หลบหลีกโควิด-19 โดย มอบฉันทะให้เข้าประชุมผู้ถือหุ้น
ช่วงนี้จนถึงสิ้นเดือนเม.ย. จะเป็นเทศกาลจัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีของบรรดาบริษัททั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน
ถ้าเป็นบริษัทมหาชนจำกัดขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะมีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมด้วยจำนวนมาก แต่ระยะนี้มีสถานการณ์ระบาด โควิด-19 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแนะนำประชาชนป้องกันตนเอง โดยให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีประชาชนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก
ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. จึงได้จัดให้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท จดทะเบียน ในสถานการณ์ระบาด โควิด-19 ดังกล่าว มาตรการหนึ่ง คือสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นพิจารณามอบฉันทะให้กรรมการอิสระเข้าประชุม ซึ่งจะลดจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมได้มาก
ตามพ.ร.บ.บริษัทหาชนจำกัด มาตรา 102 บัญญัติว่าผู้ถือหุ้นมีสิทธิเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน แต่จะมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนก็ได้ สำหรับสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน ถือว่าหุ้นหนึ่งมีหนึ่งเสียง เว้นแต่เป็นหุ้นด้อยสิทธิที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนน้อยกว่าหุ้นสามัญ การมอบฉันทะต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่นายทะเบียนกำหนด
แบบของหนังสือมอบฉันทะ เป็นไปตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดแบบหนังสือมอบฉันทะ (ฉบับที่5) พ.ศ.2550 ลงวันที่ 2 ก.พ.2550 ซึ่งกำหนดหนังสือมอบฉันทะแนบท้ายประกาศไว้ 3 แบบ คือ ก. เป็นแบบมอบฉันทะแบบทั่วไป ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ง่ายไม่ซับซ้อน ข. เป็นแบบหนังสือมอบฉันทะที่กำหนดรายการต่างฯ ที่จะมอบฉันทะที่ละเอียดชัดเจนตายตัว ค.เป็นแบบที่ใช้กรณีผู้ถือหุ้นเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศและแต่งตั้งให้คัสโตเดียน(Custodian) ในประเทศไทยเป็นผู้รับฝากและดูแลหุ้น
กรณีเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศและแต่งตั้งคัสโตเดียนในประเทศไทย จะใช้หนังสือมอบฉันทะ แบบ ก. หรือแบบ ข. หรือแบบ ค. แบบใดแบบหนึ่งก็ได้ สำหรับผู้ถือหุ้นอื่น จะใช้หนังสือมอบฉันทะได้เฉพาะแบบ ก. หรือแบบ ข. แบบใดแบหนึ่งเท่านั้น ผู้ที่ประสงค์จะดาวน์โหลด แบบหนังสือมอบฉันทะทั้ง 3 แบบ ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th แล้วเข้าไปที่>กฎหมาย >กฎหมายและระเบียบ> พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด >ประกาศ จนพบ ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องกำหนดแบบหนังสือการมอบฉันทะ (ฉบับที่5) พ.ศ.2550 ลงวันที่ 2 ก.พ.2550 แบบใบมอบฉันทะทั้ง 3 แบบ อยู่ต่อท้ายประกาศดังกล่าว
สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขการลงคะแนนของผู้รับมอบฉันทะ เป็นไปตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง การมอบฉันทะและการออกเสียงลงคะแนนของผู้รับมอบฉันทะและการส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น ของบริษัทมหาชนจำกัด ลงวันที่ 4 ก.พ. 2556 ที่สำคัญโดยสรุปคือ
ผู้ถือหุ้นที่จะมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนน ต้องมอบให้ผู้รับมอบฉันทะเพียงรายเดียว ไม่สามารถแบ่งแยกจำนวนหุ้นเพื่อมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะหลายคนได้ แต่ผู้รับมอบฉันทะคนหนึ่งอาจรับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นหลายคนได้
การออกเสียงลงคะแนนของผู้รับมอบฉันทะ มีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ได้รับมอบฉันทะ เว้นแต่ผู้รับมอบฉันทะได้แถลงต่อที่ประชุมก่อนลงคะแนนเสียงว่า ตนจะออกเสียงลงคะแนนแทนเฉพาะผู้ถือหุ้นบางคน โดยระบุชื่อและจำนวนหุ้นของผู้มอบฉันทะรายนั้นด้วย
ผู้รับมอบฉันทะที่เป็นคัสโตเดียน ที่ใช้หนังสือมอบฉันทะแบบ ค. สามารถแบ่งแยกการลงคะแนนเสียงในแต่ละวาระ ออกเป็นเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียงมากน้อยเพียงใดในแต่ละความเห็นได้
กรณีมีการแก้ไขข้อเท็จจริงหรือแก้ไขข้อเสนอในที่ประชุมที่แตกต่างไปจากที่ระบุในหนังสือเชิญประชุม ผู้รับมอบฉันทะสามารถออกเสียงลงคะแนนในวาระที่มีการแก้ไขนั้นได้
ประเด็นการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นพิเศษในเรื่องที่พิจารณาออกเสียงลงคะแนน พิจารณาจากตัวผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ไม่พิจารณาจากตัวผู้รับมอบฉันทะ แม้ตัวผู้รับมอบฉันทะจะมีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นพิเศษก็สามารถออกเสียงลงคะแนนในวาระนั้นแทนผู้ถือหุ้นที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียได้
หมายเหตุ เนื่องจากผู้รับมอบฉันทะหนึ่งคน สามารถรับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นได้หลายคน จึงพึงระวังกรณีมุ่งมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะเพียงคนเดียว ถ้าหากปรากฏว่าในการประชุม มีเพียงผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นหลายคนเข้าประชุมเพียงคนเดียว จะทำให้การประชุมผู้ถือหุ้นมีเพียงผู้รับมอบฉันทะเพียงคนเดียวเข้าประชุม อาจจะทำให้การประชุมเป็นไปโดยไม่ชอบ เทียบเคียงกับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2560 กรณีการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด ที่วินิจฉัยว่า
ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้บรรดาผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับ กิจการของบริษัท โดยมีประธานดำเนินการประชุมและมีการเสนอข้อมติให้ที่ประชุมออกเสียงลงคะแนน การประชุมจึงเป็นการร่วมกันปรึกษาหารือ ซึ่งที่ประชุมจะต้องมีบุคคลอย่างน้อย 2 คนเป็นผู้เข้าประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาตัดสินข้อมติต่างๆ ที่เสนอต่อที่ประชุม หาใช่บุคคลเพียงคนเดียวจะทำการประชุมได้โดยลำพังไม่ การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้คัดค้านมี ว. ผู้รับมอบฉันทะ ของ ก. เป็นผู้ถือหุ้นที่มาประชุมเพียงคนเดียว แม้ ก. ถือหุ้น 200,000 หุ้นคิดเป็น 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดก็ตาม แต่ผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวย่อมไม่อาจดำเนินการประชุมและมีมติใดๆ ตามกฎหมายได้ การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และการลงมติเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการจึงเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันเป็นข้อปฏิบัติของการประชุมใหญ่และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมอันผิดระเบียบนั้นเสียได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195