'โควิด-19' โลกสู้ระบาดใหญ่ รัฐบาลไทยรับมืออย่างไร?
อัพเดท มาตรการต่อสถานการณ์ โควิด-19 หรือ COVID-19 โลกสู้ระบาดใหญ่ รัฐบาลไทยรับมืออย่างไร?
สถานการณ์การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) เปลี่ยนจากทวีปเอเชียไปเป็นทวีปยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ ลุกลามไปทั่วโลกใน 121 ประเทศ (07.00 น. , 12 มี.ค.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 121,996 ราย เสียชีวิต 4,390 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,790 ราย เสียชีวิต 3,158 ราย
แนวโน้มดีขึ้นในประเทศจีน ดูจากมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มไม่มาก และมีการปิดโรงพยาบาลสนามบางแห่งแล้ว แสดงว่าจำนวนผู้ป่วยในระบบโรงพยาบาลปกติรักษาเพียงพอ กลายเป็นว่าปัญหาจะไปอยู่ที่ยุโรป เพราะประเทศอิตาลีมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 แซงหน้าประเทศเกาหลีใต้
ล่าสุด องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) จากโรคระบาด (Epidemic) เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก (pandemic) อย่างเป็นทางการแล้ว
กรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศภาวะฉุกเฉินและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หลังจากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 6 รายในวันเดียว เป็น 10 ราย ทำให้ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดี สั่งประชุมฉุกเฉินที่ทำเนียบขาว หลังสหรัฐมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 อย่างน้อย 1,039 ราย มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 ราย เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดลุกลามไปยังรัฐต่างๆ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อถือว่าเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า
พร้อมระงับการเดินทางจากยุโรป ให้มีผลในเวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์ (13 มี.ค.) จะคงมาตรการนี้ไว้เป็นเวลา 30 วัน "ทรัมป์" ระบุว่า มาตราการล่าสุดนี้จะมีผลบังคับใช้สำหรับการเดินทางจากประเทศในภูมิภาคยุโรป ยกเว้นสหราชอาณาจักร ขณะที่พลเมืองชาวอเมริกัน ที่เดินทางมาจากยุโรปจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองด้วย
ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศจีน เริ่มมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อคงที่และลดลง รวมทั้งภาพรวมของประเทศอื่นๆในเอเชียด้วย
ขณะที่ประเทศไทยนั้น ตัวเลขล่าสุด (12 มี.ค.) พบติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มอีก 11 ราย รวมติดเชื้อสะสมเป็น 70 ราย โดยผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง (3 มกราคม – 11 มีนาคม 2563) มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,232 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 219 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาล 5,013 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 3,865 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,367 ราย
การรับมือของรัฐบาลไทย ช่วงเช้าวันนี้ (12 มี.ค.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ก่อนจะเรียกประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ , ชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ เพื่อสรุปความชัดเจนถึงมาตรการยกเลิกการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa on Arrival (VOA) กับ 17 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ และ การยกเว้นการตรวจลงตรา ของประเทศมีความเสี่ยงสูง ( VF) ได้แก่ เกาหลีใต้ อิตาลี และฮ่องกง ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ
หลังประชุมแล้ว ชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล แถลงถึงมาตรการที่ออกมาของรัฐบาลเมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) ทั้งการยกเลิกชั่วคราวการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Visa on Arrival (VOA) ใน 18 ประเทศ กับ 1 เขตเศรษฐกิจ และ การยกเว้นการตรวจลงตรา หรือฟรีวีซ่าของประเทศมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และ อิตาลี นั้น
ยืนยันว่า วันนี้ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ! แม้เมื่อวานนี้ ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะมีมติออกมาแล้วก็ตาม ยังคงต้องทำตามขั้นตอนก่อน โดยจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 มี.ค.นี้ โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม ผ.30 ซึ่งเป็นมาตรการที่ไทยให้แต่ฝ่ายเดียว เพราะการให้หรือยกเลิกจะสามารถทำได้ทันที เมื่อต้องมีมาตรการคัดกรองโรคอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับ 80 ประเทศที่ทำในลักษณะเดียวกัน ส่วนประเทศที่ยังมีเรื่องความตกลงระหว่างกันนั้น เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และ รัสเซีย ยังคงต้องกลับมาศึกษารายละเอียดขั้นตอนปฎิบัติให้รอบคอบก่อน จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะอยู่ในเงื่อนไขการยกเลิกการตรวจลงตราครั้งนี้ด้วยหรือไม่
เท่ากับว่า ยังคงต้องรอการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 17 มี.ค. อีกครั้งก่อน เพราะทางปฎิบัติยังไม่สามารถดำเนินการได้ ด้วยอาจติดขัดข้อกฎหมายและ ความตกลงระหว่างประเทศบางประการ
กอรปกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (12 มี.ค.) ยืนยันว่า จะป้องกันและชะลอเฟส 3 ได้
ดังนั้น แม้ว่าสถานการณ์ของสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะมีมาตรการเข้มข้นขึ้น เพราะการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) กำลังทวีความรุนแรง ขณะที่เอเชียและโดยเฉพาะประเทศไทยนั้น ประเมินว่ายังควบคุมได้ ทำให้การออกมาตรการต่างๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าเช่นกัน!!