วิกฤติWTO: ผลต่อคดีบุหรี่ไทย-ฟิลิปปินส์
คอลัมน์ “มองจีนมองไทย” วันนี้ อยากชวนมองผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ในอีกมิติหนึ่งครับ
เมื่อสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤติต่อกลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) วิกฤติดังกล่าวย่อมจะส่งผลต่อคดีใหญ่ระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ที่ยังค้างอยู่ในองค์การการค้าโลกด้วย
โลกวันนี้กลับตาลปัตรจากเดิม ในยุคหนึ่ง เราเคยพูดกันว่ากฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประเทศสมาชิกเมื่อมีข้อพิพาทกันสามารถเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท โดยจะไปจบที่องค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ขององค์การการค้าโลก ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษา 7 คน
แต่มาในวันนี้ องค์การการค้าโลกมาถึงจุดวิกฤติ เมื่อสหรัฐปฏิเสธที่จะให้การรับรองผู้พิพากษาขององค์กรอุทธรณ์ที่หมดวาระลง จนปัจจุบันเหลือผู้พิพากษาเพียง 1คน ในขณะที่การพิจารณาคดีหนึ่งๆ ต้องใช้องค์คณะผู้พิพากษา 3 คน ทำให้ตอนนี้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกกำลังเข้าสู่จุดอัมพาต
เบื้องลึกเบื้องหลังที่สหรัฐ ซึ่งเคยเป็นผู้ค้ำชูองค์การการค้าโลก หากแต่วันนี้กลับออกมาขัดขวางกลไกองค์การการค้าโลกเสียเองนั้น มีนักวิชาการด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่น้อยวิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยเรื่อง “จีน” นั่นคือ สหรัฐ มองว่ากฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกที่มีอยู่นั้น ไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมการค้าอันมีเอกลักษณ์พิเศษของจีนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจของจีน รวมทั้งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของจีน
สหรัฐ เองไม่พอใจแนวทางคำพิพากษาขององค์กรอุทธรณ์ ซึ่งในหลายคดีพิพาทระหว่างสหรัฐ กับประเทศต่างๆ นั้น องค์กรอุทธรณ์ได้ตัดสินไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่สหรัฐ นอกจากนั้น องค์กรอุทธรณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะพัฒนาคำพิพากษาเพื่อรับมือกับพฤติกรรมการค้าของจีนที่สหรัฐ เห็นว่าไม่เป็นธรรม
ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา สหรัฐ ได้ทำสงครามการค้ากับจีน ส่วนทางจีนเองก็ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อองค์การการค้าโลก แต่เนื่องจากสหรัฐ ได้ขัดขวางกระบวนการแต่งตั้งองค์กรอุทธรณ์ชุดใหม่ ทำให้คดีของจีนที่ฟ้องสหรัฐ ไปไม่ถึงไหน
ในวันนี้ องค์กรอุทธรณ์ได้ถึงจุดอัมพาตเรียบร้อยแล้ว นักวิเคราะห์มองว่า นี่กำลังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เพราะเรากำลังจะเปลี่ยนจากยุคแห่ง “กฎเกณฑ์” มาสู่ยุคของ “กฎกู” คือยุคของการเล่นเกมข้อพิพาทการค้าตามใจฉัน โดยไม่สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะนี้ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในขณะที่ยังไม่สามารถแต่งตั้งองค์กรอุทธรณ์ชุดใหม่ได้ เช่น ส่งเสริมให้ประเทศคู่พิพาทจัดทำข้อตกลงให้คำวินิจฉัยในชั้นคณะผู้พิจารณา (panel) เป็นที่สุด นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้ประเทศต่างๆ จัดทำข้อตกลงทวิภาคีหรือจัดทำข้อตลงหลายฝ่ายให้ใช้อนุญาโตตุลาการเป็นกลไกในการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว
แต่คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าที่ประเทศสมาชิกในองค์การการค้าโลกจะตกลงกันได้เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานชั่วคราว รวมทั้งทิศทางต่อไปในอนาคตของกระบวนการระงับข้อพาทขององค์การการค้าโลก
ประเด็นสำคัญก็คือ เรื่องนี้ไม่ได้กระทบแต่กับคดีที่จีนฟ้องสหรัฐฯ ซึ่งทำสงครามการค้ากับจีนเท่านั้น แต่ยังกระทบกับคดีใหญ่ข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์กรณีภาษีนำเข้าบุหรี่ฟิลิปมอร์ริสด้วย
มหากาพย์คดีบุหรี่ฟิลิปมอร์ริสนี้ หลายท่านคงทราบดีว่าเป็นคดีใหญ่ในศาลภายในของประเทศไทย แต่ที่บางท่านอาจไม่ทราบก็คือ ยังมีคดีที่ฟิลิปปินส์ได้เคยยื่นฟ้องไทยในองค์การการค้าโลกด้วย โดยฟิลิปปินส์ร้องว่าหน่วยงานศุลกากรของไทยไม่ได้ประเมินราคาศุลกากรบุหรี่ฟิลิปมอร์ริสนำเข้าจากฟิลิปปินส์ตามกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก
ผลการตัดสินทั้งในชั้นแรกคือชั้นคณะผู้พิจารณา (panel) และชั้นองค์การอุทธรณ์นั้น ประเทศไทยแพ้คดี ตั้งแต่ปี 2554 แต่ที่ยังทะเลาะกันใหญ่โตอยู่จนวันนี้ เพราะฟิลิปปินส์เห็นว่าไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลกในปี 2554 ดังนั้น ฟิลิปปินส์จึงยื่นฟ้ององค์การการค้าโลกอีกครั้ง เพื่อขอเข้ากระบวนการให้มีการทบทวนว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลกหรือไม่ ซึ่งในคดีใหม่นี้ ไทยเองก็แพ้ในชั้นแรก คือ ในชั้นคณะผู้พิจารณา (panel) และตอนนี้ไทยได้อุทธรณ์คำตัดสินต่อองค์กรอุทธรณ์
แต่วันนี้ องค์กรอุทธรณ์หยุดชะงักไปแล้วน่ะสิครับ!
ปกติแล้ว ฟิลิปปินส์จะดำเนินมาตรการตอบโต้ไทย เนื่องจากไทยไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลกได้ ก็ต้องรอหลังจากที่มีคำตัดสินขององค์กรอุทธรณ์ในคดีใหม่นี้ออกมาก่อน แต่เนื่องจากวันนี้มีปัญหาองค์กรอุทธรณ์ถึงจุดอัมพาตหยุดชะงักลง โดยไม่ทราบว่าเมื่อใดจะจัดตั้งองค์กรอุทธรณ์คณะใหม่ได้สำเร็จ
จึงไม่แน่ครับว่า ฟิลิปปินส์อาจเลือกที่จะตอบโต้ไทยก่อนโดยไม่รอคำตัดสินขององค์กรอุทธรณ์ก็ได้ เข้าทำนองยุคเกมการค้าแบบใหม่ตามใจฉัน และตราบเท่าที่ยังไม่มีองค์กรอุทธรณ์ชุดใหม่ประเทศสมาชิกย่อมสามารถเล่นนอกกฎได้ ใครจะทำอะไรได้ครับ
ในการตอบโต้นั้น ฟิลิปปินส์สามารถเลือกสินค้าอื่นที่มิใช่บุหรี่ในการตอบโต้ เพื่อให้ได้รับปริมาณค่าชดเชยที่เท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากไทย ซึ่งเป็นสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปฟิลิปปินส์ ในอีกทางหนึ่ง ฟิลิปปินส์ยังอาจใช้มาตรการปกป้อง (safeguard)สินค้านำเข้าจากไทยอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ
และหากมีการตอบโต้ไปมาระหว่าง 2 ประเทศ และไม่มีกลไกองค์การการค้าโลกที่มีประสิทธิภาพแบบในสมัยก่อนมาตัดสินข้อพิพาท ก็อาจลุกลามกลายเป็นสงครามการค้าไทย-ฟิลิปปินส์ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายอย่างของไทยที่มีห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงกับฟิลิปปินส์ เช่น ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งบริษัทต่างชาติที่ได้รับผลกระทบอาจมีการพิจารณาย้ายหรือลดการลงทุนในประเทศไทย
ถึงตอนนั้น ตัวเขย่าห่วงโซ่การผลิตในอาเซียนจะไม่ใช่เพียงสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ แต่ยังมีสงครามการค้าไทย-ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นมาด้วย!