การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธุรกิจทั่วโลก ทำให้ธุรกิจต้องหยุดกิจการเป็นจำนวนมาก
มีแรงงานทั่วโลกว่างงานสูงหลายสิบล้านคน โดยเฉพาะประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานว่างงานไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน นายวีรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญานเตือนว่า เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนหนี้ธุรกิจที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้หนี้เสียพุ่งมหาศาล สอดคล้องกับการเปิดเผยของนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ที่ระบุว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในไตรมาส 1/2563 สูงถึง 9.5 แสนล้านบาท เพิ่มจาก 7.7 แสนล้านบาท ในไตรมาส 1/2562 คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2563 จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ทะลักแตะ 1 ล้านล้านบาท
ข้อมูล NPL ที่นำเสนอเป็นข้อมูลเพียงสิ้นไตรมาส 1/2563 ซึ่งผลกระทบจากการระบาดยังไม่รุนแรงมาก เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงของโควิด 19 ที่เริ่มรุนแรงตั้งแต่ เดือนเม.ย. 2563 คาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะมี NPLเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะท่านผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจมาหลายปีมีความเปราะบางที่จะกลายเป็น NPL มากที่สุด
ผู้ว่าการธปท.ยังระบุว่า พร้อมหาแนวร่วมจัดระเบียบธุรกิจใหม่ ประเทศต้องปรับองคาพยพทั้งด้านแรงงานและเงินทุน สร้างธุรกิจเซ็กเตอร์ใหม่ที่เป็นอนาคตของประเทศรับมือโลกหลังโควิด 19 คนตกงานกิจการปิดตัวเพิ่มขึ้น ยอมรับแบงก์ชาติต้องทำเมนูเครื่องมือใหม่ ๆ มาดูแลปัญหาแบบ “นอกกรอบ”
กระแส New Normal หรือ “ความปกติแบบใหม่” ซึ่งหมายถึง สถานการณ์ พฤติกรรม การปฎิบัติที่เราไม่คุ้นเคย แต่กลายมาเป็นมาตรฐานปกติในสถานการณ์ปัจจุบันเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตหลายอย่างรอบตัวเรา เช่น การอยู่บ้าน การรักษาความสะอาด
ด้วยการล้างมือบ่อยครั้ง เมื่อออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากทุครั้ง การรักษาระยะห่าง หรือที่เรียกว่า Social Distancing การไม่เข้าไปในบริเวณที่ผู้คนหนาแน่น ล้วนเป็นความปกติแบบใหม่ที่เราจะต้องปรับตัวให้เป็นปกติเพื่อความอยู่รอด
ธุรกิจก็ไม่แตกต่างจากชีวิตผู้คน มีเกิด แก่ เจ็บตาย เช่นเดียวกัน เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มีบางธุรกิจที่เข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้ เป็นโอกาสก็ไม่ต้องปรับตัว แต่ผมเชื่อว่าผลกระทบจากโควิด 19 ครั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับ New Normal ของผู้คนทั่วโลก
เรื่องแรกที่จะต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risk) ต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยง ถ้าธุรกิจขาดสภาพคล่อง รายได้ลดลง กระแสเงินสดไม่เพียงพอ ธุรกิจอาจต้องปิดกิจการลง เรื่องสภาพคล่องจึงต้องให้ความสำคัญต้องมีการวิเคราะห์ ด้วยการทำ Stress Test เพื่อหาทางป้องกัน มีการสวมหน้ากากทางการเงินเพื่อไม่ให้ติดเชื้อจนป่วยไข้ กลายเป็น NPL ได้
เรื่องที่สองคือ การดำเนินธุรกิจที่มีคู่แข่งขันมากราย เหมือนการเข้าไปในย่านที่ชุมชนหนาแน่น มีการแข่งขันสูง ถ้าไม่แข็งแร็งพอก็อาจเจ็บป่วยจนกลายเป็น NPL ได้
เรื่องที่สามคือ การระมัดระวังรักษาระยะห่าง หรือ Social Distancing โดยเฉพาะคู่ค้าที่เราไม่รู้จัก เราไม่รู้ว่าเขาเจ็บป่วยหรือไม่ บางคนอาจไม่ออกอาการ จึงต้องมีการศึกษาวิเคราะคู่ค้าอย่างละเอียด
เรื่องที่สี่คือ กฎและระเบียบของทางราชการที่จะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น เช่นการล็อกดาวน์ การประกาศเคอร์ฟิว บทลงโทษข้อปฎิบัติในการดำเนินธุรกิจ ที่จะต้องเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น
เรื่องสุดท้ายคือ การแสวงหาโอกาสทางการตลาดกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น โลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แรงงานคนจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์มากขึ้น การซื้อขายออนไลน์จะเติบโมขึ้นอย่างมหาศาล พ่อค้าคนกลางจะถูกลดบทบาทและความสำคัญลง แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์และการส่งสินค้าจะเติบโตขึ้น ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าและบริการด้วยเหตุผล กิจกรรมการบริการจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่น การนวด การเสริมสวยจะต้องมีการนัดหมาย
ชีวิตยังต้องดำเนินอยู่ ธุรกิจจะต้องดำเนินการต่อไป แม้จะเต็มไปด้วย ความยากลำบากเต็มไปด้วยขวากหนาม เป็นสัจธรรมของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายที่เราจะต้องเอาชนะให้ได้..