ธรรมาภิบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธรรมาภิบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในยามที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

ในหลายประเทศทั่วโลกมีนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายท่านออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะมีต่อภาวะเศรษฐกิจ และรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับปัญหากันบ้างแล้ว

ยกตัวอย่าง ธนาคารกลางของสหรัฐ (Fed) ก็ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทีเดียวถึง 0.5% ไปเมื่อเร็วๆ นี้ สำหรับไทยที่เป็นประเทศเล็กและพึ่งพาภาคส่งออกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง จึงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19 อย่างหนีไม่พ้น เริ่มจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งระบบที่ประสบกับปัญหาชะงักงันเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมาก และเกิดภาวะเงียบเหงาในหลายย่านธุรกิจค้าปลีก ร้านสรรพสินค้า และแหล่งบันเทิงอย่างเห็นได้ชัด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจก็ได้ประกาศชุดมาตรการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจากผล COVID-19 คือ 1.มาตรการด้านการเงิน เช่น แจกเงินผู้มีรายได้น้อยเป็นเงิน 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 2.มาตรการด้านภาษี เช่น ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว และ 3.มาตรการช่วยเหลือประชาชน เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น

ปรากฏว่าในเกือบทันทีที่ ครม.ประกาศแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับล่าสุดนี้ออกมา เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมออนไลน์กลับแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับมาตรการเหล่านี้อย่างล้นหลามและชัดเจนยิ่ง จนล่าสุดท่านนายกรัฐมนตรีต้องออกมาประกาศว่าจะระงับมาตรการแจกเงิน 1,000 บาทจำนวน 2 เดือนออกไปก่อนในตอนนี้ ซึ่งในจุดนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามเรื่อง “ธรรมาภิบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ” กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจนำเสนอตั้งแต่ต้น

ในความเห็นของผู้เขียน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล จะต้องเป็นมาตรการที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งตรงไปที่ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นสำคัญโดยไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง เช่น เรื่องคะแนนนิยมของรัฐบาล เป็นต้น

ดังนั้น หากรัฐบาลพิจารณาโดยรอบคอบแล้วตั้งแต่แรกก่อนที่จะนำเสนอมาตรการนี้สู่สาธารณชนว่า มาตรการแจกเงินของรัฐบาลจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าผลเสีย รัฐบาลก็ต้องยืนหยัดในมาตรการของตน แม้ว่ามันจะทำให้รัฐบาลถูกโจมตีด่าจนเสียคะแนนนิยมก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะว่ารัฐบาลได้ยึดถือหลักธรรมาภิบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้องแล้วนั่นเอง

ในทางกลับกัน การที่รัฐบาลเริ่มหวั่นไหวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนถึงกับต้องรีบถอยออกจากมาตรการแจกเงินที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอเองตั้งแต่แรก และแม้จะมองในแง่ดีได้บ้างว่ารัฐบาลเปิดกว้างในการรับฟังความเห็นต่างก็ตาม แต่ก็คงหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามในเชิงหลักธรรมาภิบาลว่ามาตรการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นที่จริงแล้วก็หวังผลในเรื่องคะแนนนิยมใช่หรือไม่

เหตุผลที่ประชาชนได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมากต่อมาตรการแจกเงินของรัฐบาลในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า พวกเขาคาดหวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่อง COVID-19 ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยมั่นคงในชีวิตมากกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ผล และผิดหวังกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาที่ผ่านมา เช่น เรื่องการที่มีการประกาศไว้ตั้งแต่แรกว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัย หรือการบอกแนะนำให้ประชาชนไปหาซื้อหน้ากากที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเองบ้าง เป็นต้น

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านกลับพบเจอกับปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนักจนแม้แต่ในสถานพยาบาลหลายแห่งทั้งรัฐและเอกชนเอง ก็ไม่สามารถจะหามาให้แพทย์และพยาบาลใช้ทำงานได้ หรือปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในบางหน่วยงานของรัฐที่มีแผนการใช้เงินงบประมาณที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลในการจัดอบรมเรื่องการทำหน้ากากผ้า เป็นต้น 

จนทำให้ในครั้งนี้ ประชาชนเริ่มเรียนรู้ที่จะถอดรหัสเชิงกลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐว่าเป็นเพียงแผนการรับมือระยะสั้นแบบเดิมๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้ผลมากนัก โดยเฉพาะเรื่องการแจกเงินผู้มีรายได้น้อยเป็นเงิน 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือนนั้นก็จะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้

เนื่องจากว่าในภาวะที่เศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนี้ชาวบ้านต้องเตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่ไม่นอนทางเศรษฐกิจที่จะมาถึงในไม่ช้านี้ ดังนั้น ประชาชนจึงจะไม่เพิ่มการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพียงเพราะได้รับแจกเงินเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น ทำให้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเรื่อง ผลของตัวคูณจึงอาจใช้ไม่ได้ผลในสถานการณ์ปัจจุบันซ้ำร้ายกลับจะเป็นการสร้างภาระทางการคลังให้มีมากขึ้นโดยไม่จำเป็น มาตรการแจกเงินนี้จึงไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพราะมีปัญหาเรื่องการขาดธรรมาภิบาลมาตั้งแต่ในชั้นของการกำหนดนโยบายแล้ว

โดยสรุปภาครัฐจึงควรหันไปหาทางเลือกอื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมและคุ้มค่า เช่น การใช้จ่ายเงินจำนวนเดียวกันไปเพื่อการจ้างงานผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลชั่วคราวเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลคนไข้ที่จะมีเพิ่มขึ้น หรือเร่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนเพื่อผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนให้มีมาตรฐาน เป็นต้น

ทางเลือกเหล่านี้น่าจะเป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ผลคุ้มค่าและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าวิธีการแจกเงินแบบเดิมๆ ที่เคยใช้แล้วแต่ไม่ได้ผลนั่นเอง

 

โดย...

อารยะ ปรีชาเมตตา

กนิษฐา หลิน