การระบาดโควิด-19 กับข้อเสนอกม.ใหม่ของจีน
ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ ของโลกเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตในอัตราที่น่ากังวล
ความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด นอกจากนี้ เรายังต้องใช้เรื่องนี้เป็นบทเรียนในการเตรียมการต่างๆ ให้พร้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยเฉพาะการมีกฎระเบียบและมาตรการที่รอบด้าน รัดกุม และการบังคับใช้อย่างเข้มงวด
การระบาดของโรคโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคข้ามพรมแดน ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ได้ดำเนินการไม่ว่าจะโดยนโยบาย การออกกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดข้ามพรมแดน อาทิ มาตรการในการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศไม่ว่าจะเป็น ไทย ไต้หวัน เดนมาร์ค อิตาลี สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และจีน
ล่าสุดในประเทศจีน ศาลสูงสุดร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานศุลกากร ได้ออกความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการลงโทษทางกฎหมายต่อผู้กระทำการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพข้ามพรมแดนและการกักกันตัว โดยมีความคิดเห็นว่า ผู้ที่ปฏิเสธที่จะเข้ารับการตรวจสุขภาพ หรือปลอมแปลงข้อมูลสุขภาพขณะเข้าประเทศจีนจะถือว่าเป็นผู้ที่กระทำผิดอาญาในการก่ออันตรายสุขภาพข้ามพรมแดนและการกักกัน (Crime of disturbing frontier health and quarantine) ทั้งนี้ การกระทำที่เข้าลักษณะความผิดดังกล่าว รวมถึงการกระทำดังต่อไปนี้
1) ผู้ที่มีโรคติดต่อที่อาจถูกกักกันตัวได้หรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับการกักกันตัว อาทิ การตรวจอุณหภูมิร่างกาย การตรวจสอบตัวอย่างทางการแพทย์ การแยกตัว
2) ผู้ที่มีโรคติดต่อที่อาจถูกกักกันตัวได้หรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดโดยการให้ข้อมูลในบัตรรายงานสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง หรือโดยการปลอมแปลงข้อมูลในแบบฟอร์มเกี่ยวกับการกักกันตัว หรือโดยวิธีการอื่นใด
3) การเคลื่อนย้ายเข้า-ออก หรือส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจุลินทรีย์ เนื้อเยื่อมนุษย์ ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ เลือดหรือส่วนประกอบต่าง ๆ ของเลือด ที่อาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อซึ่งอาจถูกกันกันได้ โดยผู้ที่รู้หรือควรรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นอาจก่อให้เกิดโรคติดต่อซึ่งอาจถูกกักกันได้แต่ยังจงใจหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามกฎของการกักกัน
4) การปฏิเสธการกักกักหรือมาตรการทางสุขอนามัยโดยบุคคลที่รับผิดชอบยานพาหนะที่ขนส่งบุคคลที่ติดเชื้อโรคติดต่อซึ่งอาจถูกกักกันได้หรือผู้ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นเหยื่อของการระบาด
5) การปกปิดการตายที่มิได้เกิดจากอุบัติเหตุแต่ไม่ทราบสาเหตุการตายบนรถขนส่งสาธารณะโดยบุคคลที่เป็นผู้รับผิดชอบรถขนส่งนั้น ๆ ขณะที่ยานพาหนะนั้นเดินทางมาจากพื้นที่หรือประเทศที่กำลังมีการระบาดของโรคติดต่อ
6) การปฏิเสธอื่น ๆ ที่จะปฏิบัติตามมาตรการในการกักกันซึ่งเสนอโดยศุลกากรตามกฎหมาย เช่น Frontier Health and Quarantine Law
นอกจากนี้ จีนยังได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการความมั่นคงสาธารณะในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ หลังจากเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญมากมายที่บุคลากรทางการแพทย์ถูกทำร้ายร่างกายอย่างทารุณ โดยคนไข้หรือญาติของคนไข้
ประเด็นที่น่าสนใจของร่างกฎหมายข้างต้น ได้แก่ การกำหนดห้ามไม่ให้กระทำการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในโรงพยาบาล ห้ามไม่ให้กระทำการทางวาจา ข่มขู่คุกคาม หรือทำร้ายร่างกายบุคลากรทางการแพทย์ ห้ามยึดครองถือครอง หรือทำลายทรัพย์สินของโรงพยาบาล เป็นต้น
ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืน ไม่ว่าจะต่อบุคลากรทางการแพทย์หรือโรงพยาบาลจะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง และข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำผิดเหล่านั้นจะถูกเผยแพร่ทางแพลตฟอร์มสำหรับการแชร์ข้อมูลทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ (the local and national credit information sharing platforms)
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังกำหนดให้โรงพยาบาลมีจำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัยรวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นที่พอเพียง และต้องตรวจตราความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังกำหนดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการติดต่อฉุกเฉินไว้ตามห้องต่าง ๆ ในโรงพยาบาลด้วย ทั้งยังกำหนดให้ผู้ที่เข้าโรงพยาบาลทุกคนต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย และหากพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจพบว่ามีสิ่งของต้องห้ามหรือสิ่งของที่เป็นอันตรายพกติดตัว ต้องแจ้งตำรวจทันที
ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้ที่เคยมีประวัติในการก่ออันตรายต่อบุคลากรทางการแพทย์ได้มาโรงพยาบาล ให้โรงพยาบาลแจ้งตำรวจ และให้พนักงานรักษาความปลอดภัยควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวตลอดเวลาขณะที่บุคคลดังกล่าวเข้ารับการรักษาด้วย อีกทั้ง ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังให้สิทธิบุคลากรทางการแพทย์ในการที่จะปฏิเสธการรักษาหากถูกคุกคาม
ประเทศไทยเอง แม้ยังไม่เคยเจอกรณีร้ายแรงที่แพทย์ถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกฆาตกรรมในกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติงาน แต่การมีกฎหมายในลักษณะเดียวกันเพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้มาใช้บริการในสถานพยาบาลต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
โดย...
ณิชนันท์ คุปตานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์