เรียนรู้จากผู้นำ ยามวิกฤตโควิด 19
วันนี้วันที่โควิด19 ศัตรูตัวจิ๋วเปิดศึกกับมวลหมู่มนุษยชาติในโลกทั้งใบเราเห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมากมายจากทั้งเรื่องใกล้และไกลตัว
ที่สำคัญ มนุษย์นับล้านต่างผ่านความเจ็บปวดและความสูญเสียมหาศาล และคาดว่าศึกครั้งนี้มียืดเยื้อ ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ทันทีคือ ใช้บทเรียนที่ผ่านมาช่วยทั้งกันและแก้ปัญหาในอนาคต
วันนี้ มาถอดบทเรียน 3 ปัจจัยสำคัญของการเป็นผู้นำยามวิกฤตกันค่ะ
ยามเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผู้นำคือหัวใจ ยิ่งสถานการณ์คับขันเร่งด่วนสุ่มเสี่ยงสูงเท่าไหร่ผู้นำยิ่งสำคัญเท่านั้น
หลายท่านยินดีปรีดาว่าโชคดีที่ได้เกิดเป็นคนไทยเพราะหากอยู่ในหลายประเทศ แม้ที่ๆเราเคยชื่นชมว่าช่างเลิศเลอ เผลอๆอาจจบอายุขัยก่อนวัยอันควร
สิ่งที่เห็นชัดเจนว่าผู้นำท่านใด จะพาประชาชนผ่านมรสุมไปได้หรือไม่ ขึ้นกับหลายประเด็น วันนี้คุยกัน 3 เรื่องหลัก คือ
1.การตัดสินใจตัวอย่างเช่น ลุงตู่ฟันธงว่าชีวิตและสุขภาพประชาชนต้องมาก่อนตามด้วยเศรษฐกิจและสังคมดังนั้น แนวทางปฏิบัติต่างๆที่ตามมา จึงสะท้อนการตัดสินใจดังกล่าว เช่น มีเคอร์ฟิว มีการสั่งปิดกิจการสุ่มเสี่ยงทั้งหลาย แม้จะเสียหายด้านธุรกิจ แต่อย่างไรก็ต้องปิด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ผลลัพธ์ที่เห็นอย่างชัดเจนว่าเหยื่อโควิดลดลง ตอกย้ำว่าผู้นำตัดสินใจไม่พลาด โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายของบางประเทศที่ห่วงเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นบริษัทห้างร้านยังเปิดค่อนข้างเสรีหรือบางประเทศที่รักพี่เสียดายน้องอย่างไม่ฟันธงจนตัวเลขสูญเสียด้านคนพุ่งทะยาน
นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องชื่นชมทั้งท่านนายกฯและทีมงานคือการทำไป เรียนรู้ไป ปรับไปอย่างไม่ติดยึด อย่างมีข้อมูล ระมัดระวัง แต่ทันการณ์ ฝรั่งเรียกว่า Fail fast but learn faster ยามตะลุมบอนในศึกใหม่ที่ทั้งไม่เห็นและไม่เข้าใจศัตรู เรารับว่าการตัดสินใจอาจพลาดได้บ้าง แต่ต้องเรียนรู้ให้เร็วยิ่ง จนเกิดเป็นนโยบายและแนวทาง ที่สังคมยอมรับ และไว้วางใจในวันนี้
2.ทีมแม้ผู้นำจะเก่งเพียงใด หากไม่มีทีมที่แข็งแกร่ง แรงต้องหมดตั้งแต่ยกต้นๆ
ประเทศไทยยามนี้มีทีมมากมายที่ประสานงานกันอย่างแข็งแกร่ง และน่าชื่นชมยิ่งนัก
ที่สำคัญที่สุด ต้องยกให้ทีมแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ผู้ถือเป็นนักรบด่านหน้า ที่ทั้งแกร่งกล้าเสียสละจนไม่ต้องขยายความว่า เรามาอยู่จุดนี้ได้เพราะทั้งมันสมองทั้งสองมือและใจที่เกินร้อยจากทุกท่านในทีมนี้อย่างแท้จริง
อีกทีมที่มีบทบาทใหม่ที่สำคัญ คือ ทีมท่านผู้ว่าราชการของทุกจังหวัด ที่ผู้นำประเทศมีนโยบายอันชาญฉลาดในการมอบอำนาจ ที่ฝรั่งเรียกว่า Empower ให้ผู้ว่าฯตัดสินใจและสั่งการได้อย่างเป็นเอกเทศ ผลคือ ความรับผิดและรับชอบเต็มที่ของผู้นำที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ผู้ซึ่งกระจ่างถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่
แถมผลงานของแต่ละจังหวัดในเรื่องผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ก็ถูกคลี่เป็นตัวเลขเด่นจัด เปรียบเทียบกันอย่างชัดเจน ทุกวัน จนเกิดความตื่นตัว ทุ่มเท และความเป็นเจ้าของในภารกิจสำคัญยิ่งนี้อย่างไม่เคยมีมาก่อน
นอกจากนั้น การที่แต่ละจังหวัดมีวิธีการ และผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ยิ่งทำให้กระบวนการเรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาดของกันและกัน เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
3.การสื่อสารยามวิกฤตที่เกิดความวุ่นวายสับสน ผู้นำจำเป็นต้องบริหารการสื่อสารสู่ทุกฝ่ายอย่างถูกต้อง เป็นเอกภาพ ทรงพลัง และสม่ำเสมอ
น้อยคนนักที่จะเห็นต่างเรื่องประสิทธิภาพอันสูงยิ่งของการสื่อสาร ผ่านท่านโฆษก ศบค. คุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เพราะนอกเหนือจากการเป็นแพทย์ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่สังคมให้ค่ายิ่งในเวลานี้ การที่ท่านเป็นจิตแพทย์ ย่อมมีศิลป์เรื่องคนเป็นทุน ตลอดจนความสามารถและชั่วโมงบินเรื่องการสื่อสาร ทำให้ท่านโฆษกฯ สยบโจทย์การสื่อสารที่ท้าทายได้อย่างน่าชื่นชม
ไม่น่าแปลกใจ ทำไมจึงมีข้อความส่งวนเวียนในสื่อออนไลน์ว่า “เกลียดโควิด ติดโฆษก”!