ในวิกฤติ(COVID-19)ยังมีโอกาส: กลยุทธ์ปรับตัวธุรกิจ(จบ)

ในวิกฤติ(COVID-19)ยังมีโอกาส: กลยุทธ์ปรับตัวธุรกิจ(จบ)

จากบทความตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงการปรับตัวของธุรกิจใน 2 กลุ่มแรกว่ามีแนวทางอย่างไร ในการปรับแผนดำเนินการเพื่อให้ธุรกิจสามารถรอดพ้น

ต่อสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 พร้อมยกตัวอย่างถึงกลยุทธ์ของผู้ประกอบการบางราย จนได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ 

กลุ่มที่ 3 Increasing demand, Lacking of supply (Q3) ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสในวิกฤติ COIVD-19 เพราะผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการสูงมากขึ้นเกินกว่าในภาวะปกติ แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวในการผลิตสินค้าและบริการนั้นได้ทันต่อความต้องการที่เพิ่มได้ ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสจากความต้องการที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะที่ไม่ปกติ เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ ชุดทดสอบเพื่อตรวจหาไวรัส ชุดป้องกันเชื้อโรคของบุคลากรทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย เจลและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ตลอดจนสินค้าเพื่อใช้ทำความสะอาดบ้าน และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสำหรับคนในครอบครัว เป็นต้น

แนวทางการปรับตัว สร้างความร่วมมือกับผู้ผลิตที่มีกำลังการผลิตเหลือที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 หรือเจรจากับ supplier คู่ค้าทางธุรกิจเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น AI, Robots, Biotech ใช้ในการปรับหรือเพิ่มสายการผลิตให้ทันความต้องการของผู้บริโภคในระยะเวลาที่สั้นและการลงทุนไม่สูงมาก เพราะมี partner เป็นหุ้นส่วน และที่สำคัญผู้ประกอบก็ใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุง logistics และซัพพลายเชนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีกด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือบริษัทยาผู้ผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับบริษัทและมหาวิทยาลัยเพื่อเร่งทดสอบวัคซีนและมีแผนนำไปผลิตเป็นจำนวนมาก เพื่อกระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทั่วถึง

กลุ่มที่ 4 Increasing demand, Rising of technological supply(Q4) ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ COVID-19 มากที่สุดและกลายเป็นชีวิตวิถีใหม่ (The New Normal) ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังวิกฤติ ผู้บริโภคของธุรกิจกลุ่มนี้มีความต้องการใช้สินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติหลายเท่าตัว เนื่องจากมาตรการ Social distancing และกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีเทคโนโลยีและความสามารถปรับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่สามารถรองรับการเติบโตของความต้องการของลูกค้าได้ทันต่อสถานการณ์ เช่น ผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต Social media platform, Entertainment platform อย่าง Netflix, ผู้ประกอบการ E-commerce, Application จัดส่งสินค้าและอาหาร

รวมไปถึงผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี เช่น AI, Robots, Printing 3D, Big data ที่มีโอกาสในการเข้าไปช่วยปรับปรุงการทำงานให้ทั้งภาครัฐและเอกชนผลิตสินค้าและบริการให้ดีขึ้น เร็วขึ้น สะดวกมากขึ้น ในราคาที่ถูกลง และเทคโนโลยีดังกล่าวจะยังคงถูกนำไปใช้รองรับธุรกิจหลังสถานการณ์ COVID-19 อีกด้วย

ความท้าทายของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้คือทำอย่างไรให้ demand ไม่หายไปเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง และรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตินี้ จะถูกนำมาลงทุนนวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้อย่างไร

ตัวอย่างเช่นผู้ให้บริการการประชุมออนไลน์อย่าง Zoom มีรายได้เพิ่มขึ้น 85% และมีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 2 เท่า อันเนื่องมาจากความต้องการในการประชุมทางไกลในช่วงวิกฤติ COVID-19 สิ่งที่ Zoom ต้องทำต่อเนื่องคือมีการลงทุนปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น และต้องคิดกลยุทธ์การตลาดเพื่อรักษากลุ่มลูกค้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ไว้ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายหรือประชาชนทุกคนที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับ The New Normal หลังวิกฤตการณ์ COVID-19ได้ คงต้องฝากรัฐบาล ออกมาตรการช่วยเหลือ-เยียวยา-ฟื้นฟู และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการปรับตัวของภาคเอกชนทั้งปัจจุบันและอนาคต และหวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางสร้างวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจให้ผู้ประสบภัย COVID-19 ทุกท่านก้าวผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปด้วยกัน

โดย...

ดร.รพีพร รุ้งสีทอง

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ