เปลี่ยน 'ขาดทุน' ให้เป็น 'ลงทุน'

เปลี่ยน 'ขาดทุน' ให้เป็น 'ลงทุน'

การลดคนในช่วงวิกฤต ถือการแก้ปัญหาระยะสั้น หากต้องขาดทุนอยู่แล้ว จะเปลี่ยน การขาดทุนให้เป็นการลงทุนอย่างไร

แม้ที่ผ่านมาจะเริ่มผ่อนปรนให้หลายกิจการกลับมาเปิดดำเนินการภายใต้กรอบการป้องกันโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการรักษาระยะห่าง ปรับเวลาเคอร์ฟิว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างมันจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ดิฉันมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของกิจการหลายท่านในช่วงนี้ ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบทางธุรกิจมากน้อยต่างกันไป แม้จะไม่ได้ยอดขายเหมือนเดิม แถมต้องเปิดกิจการแบบขาดทุนด้วยซ้ำ แต่ก็มีเจ้าของกิจการจำนวนมากที่วิเคราะห์สถานการณ์แบบไม่เข้าข้างตัวเอง และยังคงเห็นอนาคตอันสดใสหลังวิกฤต จึงเลือกที่จะดำเนินกิจการต่อไป ตอนนี้ขอแค่มีรายได้เข้ามาเพื่อหล่อเลี้ยงพนักงานที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว

แน่นอนการลดคนในช่วงวิกฤต คือการแก้ปัญหาระยะสั้น ข้อคิดที่น่าสนใจคือ หากต้องขาดทุนอยู่แล้ว จะเปลี่ยน การขาดทุนให้เป็นการลงทุนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเตรียมคน ปรับทักษะ เตรียมกลยุทธ์ เตรียม Business Model ใหม่ ที่ไม่ต้องนั่งสวดมนต์รอให้สงครามเชื้อโรคครั้งนี้จบลง ก็พร้อมลุยเพราะมีคนและรูปแบบองค์กรใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม 

สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้หากมีคนที่ใช่

1.ในวิกฤต Mindset มาก่อน Skill

การเตรียมคนให้พร้อมรับและลุยหลังวิกฤต ทัศนคติสําคัญกว่าทุกสิ่ง ทุกๆ วิกฤตที่เกิดขึ้นจะมีคนรอดและคนไม่รอด จะมีคนเห็นโอกาสและเห็นอุปสรรค ทั้งหมดเริ่มต้นจากทัศนคติและมุมมอง (Mindset) ดังน้ันองค์กรต้องเลือกคนที่มีมุมมองเฉกเช่นนักรบ พร้อมสู้ไปสู่ชัยชนะด้วยกัน เราอาจไม่รู้หรอกว่ามันจะเวิร์คไหม แต่คนมีมุมมองพร้อมเปลี่ยน พร้อมลุยไปด้วยกัน ไม่ใช่คิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ วันๆ ร้องหาแต่ความชัดเจน และภาวนาให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิม 

เชื่อหรือไม่ในช่วงวิกฤตนี้ กําลังมีคนไทยกว่า 7 ล้านคนที่ตกงาน มีหลายกิจการต้องปิดตัว มีเจ้าของกิจการอีกหลายคนที่บอบช้ำจากการยอมขาดทุนเพื่อเลี้ยงลูกน้องให้ได้นานที่สุด แต่ก็มีเจ้าของกิจการจำนวนไม่น้อยที่มาระบายความปวดใจให้ฟังถึงคนอีกจํานวนหนึ่งที่ยังคงมีงานทำและยังมองไม่เห็นว่าตัวเองโชคดี กลับน้อยเนื้อต่ำใจ และโพสต์ลงโซเชียลกับความรู้สึกไม่โอเคที่บริษัทมีนโยบายลดค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่บริษัทตัวเองกําลังขาดทุน นี่แหละที่เรียกว่า Mindset

2.“คนที่ใช่” = สําหรับอนาคต

คนที่ใช่คือคนที่ใช้โอกาสจากวิกฤตนี้ ด้วยการสร้างโอกาสและคุณค่าให้กับตัวเอง ผู้นําองค์กรหลายคนเจอเพชรเม็ดงามก็ช่วงวิกฤตนี่แหละ ได้โอกาสมองเห็นศักยภาพของพนักงานบางคนได้อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยอยู่ในสายตา วิกฤตเป็นเวลาที่พนักงานต้องใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด ในขณะที่องค์กรต้องคัดกรองพนักงานที่ใช่สําหรับอนาคตเช่นกัน มีผู้นำองค์กรหลายคนที่สงสัยมานานว่าพนักงานคนนี้ใช่หรือไม่ใช่ ในช่วงที่กิจการปกติดี องค์กรก็ปิดตาข้างหนึ่ง โดยเลือกมองแต่ข้อดีของคนๆ นี้ จึงอยู่รอดมาได้  วันนี้จะเป็นโอกาสให้องค์กรตัดสินใจง่ายขึ้นว่าข้อดีที่พยายามหามานานมันเหมาะกับอดีตหรืออนาคตขององค์กรกันแน่  

3.ทักษะแบบไหนที่ต้องการสำหรับอนาคต

เรื่อง Reskill และ Upskill เป็นอีกคำฮิตคล้าย New Normal หลายองค์กรรีบหาทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล สิ่งที่น่ากลับมามองคือจะ Up หรือ Re ทักษะใดนั้น อย่าเพียงทําตามกระแส ให้กลับมาดู Business Model และ Strategy เป็นหลักว่าอนาคตองค์กรจะไปทางไหน ต้องการงานแบบไหน ทักษะแบบไหน และปัจจุบันเรามีคนที่มีทักษะเหล่านี้หรือไม่ จึงค่อยลงทุน Reskill หรือ Upskill ทักษะเหล่านี้