จีน ลด/เทขาย? พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
จีนถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจำนวนมหาศาลจากการเกินดุลการค้ากับสหรัฐจำนวนมากทุกปี เป็นระยะเวลายาวนาน จำนวนที่ถือ ณ สิ้นปี 2019 คือ $1.1 ล้านล้าน
แต่จำนวน สูงสุดที่จีนเคยถือคือ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2013 ซึ่งจีนมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงสุดที่ประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ถ้าหากเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 2019 ที่ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ จำนวน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ถืออยู่ก็ยังถือว่าสูง
การถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นจำนวนมากของจีนไม่ใช่เรื่องดีเท่าใดนักเนื่องจากมีโอกาสตกอยู่ภายใต้ความเสียเปรียบที่สหรัฐจะบีบบังคับได้ทุกเมื่อ เช่นเดียวกับกรณีที่จีนต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งส่งออกสินค้าและมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้
ผู้ที่กล่าวถึงทางออกของจีนเกี่ยวกับการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีเสมอๆ ถึงทางเลือกที่จีนจะทำได้และโอกาสที่จีนจะตอบโต้เพื่อสร้างความเสียหายแก่สหรัฐบ้างด้วยพันธบัตรจำนวนมหาศาลที่ถืออยู่ การวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้ตื่นเต้นย่อมทำได้ แต่เรื่องราวที่สมมติขึ้นจะเป็นความจริงได้เพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การดูว่าทางเลือกในการถือเงินสำรองระหว่างประเทศมีมากน้อยเพียงใด คงจะต้องดูว่าในโลกนี้มีเงินตราใดบ้างที่ใช้ถือเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศได้ Prasad (2019) แห่งมหาวิทยาลัย คอร์แนล ได้ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถือเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศมี 71%, 64% และ 62% ในปี 2000, 2014 และ 2019 ตามลำดับ เงินยูโรมีสัดส่วนสูงสุดที่ 26% ในปี 2007 แต่สัดส่วนก็ลดลงเรื่อยๆ หลังจากนั้นเนื่องจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในยุโรปเองจนเหลือเพียง 20% ในปี 2019 สัดส่วนที่ลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และยูโรถูกแทนที่โดยเงินสกุลเล็กๆ อื่นๆ ได้แก่ เงินเยนญี่ปุ่น เงินดอลลาร์แคนาดา เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินหยวนจีน ในเชิงของเงินตราที่ใช้ชำระราคานั้น สถานการณ์ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เราอาจสรุปได้ว่าเงินตราที่มีปริมาณ มากและมีความมั่นคงเพียงพอที่จะใช้ถือเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศนอกจากเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว คงไม่มีทางเลือกอื่น
สำหรับจีนแล้ว เงินสำรองระหว่างประเทศมีจำนวน 166 พันล้านดอลลาร์ 3.84 ล้านล้านดอลลาร์ และ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2007, 2014 และ 2019 ตามลำดับ โดยที่ถือไว้ในรูปพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นจำนวน 1.24 ล้านล้านดอลลาร์ และ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2014 และ 2019 ตามลำดับ นอกจากนี้แล้ว จีนยังถือเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น พันธบัตรขององค์การของรัฐบาลกลาง พันธบัตรของบริษัทเอกชน และ หุ้นของบริษัทเอกชนด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำให้อัตราผลตอบแทนจากเงินสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้นโดยที่มีความมั่นคงพอสมควร
นอกจากนี้ จีนพยายามถือเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปทองคำเช่นเดียวกัน มูลค่าของทองคำที่ถืออยู่เพิ่มจาก $17 พันล้านในปี 2008 เป็น $94 พันล้านในปี 2019 แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของเงินสำรองระหว่างประเทศเท่านั้น
ในวงการการเงินโลกรวมทั้งในจีนด้วย มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางของประเทศหนึ่งประเทศใด อาจสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของสหรัฐ โดยการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ถืออยู่ เรื่องนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว
รัสเซียได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ถืออยู่จำนวนทั้งสิ้น 100 พันล้านดอลลาร์เมื่อต้นปี 2018 ทำให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรสูงขึ้นจาก 2.5% เป็น 3.2% ในราวฤดูใบไม้ร่วง แต่ว่าอัตรา ดอกเบี้ยก็กลับลดลงจนถึงสิ้นปีที่ 2.7% เหตุผลสำคัญที่เป็นเช่นนั้น อาจจะมาจากจำนวนที่ไม่มากคือ เพียง 0.5% ของจำนวนพันธบัตรทั้งหมดที่คงค้างเท่านั้น แต่เหตุผลสำคัญที่สุดมาจากการปรับตัวของตลาดที่เข้าสู่ดุลยภาพของตลาดเงินทั่วโลก นี่คือตัวอย่างที่ยกขึ้นมาโดย Prasad (20า19) แต่ผู้ที่เขียนบทความกล่าวถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะก็คือ Setser (2018) ใน Council on Foreign Relations
บางทฤษฎีระบุว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นตัวชี้นโยบายระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐ ส่วนอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวเป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่บวก Term premium ของแต่ละระยะเวลา ไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณที่เปลี่ยนแปลงภายในตลาด หรือไม่เกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณใดๆ ของรัฐบาลกลางสหรัฐเลย
ที่จริงแล้ว มันก็ไม่เกี่ยวข้องจริงๆ แต่ว่าธนาคารกลางสหรัฐไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว และไม่ได้ไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อความเปลี่ยนแปลงในโลก และจะต้องตอบสนองต่อตลาดเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่เห็นว่าสมควร นี่คือประเด็น
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับขนาดของผลกระทบของการซื้อ/ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีจำนวนไม่น้อยและมีผลลัพธ์ต่างๆ กัน กล่าวคือ การซื้อ/ขายพันธบัตรรัฐบาลที่มีขนาด 1% ของ GDP จะทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำลง/สูงขึ้นในระหว่าง 5-20 basis points (0.05-0.20 หน่วยเปอร์เซนต์) ดังนั้น ถ้าหากจีนขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐทั้งหมดที่ถืออยู่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในราว 30 basis points แต่ว่า นี่เป็นเพียงภาวะที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ความไม่สมดุลในตลาดเงินสหรัฐย่อมทำให้เกิดการไหลของเงินจากตลาดอื่น เช่น ยุโรป เข้ามาในสหรัฐ
ความเปลี่ยนแปลงระยะสั้นในตลาดเงิน ไม่เพียงแต่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐเข้ามา แทรกแซงตลาดได้โดยทางตรงแต่ยังอาจแทรกแซงได้โดยทางอ้อม เช่น ผ่านการชะลอการขึ้นอัตรา ดอกเบี้ย หรือ การคลายตัวของ QE ได้
Setser ประมาณว่า จีนจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งในการขายพันธบัตรที่ถือทั้งหมด 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่าสหรัฐจะต้องหาประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีนมาซื้อพันธบัตรเหล่านี้แทนในอัตราปีละประมาณเกือบๆ 2 ล้านล้านดอลลาร์
ในปัจจุบันนี้ การค้าของสหรัฐขาดดุลปีละประมาณ 2.5% ของ GDP หรือประมาณ 275 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่งบประมาณของสหรัฐขาดดุลประมาณปีละกาว่า 4% ของ GDP ซึ่งหมายความว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอีกประมาณครึ่งหนึ่งจะถูก financed โดยประชาชนชาวอเมริกันเอง อิทธิพลของต่างประเทศต่อตลาดพันธบัตรจึงน้อยลงด้วย เหตุนี้ แต่ว่าธนาคารกลางสหรัฐกำลังอยู่ในระหว่างการคลายตัวของ QE (หรือการขาย สินทรัพย์ในงบดุลของตน) ในราวปีละประมาณ 600 พันล้านดอลลาร์อยู่แล้ว ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจึงรับมือกับการขายพันธบัตรของจีนได้แน่นอน
ทั้งหมดที่อธิบายไปแล้วข้างต้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าจีนขายพันธบัตรแล้วถือเงินที่ขายได้ไว้เป็นเงินสด ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง นั่นก็คือการออกตั๋วเงินคลัง แทนพันธบัตรรัฐบาลที่มีดอกเบี้ย
ถ้าหากจีนไม่ถือเงินที่ขายได้เป็นเงินสดในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐล่ะ? คำตอบก็จะอยู่ที่ ว่าทางเลือกในการถือเงินสำรองระหว่างประเทศ มีเงินตราสกุลใดบ้างตามที่อธิบายไว้ในตอนต้น ซึ่งเป็นไปได้น้อย
การคิดเรื่องราวใดๆ ให้ตื่นเต้นย่อมทำได้ แต่ถ้าพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลจริงๆ แล้ว มันไม่ตื่นเต้นเลยแม้แต่นิดเดียว อย่างเช่นเรื่องการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐของจีนที่อธิบายไปแล้ว เป็นต้น