เบื้องหลังความสำเร็จ กระแสวัฒนธรรมเกาหลี
ในช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ หนึ่งในกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจคงหนีไม่พ้นการดูทีวี ยิ่งเป็นซีรีส์ยาว ๆ ยิ่งเหมาะกับช่วงนี้
ยิ่งซีรีส์ฝรั่ง เกาหลี หากมองผิวเผินการดูหนังดูซีรีส์ต่างประเทศช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรม ฝึกภาษา ให้ความบันเทิง บางเรื่องนี่ยิ่งดูยิ่งติด แต่หากมองให้ถี่ถ้วนแล้ว มันคือเรื่องของการค้าและการเมือง
วันนี้ผมอยากจะมาวิเคราะห์เล่าให้ฟังถึงการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีผ่านทางซีรีส์และหนัง ในมุมมองของการค้าการขาย ไขข้อข้องใจว่าอะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ และผลดีที่จะได้รับจากการส่งออกทางวัฒนธรรมเหล่านี้
การส่งออกทางวัฒนธรรม ถือเป็น Soft power คือความพยายามในการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างอิทธิพลต่อสังคมในเชิงของการดึงดูดจูงใจ มิใช่ขู่เข็ญ จึงเรียกว่าอำนาจอ่อน และยังถือเป็นเครื่องมือในการหาเงินเข้าประเทศ อาทิ กระแสฮอลลีวูดของสหรัฐที่โน้มให้คนทั่วโลกนิยมชมชอบในระบอบเสรีประชาธิปไตยผ่านหนังและชีวิตสไตล์อเมริกัน
การส่งออกทางวัฒนธรรมผ่านทางภาพยนตร์และซีรีส์นั้นยังช่วยประเทศในเชิงเศรษฐกิจ คือเป็นแหล่งรายได้หนึ่งที่สำคัญด้วย เพราะเมื่อหนังออกมาเป็นที่นิยม คนทั่วโลกก็รู้จักประเทศนั้น ๆ มากขึ้น อยากตามรอย ไปเที่ยว ทานอาหารแบบในหนัง อยากแต่งตัว ใช้เครื่องสำอางแบบพระเอกนางเอกในหนัง
ความสำเร็จของการส่งออกทางวัฒนธรรมของเกาหลีนั้นมีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจนคือความสามารถในการทำรายได้เข้าประเทศ โดยติดอันดับในอุตสาหกรรมต้น ๆ ที่ทำเงินเข้าประเทศ การคว้ารางวัลออสการ์ในปีล่าสุดของหนังเสียดสีสังคมอย่างเรื่อง Parasite เพราะมีเนื้อหาที่ดี แยบยล มีความหลากหลาย สด แปลกใหม่ ตรงใจ เช่นเดียวกับซีรีส์ผีดิบ Kingdom หรือที่กำลังฮิตอยู่อย่าง A World of Married Couple และ Stranger from Hell ยังไม่นับรวมกระแส K pop, drama ทั้งซีรีส์ นักร้อง ดารา ที่มีแฟนคลับอยู่มากมายในต่างประเทศ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของอุตสาหกรรมการส่งออกทางวัฒนธรรมนี้ คือ ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน รัฐนั้นสนับสนุนทั้งในรูปแบบตัวเงินแก่อุตสาหกรรมและการออกกฏหมายที่ปกป้องส่งเสริมให้มีการผลิตภาพยนตร์ในประเทศ อาทิ ออกโควตากำหนดสัดส่วนการฉายหนังต่างประเทศเพื่ออุดหนุนให้มีการฉายหนังเกาหลีมากกว่า และผู้ชมในประเทศที่ให้การสนับสนุน
เอกชนภายใต้การนำของเครือ CJ Group ที่แตกแขนงมาจากเครือ Sumsung ซึ่ง CJ Group นี้มีความเชี่ยวชาญแต่เดิมคือธุรกิจอาหาร แต่ก็ผันตัวแตกหน่อใหม่ออกมาเป็นธุรกิจบันเทิงนำทัพภาคธุรกิจในการกรุยทางผ่านการลงทุนในภาพยนตร์ ละคร ค่ายเพลง ต่าง ๆมากมาย
ความสำเร็จที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ว่าได้มาโดยง่าย และไม่ได้ใช้เวลาอันสั้น แต่ผ่านการกลั่นกรองทางความคิด การวางแผน การลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน กฏหมายที่เอื้ออำนวย คือเป็นศาสตร์มากกว่าโชคช่วยดังนั้นจึงสามารถลอกเลียนและต่อยอดจากโมเดลนี้ได้
กลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งตอนนี้กระแสละคร หนัง ทั้งที่จัดทำโดยคนไทยหรือการอาศัยสถานที่ถ่ายทำในประเทศไทยนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และที่สำคัญตลาดของเรามิได้จำกัดอยู่แค่ในไทยเท่านั้นแต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา ซึ่งดูทีวีไทย และประเทศอื่น ๆ เช่น จีน ที่มีความชื่นชอบในภาพยนตร์ ละคร หรือดาราไทย ถือเป็นโอกาสที่เราจะสร้างอุตสาหกรรมการส่งออกทางวัฒนธรรมภายใต้บริบทโลกใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะวิกฤติโควิดนี้
ทุกวิกฤติย่อมมีทั้งโอกาสและความสูญเสีย อุตสาหกรรมการส่งออกทางวัฒนธรรมนี้ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตินี้ ต่อยอดจากความชอบประเทศไทยแต่เดิมของสังคมโลก แค่ถอดความสำเร็จจากเกาหลี เรียนรู้ ต่อยอด และทำให้มีเอกลักษณ์แบบของไทยเราครับ