สู้ 'โควิด-19' กับมาตรการรัฐ และเสียงเรียกร้องให้ปิดประเทศ?
ถือเป็นการเดิมพันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่เหมือนกัน กรณีตัดสินใจยังไม่ประกาศ "ปิดประเทศ" เพื่อสู้โรคระบาด "โควิด-19"
ท่ามกลางเสียงเรียกร้อง ติดแฮชแท็ก #ปิดประเทศ และ #กรุงเทพฯ กลายเป็นกระแสนิยมในทวิตเตอร์ของค่ำคืนวันที่ 17 มี.ค. 2563
หลังนายกรัฐมนตรีแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 หรือ COVID-19 ปัจจุบันถึงแม้ว่าขณะนี้จะยังไม่เข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 แต่มีแนวโน้ม การแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อลดการแพร่ระบาดจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดอื่นๆ จึงจําเป็นต้องเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับ
สรุปมาตรการ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านสาธารณสุข ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย ต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน ต้องมีประกันสุขภาพ - ยินยอมใช้แอพฯติดตามของรัฐ และห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ
2.ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน เร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ , 3. ด้านข้อมูล การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลมาจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข - ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ,
4.ด้านต่างประเทศ การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ - ให้ กต. ใช้ประโยชน์จาก TEAM THAILAND ในต่างประเทศ เพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ (Team Thailand COVID-19) ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีท่านทูตเป็นหัวหน้าทีม
5. ด้านมาตรการป้องกัน ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น โดยให้มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ , - ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สําหรับสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล, - ปิดชั่วคราว 14 วัน สําหรับ ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
งดการจัดกิจกรรมรวมคนจํานวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา, ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจํานวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยดําเนินการตามมาตรการ ป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนด
ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทําความสะอาด พื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัด “ลดความแออัดในการเดินทาง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค”
งดวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน 2563 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยจะชดเชย วันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ และเพิ่มความดีของการเดินรถ
6.มาตรการช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยว , พิจารณาหามาตรการ รองรับเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการ lay off พนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน
กลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทางเศรษฐกิจ และมีภาระในในการผ่อนชําระ เช่น รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพื่อให้ สถาบันการเงินผ่อนผันการชําระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ นอกระบบ (พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ) กลุ่มเกษตรกร (ผลไม้ ดอกไม้ กล้วยไม้ ฯลฯ) ที่ได้รับผลกระทบ
กล่าวสำหรับ มาตรการทั้ง 6 กลุ่มดังกล่าว ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง 9,002 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรร 5,488 ล้านบาท โดยส่วนงานของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับ 1,551 ล้านบาท กรมควบคุมโรค 520 ล้านบาท สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 3,260 ล้านบาท ขณะกระทวงพาณิชย์ได้รับการจัดสรร 108 ล้านบาท สำหรับชดเชยโรงงาน ผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 โรงงาน ที่ต้องรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมาก
มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับโรงงงานทั้ง 11 แห่ง เพื่อปรับไลน์การผลิตให้มากขึ้น จากเดิม 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน เป็น 1.76 ล้านชิ้นต่อวัน โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้น 560,000 ต่อวัน นั้นเราจะจัดสรรให้กับหน่วยงานทางการแพทย์ โดยหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่ได้รับการจัดสรร 7 แสนชิ้นต่อวัน เป็น 1 ล้านชิ้นต่อวัน โดยเป็นของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 500,000 ชิ้นต่อวัน โรงพยาบาลนอกสังกัด 70,000 ชิ้น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย 100,000 ชิ่น โรงพยาบาลเอกชน 200,000 ชิ้น โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 80,000 ชิ้น และจัดสรรตามมาตรการกักกันตัว 50,000 ชิ้นต่อวัน ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไว้ทั้งหมด 6,063 เตียง
ขณะที่ สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ตัวเลขที่ สธ. แถลงประจำวัน (17 มี.ค.) มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ เพิ่ม 30 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 177 ราย
กลุ่มแรกผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 14 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 11 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 1 รายและกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 2 ราย
ส่วนกลุ่มที่สอง ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 16 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ 9 ราย, กลุ่มทำงานใกล้ชิดสัมผัสต่างชาติ 1 ราย และรอผลสอบสวนโรคเพิ่มเติม 6 ราย
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป สหรัฐ และเอเชีย เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 181,127 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนกว่า 7,100 ราย
หากประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยเริ่มเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยรายใหม่กว่าครึ่ง เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้เรียกร้องปิดประเทศเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ สอดรับการที่ประเทศมาเลเซียได้ประกาศปิดประเทศแล้วด้วย
ทว่า การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อ้างเหตุผลจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข และเชื่อว่ายังสามารถชะลอการแพร่เชื้อให้อยู่ในระยะที่ 2 ไว้ได้
ดังนั้น มาตรการทั้ง 6 ข้อ มุ่งสกัดจุดเสี่ยงพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่ให้เกิดการรวมตัวของคนจำนวนมาก มากกว่าปิดการสัญจรเข้า-ออก หรือเรียกว่า ปิดกรุงเทพฯและปิดประเทศ ซึ่งในแง่หนึ่งอาจช่วยด้านจิตวิทยาป้องกันการตื่นตระหนกกักตุนอาหาร
ถึงกระนั้น ขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อด้วย ยิ่งเพิ่มขึ้น แรงกดดัน "รัฐบาลประยุทธ์" ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว ถือเป็นการเดิมพันทุกการตัดสินใจของ "บิ๊กตู่" เลยทีเดียว!!