แนวทางการจัดการ e-waste สำหรับไทย(3)
หลังจากที่ตอนที่แล้ว(ฉบับวันที่ 25 พ.ค.2563) ผู้เขียนได้นำเสนอการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ของประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นตัวอย่างของควบคุมบริหารจัดการโดยใช้กลไกภาคเอกชน ในตอนที่ 3 นี้ ผู้เขียนขอนำเสนอกลไกของเยอรมนี ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกโดยภาคเอกชน ซึ่งหลายๆ ประเทศให้การยอมรับว่ามีประสิทธิภาพและเป็นต้นแบบ อย่างไรก็ตาม กลไกของการจัดการของเยอรมนี ไม่ได้หมายถึงการที่ภาครัฐจะให้เอกชนทำอย่างเดียว ภาครัฐจะต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงประสานงานเพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ในตอนนี้จะแสดงให้เห็นปัญหาในการจัดการตั้งแต่อดีตและมาดูกันว่า เยอรมนีแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
อ่านบทความตอนที่แล้ว: แนวทางการจัดการ e-waste สำหรับไทย(2)
ก่อนหน้านั้นในเยอรมนี การจัดการซากฯใช้กฎหมายการจัดการขยะอย่างเดียว โดยกำหนดให้ผู้ที่ก่อให้เกิดซากจะต้องนำซากฯไปทิ้งที่ศูนย์รับทิ้งขยะ โดยต้องชำระค่าใช้จ่ายในการจัดการเช่นกันกับ ขยะอันตราย, ขยะขนาดใหญ่ เช่น เตียง, ตู้ โดยที่ซากฯส่วนใหญ่จะไม่ถูกนำไปทิ้งที่ศูนย์รับคืนซาก แต่จะถูกทิ้งในที่รกร้างว่างเปล่าหรือที่สาธารณะทั่วไป (คล้ายกับไทยปัจจุบัน) ดังนั้นรัฐบาลเยอรมันจึงได้ออกกฎหมายเรื่องการจัดการซากฯใหม่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มประกาศบังคับใช้ครั้งแรกใน พ.ศ.2548 ประเด็นที่น่าสนใจของระบบการจัดการของเยอรมันคือ
- มีการจัดตั้งองค์กรกลาง (Clearing House)ซึ่งจัดตั้งโดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าเพื่อทำหน้าที่แทนหน่วยงานรัฐในการควบคุมผู้ผลิตนำเข้าให้เข้าร่วมดำเนินการตามกฎหมายนี้ โดยในร่างกฎหมายได้ระบุถึงขอบเขตหน้าที่ขององค์กรกลางไว้อย่างชัดเจน
- มีการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตและผู้นำเข้ารวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ E-commerceเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการรับผิดชอบซากฯที่เกิดขึ้น ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนกับองค์กรกลางกว่า 1 หมื่นผู้ประกอบการ
- มีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยผู้ผลิตและนำเข้าเพื่อวัตถุประสงค์นำเงินค้ำประกันไปใช้ในการจัดการซากฯ ที่จะเกิดขึ้น หากผู้ผลิตและผู้นำเข้าหยุดการประกอบกิจการที่องค์กรกลาง
- ภายหลังจากการขึ้นทะเบียน ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะได้รับอนุญาตให้ติดตราสัญลักษณ์เพื่อแสดงสิทธิในการจัดจำหน่ายสินค้าได้ภายในเยอรมัน
- ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสามารถเลือกวิธีการจัดการได้ 3 รูปแบบคือ แยกจัดเก็บที่ศูนย์รับคืนซากฯแล้วจัดเก็บเอง, แยกจัดเก็บที่ศูนย์รับคืนซากฯแล้วจัดเก็บรวม, ไม่แยกจัดเก็บ
- เปลี่ยนรูปแบบการชำระค่าจัดการซากฯจากจ่ายเมื่อเกิดซาก (แบบญึ่ปุ่น) เป็นจ่ายก่อนเมื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า
พ.ศ.2558 เยอรมันได้ออกกฎหมายใหม่สำหรับการจัดการซากฯ โดยแก้ไขกลุ่มประเภทของซากฯ, ยกเลิกการระบุค่าจัดการซากฯในใบเสร็จรับเงิน, และให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นจัดสรรพื้นที่สำหรับก่อตั้งศูนย์รับคืนซากฯ
เส้นทางการเคลื่อนที่ของขยะหรือของเสียที่เกิดขึ้นในเยอรมัน ผู้บริโภคจะส่งซากฯไปกำจัดที่ศูนย์รวบรวมซากฯในปัจจุบันมีมากกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ศูนย์รวบรวมซากฯโดยการประสานงานของผู้ผลิต(ผ่านองค์กรกลาง) ได้รับการจัดตั้งที่สถานที่ของผู้จัดจำหน่าย (ตามความสมัครใจ), ผู้ผลิต, หน่วยงานส่วนท้องถิ่น (เทศบาล) หลังจากนั้นซากฯจะถูกส่งไปคัดแยกที่โรงงานถอดแยกเพื่อแยกของเสียและวัสดุรีไซเคิลหรือโลหะมีค่าเพื่อส่งไปดำเนินการต่อ
ส่วนเส้นทางการเงินมีแนวทางดังนี้
- ผู้ผลิตที่ขึ้นทะเบียนจะต้องชำระค่าประกันในการจัดการซาก, ค่าธรรมเนียมจัดการซากฯ, ค่ากระบะที่ใช้ขนส่งของเสีย ตามแต่วิธีการในการรวบรวมซากที่เลือกให้กับองค์กรกลาง และจะต้องชำระค่าบำบัดกำจัดซากฯตามใบเรียกเก็บเงินที่โรงงานผู้คัดแยกส่งมา
- ผู้บริโภคจะทำหน้าที่จ่ายค่าจัดการซากฯให้กับผู้ผลิตโดยชำระในวันที่ซื้อสินค้า
- องค์กรกลางทำหน้าที่จ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดการกระบะให้กับหน่วยงานส่วนท้องถิ่น
- โรงงานคัดแยกจ่ายค่าบำบัดกำจัดของเสียให้กับโรงงานผู้รับบำบัดกำจัดและมีรายได้จากการขายวัสดุรีไซเคิลหรือโลหะมีค่า
- ผู้คัดแยกจะรวมค่าขนส่งไปกับค่าจัดการซากฯส่งไปเก็บเงินจากผู้ผลิต
กฎหมายของเยอรมันจะครอบคลุมซากฯเกือบทุกประเภททั้งซากที่มีขนาดใหญ่และมีขนาดเล็ก โดยรายละเอียดของซากฯจะถูกกำหนดขอบเขตและประเภทของซากฯไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย (มากกว่า 10 หน้า)
ภายหลังจากดำเนินการ ปัญหาในการดำเนินงานไม่ใช่ปัญหาที่ระบบแต่เป็นปัญหาเรื่องคุณภาพของซากฯ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.การจัดเก็บและจัดการโดยหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเป็นหน้าที่ซึ่งไม่มีรายได้ ดังนั้นท้องถิ่นจะต้องจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการเอง ซึ่งส่งผลให้คุณภาพของซากฯโดยซากฯมักจะเสียหายก่อนถึงมือโรงงานคัดแยก
2.กว่าครึ่งของซากฯที่มีราคาหรือมีโลหะมีค่าสูงจะไม่ถึงมือโรงงานคัดแยก จะถูกแยกไปก่อนที่ศูนย์รวบรวมซากฯ
3.ซากฯบางส่วนจะถูกส่งออกในรูปของเก่ามือสองไปยังประเทศกำลังพัฒนาโดยผู้นำเข้า
โดย... พูนศักดิ์ จันทร์จำปี