ตกลงเราออกจากภาวะตลาดหมีแล้วใช่หรือไม่

ตกลงเราออกจากภาวะตลาดหมีแล้วใช่หรือไม่

ตลาดหุ้นโลกฟื้นกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมี.ค. แล้วมากกว่า 30% บางดัชนีอย่าง NASDAQ

กลับกลายเป็นว่า ผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีกลับมาเป็นบวกได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังมีนักลงทุนหลายคนสงสัย และไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เป็นเพียงความฝัน หรือนี่คือบรรทัดฐานใหม่ของโลกใบเดิม

จนถึงตอนนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนทั้งหลายก็ยังเสียงแตกออกเป็น 2 ฝั่งกับสถานการณ์การลงทุนที่เกิดขึ้น ฝั่งหนึ่ง เชื่อว่า ที่ตลาดวิ่งขึ้นมา มันเป็นแค่รีบาวด์ในภาวะตลาดหมี (Bear Market Rally) ขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง มองว่า เศรษฐกิจโลก เจอแค่ผลกระทบระยะสั้นๆ เดี๋ยวกลับมาเปิดเมืองได้เมื่อไหร่ก็ฟื้นกลับมาเมื่อนั้นเอง

ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลก รวมถึง หยุดอาการ panic แห่ขายตราสารหนี้ทั้งโลกกันได้นั้นก็คือ การออกมาตรการนโยบายการเงิน ทั้งอัด ทั้งฉีด จนทำให้สถานการณ์ในตลาดการเงินกลับมาเป็นปกติ แต่สิ่งที่เห็นคาตาเราอยู่วันนี้ก็คือ ตัวเลข GDP ที่น่าจะถดถอยหนักสุดนับตั้งแต่ย้อนกลับไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง

ล่าสุด IMF ปรับลดประมาณการ GDP Growth ของไทยลงเหลือ -6,7% สำหรับปี 2020 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ลบหนักสุดในเอเชีย ขณะที่ปี 2021 ถึงแม้ IMF จะคาดว่า GDP จะกลับมาเป็นบวก แต่ภาพรวมก็ยังไม่ฟื้นกลับมาที่ระดับของปี 2019 อยู่ดี นั่นแปลว่า วิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ เราทำเศรษฐกิจหล่นหายไป 2 ปี ซึ่งจะหายไปแล้วกลับมาได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ คำตอบก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของทั้งภาครัฐฯ ภาคเอกชน และปัจเจกบุคคล ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ว่ารับมือกันได้ดีขนาดไหน

ยกเศรษฐกิจไทยขึ้นมา ก็เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งให้เห็นนะครับ ยุโรป กับ สหรัฐ หนักกว่าเราแน่ๆ ไม่ต้องสงสัย และยิ่งเขาเข้าไปอยู่ในวิกฤติลึกแค่ไหน ก็ยิ่งกระทบกับเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยมากขึ้นตามไปด้วย เราจึงต้องจับตามหาอำนาจอย่างใกล้ชิด พิจารณาในหลายมิติเพื่อแก้โจทย์นี้

ที่จะบอกก็คือ เศรษฐกิจจะฟื้นได้ดีหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำในวันนี้ เจ้าวิกฤติ COVID-19 รอบนี้ มันมาพร้อมกับอะไรก็ไม่รู้ที่โลกเราไม่รู้จักมันมาก่อน ดังนั้น สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว ผมมองตลาดหุ้นในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้า ยังไม่มีภาพที่ชัดเจนขนาดนั้นจริงๆครับ ว่าสุดท้ายจะเคลื่อนไหวในทิศทางไหน แต่ในระยะยาวๆ เลย ก็เชื่อแน่ว่า ระบบทุนนิยมที่ดำเนินมาถึงปัจจุบันมันจะยังคงอยู่แน่นอน

เลยมาชวนลองมองเหรียญให้ครบทั้งสองด้านกันครับ จะได้วางกลยุทธ์การลงทุนได้ดีขึ้น 

1.ถ้าตลาดหุ้น Bottom Out ไปแล้ว (ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว) หลายคนคงสงสัยว่า แล้วมันจะไม่พักฐานซักหน่อยแล้วค่อยไปต่อเลยหรอ?

จากข้อมูลสถิติในอดีต การปรับฐานระดับ -20% หรือมากกว่า นับตั้งแต่ปี 1906 นั้นเกิดขึ้นมาทั้งหมด 20 ครั้ง รอบวิกฤติ COVID-19 รอบนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐมองผ่านดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นมา 36% จนถึงสัปดาห์ที่แล้ว คำถามคือ ถ้าเทียบกับ 20 ครั้งก่อนหน้า ครั้งนี้ถือว่ารีบาวด์แรงไหม หากตั้งสมมุติฐานว่า ตลาดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

คำตอบคือ มีเพียงครั้งเดียวที่ตลาดรีบาวด์ได้แรงกว่าวิกฤติรอบนี้ ก็คือ วิกฤติซับไพรม์ปี 2008 แต่ที่เหลืออีก 19 ครั้ง รีบาวด์เบากว่ารอบนี้ทั้งหมด

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า การรีบาวด์แรงๆ แบบนี้ มันสามารถเกิดขึ้นได้ครับ อย่าคิดว่า รีบาวด์แรง แปลว่า เดี๋ยวจะต้องลงแรงแน่ๆ หลังจากนี้

2. ถ้ามองเป็นระยะเวลา กว่าที่ตลาดจะเจอจุดต่ำสุดในตลาดหมี ก็ต้องบอกว่า รอบนี้สั้นเหลือเกิน เป็นหมีแค่เดือนเดียวเนี่ยนะ??

ตลาดหมีในอดีตเฉลี่ยแล้ว กินระยะเวลาประมาณ 1 ปีกับอีก 6 เดือน จากจุดสูงสุดไหลไปหาจุดต่ำสุด ครั้งที่นานที่สุดก็คือ Great Depression ปี 1929 ซึ่งกินเวลาเกือบ 3 ปี กว่าตลาดจะหาจุดต่ำสุดเจอ ขณะที่ครั้งที่สั้นที่สุด ก็คือ วิกฤติ Oil Shock ตอนปี 1990 ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนในการปรับฐานไปหาจุดต่ำสุด

ซึ่งจากข้อมูลข้อ 2. นี้ มันตีความได้ว่า ระยะเวลาที่จะฟังธงว่า เราออกจากตลาดหมีในตอนนี้แล้วนั้น มันเร็วเกินไปที่จะตัดสินเลยทันที

สรุป เราออกจากภาวะตลาดหมีแล้วหรือยัง?

คำตอบที่ผมตอบกับตัวเอง ณ ตอนนี้ก็คือ “อย่าไว้วางใจ” ตลาดหุ้นที่ขึ้นแรงแบบนี้ แต่ก็ “อย่าปักใจ” เชื่อไปเลยว่าเดี๋ยวก็ต้องลงมาอีกที

ผมเองก็ไม่รู้ครับว่าตลาดจะเคลื่อนไหวในทิศทางไหนในช่วงที่เหลืออีก 7 เดือนข้างหน้าก่อนจะผ่านปี 2020

เท่าที่วิเคราะห์ได้ตอนนี้ ก็คือ บริษัทที่ผ่านวิกฤติรอบนี้ไปได้ จะแข็งแกร่งกว่าเดิมแน่ๆ และเห็นหลักฐานแล้วว่า ธุรกิจทั้งโลกจะปรับตัวเข้าหา Cloud Servicve , Cloud Computing เร็วกว่าในอดีตแน่ๆ. นั่นเลยเป็นที่มาที่ทำให้หุ้นเทคโนโลยีใน NASDAQ ถึงเป็นผู้นำ (Leader) ในรอบขาขึ้นรอบนี้

หมีหรือกระทิงไม่รู้ รู้แต่เราเห็นผู้ชนะแล้วหนึ่งคนในนั้นครับ