที่สำคัญข้อหนึ่งและขาดไม่ได้ที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องตกลงกันไว้ในสัญญาคือเรื่องลูกจ้างซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของกิจการ

สัญญาโอนขายกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเกี่ยวข้องในการร่างหรือตรวจทานสัญญาส่วนใหญ่จะตกลงกันให้ผู้ซื้อรับโอนลูกจ้างและพนักงานในกิจการเดิมไปทั้งหมดโดยให้ผู้ซื้อรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างเดิมของลูกจ้าง รวมถึงให้นับอายุการทำงานของลูกจ้างที่มีกับนายจ้างเดิมต่อเนื่องไปสู่นายจ้างรายใหม่ตามบทบัญญัติมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) 

อย่างไรก็ตาม ในสัญญาซื้อขายกิจการบางสัญญาผู้ซื้ออาจไม่ต้องการรับเงื่อนไขและสภาพการจ้างเดิมของลูกจ้าง จึงอาจกำหนดข้อสัญญาให้ผู้ขายกิจการต้องบอกเลิกสัญญาจ้างกับลูกจ้างทั้งหมดและจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างให้ครบถ้วนตามกฎหมายก่อนโอนกิจการให้แก่ผู้ซื้อกิจการ โดยผู้ซื้อกิจการอาจให้สิทธิพิเศษบางประการแก่ลูกจ้างรายเดิมหากมาสมัครเข้าทำงานใหม่กับผู้ซื้อกิจการ เช่น จะรับลูกจ้างเป็นพนักงานโดยไม่ต้องผ่านการทดลองงานหรือให้สิทธิการนับอายุการทำงานต่อเนื่องเฉพาะส่วนที่ได้รับสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือสิทธิในการได้รับรางวัลในการทำงาน หรือสวัสดิการบางอย่าง ซึ่งหากพิจารณาเป็นการทั่วไปแล้วกรณีนี้ดูเหมือนจะสมประโยชน์กันทุกฝ่าย ผู้ซื้อกิจการซึ่งเป็นนายจ้างรายใหม่ไม่ต้องรับภาระใดๆ จากการจ้างงานเดิม นายจ้างเดิมไม่ต้องมีความรับผิดต่อเนื่องภายใต้สัญญาซื้อขายกิจการกับผู้ซื้อกิจการและลูกจ้างได้รับเงินค่าชดเชยไปใช้จ่ายล่วงหน้า

มาถึงบรรทัดนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแล้วปัญหาเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามหัวเรื่องบทความนี้ จะเกิดขึ้นตรงไหนอย่างไร ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นข้อกฎหมายไว้ดังนี้

(1) ในเรื่องนี้ประเด็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะไม่เกิดขึ้นหากการซื้อขายกิจการเป็นการซื้อขายกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) เนื่องจากผู้ขายกิจการจะต้องปิดกิจการไม่มีการดำเนินธุรกิจหรือประกอบกิจการใดๆ ต่อไปอีก ผู้ขายจึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งถือว่ามีเหตุผลอันสมควรและไม่ควรเป็นเหตุให้ลูกจ้างกล่าวอ้างได้ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมที่ลูกจ้างจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากนายจ้างเดิมได้และหากนายจ้างเดิมได้จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายครบถ้วนในวันเลิกจ้าง นายจ้างเดิมจึงไม่ต้องรับผิดใดๆ ต่อลูกจ้างที่เลิกจ้างอีก

(2) หากกรณีดังกล่าวเป็นการขายกิจการบางส่วนหรือขายทรัพย์สินของกิจการบางส่วน (Partial Business Transfer หรือ Asset Transfer) ให้แก่บุคคลภายนอกและลูกจ้างในกิจการดังกล่าวมีความประสงค์และยินยอมพร้อมใจที่จะไปทำงานกับผู้ซื้อกิจการซึ่งเป็นนายจ้างรายใหม่ภายหลังการถูกบอกเลิกสัญญาจ้างจากนายจ้างรายเดิมโดยไม่ติดใจเรียกร้องใดๆ ก็ถือว่าสมประโยชน์กันทุกฝ่าย ประเด็นเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมก็จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะเกิดขึ้นทันที หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานในกิจการที่โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกในขณะที่นายจ้างเดิมยังคงมีการประกอบธุรกิจในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้โอนขายอยู่ต่อไป การที่นายจ้างเดิมจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายกิจการที่ทำไว้กับผู้ซื้อกิจการใหม่นั้น อาจถือว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของนายจ้างรายเดิมเองแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น การที่นายจ้างรายเดิมไม่ใช้ความพยายามในการจัดหางานที่เหมาะสมในตำแหน่งอื่นในแผนกอื่นของส่วนธุรกิจอื่นที่นายจ้างเดิมยังคงประกอบการอยู่ให้กับลูกจ้างที่ถูกบอกเลิกสัญญาจ้างหรือให้โอกาสแก่ลูกจ้างมีโอกาสเลือกและตัดสินใจว่าจะทำงานกับนายจ้างเดิมต่อไปในแผนกอื่นหรือไม่ การเลิกจ้างดังกล่าวอาจถือว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรและอาจเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ ซึ่งลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอาจสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากนายจ้างเดิมได้ นายจ้างเดิมจะยกเรื่องข้อผูกพันที่ตนเองจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายกิจการที่ทำไว้กับผู้ซื้อกิจการใหม่ขึ้นกล่าวอ้างและต่อสู้ในทางคดีอาจไม่มีเหตุผลและน้ำหนักเพียงพอ

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีแผนการที่จะโอนขายธุรกิจหรือโอนกิจการบางส่วนจึงควรพิจารณาและให้ความสำคัญกับการที่จะให้โอกาสลูกจ้างในกิจการนั้นๆ ได้มีโอกาสในการตัดสินใจเลือกว่าจะอยู่ทำงานกับนายจ้างรายเดิมหรือตัดสินใจไปทำงานกับผู้ซื้อกิจการซึ่งจะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญในการที่จะแสดงให้ศาลได้เห็นว่านายจ้างได้ใช้ความพยายามและมีมาตรการการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมแก่ลูกจ้างแล้วหากมีคดีที่ต้องขึ้นสู่ศาลในอนาคต

พบกันใหม่ในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

โดย... 

สมพร มโนดำรงธรรม

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ]