App หาคู่ ‘Tinder’ รายได้ 1,200 ล้านดอลล์
หากมีโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้ประเทศของเราจะมีเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ เข้ามาใช้จ่ายในประเทศภายในระยะเวลา 10 ปี?
ถ้าจะเลือกตอบให้เข้ากับเทศกาลวันแห่งความรัก (Valentine’s Day) และย้อนกลับไปสัก 20 ปี ผู้ตอบส่วนใหญ่คงจะตอบว่า เลือกปลูกกุหลาบพันธุ์ดีและแพงที่สุด คุมพันธุกรรมให้เป็นเอกลักษณ์ หรือทำช็อคโกแลตที่หรูเลิศอลังการสร้างแบรนด์ให้ดีที่สุดจนคนทั้งโลกอยากจะมาซื้อจากเรา แต่จะต้องปลูกกุหลาบสักกี่ต้น ทำช็อคโกแลตสักกี่ล้านชิ้นจนจะได้มาซึ่งเงินจำนวน 1,200 ล้านดอลลาร์นี้
ขณะนี้โลกกำลังตื่นตัวกับการค้าออนไลน์ซึ่งทำเงินมหาศาล และขัดขวางหรือแม้กระทั่งทำลาย (Disrupt) ธุรกิจดั้งเดิมหลายอย่าง หากแนวคิดการหารายได้เข้าสู่ครอบครัวหรือประเทศยังติดอยู่กับกรอบเดิม ขายช็อคโกแลต ขายดอกกุหลาบ คิดว่าคงจะไม่ทันกินเป็นแน่
ผลลัพธ์ของความเข้าใจในพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้บริบทสังคมสิ่งแวดล้อมที่เวลานั้นมีค่ายิ่งกว่าทอง คนเรามีข้อจำกัดของความรับผิดชอบหน้าที่การงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปิดโอกาสการพบเจอเพื่อนฝูงผู้คนใหม่ ๆ จึงนำมาซึ่งเครื่องมือหรือแอพพลิเคชั่นที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตมากขึ้น
Tinder คือเครื่องมือหนึ่งในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ ทำหน้าที่เป็นกามเทพหรือ Cupid ในยุคออนไลน์นี้เพื่อเชื่อมให้คนรู้จักเข้าถึงกันและกัน เชื่อมสังคม เชื่อมโลกให้เล็กลง เพราะตอบโจทย์ตรงใจผู้ใช้อย่างมากจึงทำให้มีผู้ลงทะเบียนใช้อย่างไม่เป็นทางการแล้วกว่า 50 ล้านคนทั่วโลกตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2555 และนำมาซึ่งรายได้จากการขายโฆษณา และการลงทะเบียนแบบพิเศษเพื่อสิทธิเพิ่มเติมในแอพพลิเคชั่น แล้วกว่า 1,200 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
หากจะวิเคราะห์ลงให้ลึก ในแง่ของหลักการและการใช้งานนั้นก็แสนง่าย คือสร้างโปรไฟล์พร้อมรูปและคำบรรยาย โดยอาจจะเป็นสถานศึกษาหรือที่ทำงาน หรือจะเป็นอื่น ๆ ตามใจผู้ใช้ โดยโปรไฟล์เหล่านั้นจะปรากฏสู่สาธารณะในโลกทินเดอร์ แปลว่าทุกคนที่อยู่ในรัศมีจะเห็นโปรไฟล์ของเรา เมื่อเขาปัดขวาว่าอยากรู้จักเรา ตรงกับที่เราปัดขวาว่าอยากรู้จักเขา โปรไฟล์ทั้งสองจะตรงกัน (match) แล้วแอพพลิเคชั่นจึงจะเปิดให้คุยกันได้ หมายความว่าตบมือข้างเดียวจะไม่ดัง
Tinder นี้เป็นที่นิยมมากในหมู่นักศึกษาตลอดจนคนทำงานเพราะตอบโจทย์ความต้องการ และมีการประมาณการกันว่าในหนึ่งวันมีคู่ match กว่า 26 ล้านคู่ทั่วโลก ซึ่งนั่นหมายถึงเวลาที่ผู้ใช้ติดอยู่ในแอพพลิเคชั่นนานหลายนาทีต่อวัน ซึ่งคือมูลค่าในการขายโฆษณา
Tinder นี้เป็นปลายทางหรือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของศาสตร์แห่งการโค้ดดิ้ง (Coding) ที่ตอนนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเพิ่มลงในหลักสูตรการศึกษากระแสหลัก ถือเป็นเครื่องมือที่จะพาประเทศสู่ชัยชนะในภาวะการแข่งขันและการกีดกันทางการค้าอย่างสูงในปัจจุบัน
Coding คือต้นน้ำที่สอนให้ผู้เรียนมีความคิดในเชิงตรรกศาสตร์ มีเหตุผล คิดเป็นระบบขั้นตอน จนสามารถวางแผนออกแบบโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่น โดยจุดมุ่งหมายของโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นนั้นคือการสร้างชีวิตที่ดีกว่าเดิม อำนวยความสะดวกให้ชีวิตหรือตอบโจทย์ความต้องการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน จึงเป็นการสมควรแล้วที่กระทรวงศึกษาไทยขยับผลักดัน Coding เป็นนโยบายระดับชาติ
ต่อยอดเมื่อเยาวชนสามารถ code ได้แล้ว รัฐและเอกชนสมควรที่จะสร้างระบบสนับสนุน (Ecosystem) ที่จะต่อยอดจากความคิดสร้างสรรค์ นำทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าเหล่านั้นออกมาแปลงให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่ทุกความคิดหรือไอเดียดี ๆ นั้นจะกลายเป็นเครื่องทำเงินหรือเหมาะสมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในปัจจุบันทั้งมหาวิทยาลัยและภาคส่วนเอกชนกำลังทำอยู่
หากผมได้รับโจทย์ว่าทำอย่างไรเพื่อหาเงินเข้าประเทศ 1,200 ล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปี ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว คือ เริ่มที่การโค้ดดิ้ง แต่ทำอย่างไรให้โค้ดดิ้งนั้นกระจายสู่เยาวชนทุกคนคือโจทย์ที่ท้าทายพอ ๆ กับทำอย่างไรให้โค้ดดิ้งเป็นบันไดขั้นแรกสู่ปลายทางคือแอพพลิเคชั่นสัญชาติไทยที่เป็นที่นิยมทั่วโลกครับ