ฤา ไทยจะสิ้นชาติ..เพราะขาดสำนึกเจ้าของประเทศ

ฤา ไทยจะสิ้นชาติ..เพราะขาดสำนึกเจ้าของประเทศ

กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยอยู่ในภาวะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การเมืองไทยอยู่ในวงจรการรวบอำนาจ และปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตใหญ่ที่สุด

 ซึ่งหากไม่มีแนวทางที่มีประสิทธิผลในการระดมสมองของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ประชาชนชาวรากหญ้าส่วนใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อย จะเผชิญกับการล้มละลาย ลำบากยากเข็ญ และประเทศจะประสบกับการล่มสลายทางเศรษฐกิจ

สำนวนที่ว่า “เรื่องการเมือง ศาสนา อย่าคุยกันจะทะเลาะกัน” สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องการเมืองไม่ได้ทำให้คนถึงขั้นฆ่ากันตายได้ แม้ว่าชาวไทยในอดีตสนใจเรื่องดังกล่าวมากไม่น้อยกว่าคนไทยในปัจจุบันแต่สิบปีที่ผ่านมาประชาชนเกิดความจงเกลียดจงชัง และโต้เถียงเพื่อเอาชนะ อย่างเอาเป็นเอาตาย เข้าทำนอง “จากในอดีตที่คนถือขั้ว แต่ในปัจจุบันขั้วถือคน” คือแทนที่ประชาชนชาวไทยจะเป็นผู้เลือกใช้กลุ่มอำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเอง กลับกลายเป็นว่าประชาชนจำนวนมากตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของแต่ละกลุ่มอำนาจ ซึ่งการณ์เช่นนี้ส่อแสดงให้เห็นว่าการปกครองของไทยเป็นประชาธิปไตยเพียงแต่ชื่อ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคณาธิปไตยที่ทั้งสองกลุ่มการเมืองผลัดกันแย่งชิงรวบอำนาจการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน สร้างปัญหาความแตกแยกให้แก่ประเทศชาติอย่างลึกซึ้งพฤติการณ์ทางการเมืองอันนำไปสู่การแบ่งแยกประชาชนชาวไทยออกเป็นฝักเป็นฝ่ายเช่นนี้ ถือเป็นอนันตริยกรรม (กรรมหนักที่สุดในทางศาสนาพุทธ) ทางการเมือง”ดังที่เห็นได้จะเห็นได้จากมาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ซึ่งประเทศไทยโดยแก่นแท้แล้วนั้น หมายถึงประชาชนชาวไทยทั้งแผ่นดินที่เป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง หากแต่ในสิบปีที่ผ่านมาเราได้เข้าไปสู่ยุค “ไทยฆ่าไทยให้กลุ่ม(โจร)การเมืองครอง” หรือยุคคลั่งขั้ว ไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

แท้จริงแล้วประชาธิปไตย หมายความถึง ระบอบการปกครองที่มีประชาชนเป็นใหญ่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมีประชาชนเป็นเจ้าของผู้ปกครองประเทศอย่างแท้จริง เช่นคำกล่าวของอับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ว่า “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” นั่นก็คือประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศไทยร่วมกันนั่นเอง และการที่เรากล่าวว่ากลุ่มการเมืองที่ครอบงำความคิดประชาชนนั้นเป็นโจรเพราะถือว่าเป็นผู้อำนวยการปล้นเอาสำนึกความเป็นเจ้าของประเทศไปจากประชาชนอย่างแนบเนียน ทำให้กลุ่มประชาชนจำนวนมาก ถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองประเทศให้แก่พรรคการเมืองฝั่งตนเอง (แทนที่จะมาถกเถียงกันเพื่อหาทางออกและสร้างคำตอบที่เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม)อันเป็นการสร้างค่านิยมทางการเมืองที่สร้างปัญหาแต่ไม่สร้างคำตอบแก่สังคม เช่น การชุมนุมที่ยืดเยื้อก่อนการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันโอชาไม่ได้เป็นการประท้วงที่ให้คำตอบแก่สังคม ตั้งแต่การปิดกรุงเทพ ยึดสนามบิน ป่วนงานประชุมอาเซียน เผาศาลากลาง ฯลฯ เป็นเพียงแต่มุ่งเอาชนะ อีกทั้งยังสร้างปัญหาให้แก่สังคมและเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงและยืดเยื้อทำให้เกิดการรัฐประหารเนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถให้คำตอบแก่สังคม ทหารจึงต้องเข้ามาให้คำตอบ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคำตอบที่ดีที่สุดแก่สังคมเช่นดั่งทุกวันนี้

ดังนั้นการประท้วงของกลุ่มนักศึกษา หรือ “แฟลชม็อบ” จำเป็นที่ต้องช่วยสร้างคำตอบแก่สังคมอย่างชัดเจนว่า อุดมการณ์ของการประท้วงคืออะไร และหลังจากการประท้วงสังคมไทยจะก้าวไปสู่ทิศทางไหน มิเช่นนั้นการประท้วงครั้งนี้จะเป็นแค่เพียงการ “ระบายอารมณ์” และหากนักศึกษามาชุมนุมประท้วงแล้วทำเพียงแค่ยกป้าย เปิดไฟ ถ่ายรูป ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมศักดิ์ศรีของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีแต่จะซ้ำเติมประเทศไทยที่ยังต้องเผชิญมวลปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าอีกมาก ทั้งยังมีโอกาสสูงมากในการเป็นแพะรับบาปของรัฐบาลชุดนี้ ในการกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุในความล้มเหลวในการจัดการมวลวิกฤตในครั้งนี้เพื่อให้การชุมนุมมีความชอบธรรมมากขึ้น และสร้างกระแสขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมอุดมปัญญา 

กลุ่มนักศึกษาควรตอบรับคำเชิญของประธานรัฐสภาในวาระที่ว่า เพื่อร่วมแถลง(ประชัน)วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์การบริหารใน 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนำไปสู่ “คำตอบ” ซึ่งการประท้วงอุดมปัญญาเช่นนี้จะเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง เปิดประเทศไทยสู่การเมืองยุคใหม่และเป็นการสร้างอนาคตใหม่อย่างแท้จริงให้แก่ประเทศไทย 

กล่าวโดยง่ายก็คือ แทนที่นักศึกษาจะมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเนื่องกับพรรคอนาคตใหม่ นักศึกษาควรจะเป็นผู้สร้างอนาคตใหม่ด้วยความรู้ความสามารถและจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของประเทศเอง โดยการสนับสนุนของ (คณาจารย์)ผู้ทรงความรู้ และประสบการณ์ อันแสดงถึงความเตรียมพร้อมในการชี้นำประเทศตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา ประชาชนชาวไทย และผู้รู้ทั้งหลายจะไม่กังวลสงสัยเลยว่า ประเทศไทยเรา(แม้ขณะนี้เผชิญหน้ากับมวลปัญหาวิกฤตมากหลาย)กำลังเข้าสู่ยุคชาวศิวิไลซ์ ไทยมหารัฐแล้ว

รัฐบาล สถาบันการเมือง และนักการเมือง ควรตระหนักถึง กระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคประชาธิปไตยทางตรง (เช่น การคัดเลือก และการกำหนดคุณสมบัติของ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งมีทั้งคุณภาพ และคุณธรรม ด้วยเสียงของประชาชนเอง) เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและมีส่วนช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้เท่าทันในหลักการเหตุผลและสถานการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองสูงมากขึ้นด้วยการพัฒนาและรักษาแก่นแท้ของคุณค่าในวิชาชีพและฐานันดรของตน ก่อนที่จะสายเกินแก้

ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่เราทุกคนจะรวมไทยให้เป็นปึกแผ่น และช่วยกันแก้ไขมวลวิกฤตที่รุมล้อมประเทศในขณะนี้ เพื่อเอาชนะอุปสรรคและความท้าทายที่จะมาถึงในอนาคตได้อย่างมีสติปัญญา สงบ และสง่างาม

โดย... 

ดร. ไพทัน ตระการศักดิกุล