การใช้เวลาจึงมีอีกมิติหนึ่งคือการใช้ชีวิต
ความเสมอภาคที่ทุกคนมีเท่าเทียมกันเสมอ คือ “เวลา” ที่ไม่ว่าจะรวยจะจน ก็ล้วนมีเวลาปีละ 52 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 7 วัน และวันละ 24 ชั่วโมงเท่าเทียมกันหมด แต่การจัดสรรเวลาที่แต่ละคนล้วนใช้เวลา ไม่เหมือนกันกลับทำให้บางคนประสบความสำเร็จ แต่กับบางคนกลับล้มเหลว
ความสำเร็จในที่นี้ไม่จำกัดว่า ต้องเป็นความสำเร็จที่วัดได้ด้วยความมั่งคั่งร่ำรวย แต่หมายถึงเป้าหมายในชีวิตที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ซึ่งเรามักจะพบว่าคนที่บริหารจัดการเวลาได้ดีที่สุดมักจะเป็นคนที่ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการในชีวิตได้เร็วกว่าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ข้าราชการ พนักงานประจำ ศิลปิน ฯลฯ ก็ล้วนต้องใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับเรื่องของเวลา แต่ละคนจะใช้เวลากับสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่รูปแบบการใช้เวลาในชีวิตประจำวันจะสะท้อนออกมาเป็นบุคลิกประจำตัวของแต่ละคน
ค่านิยมในการเปรียบเทียบว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” ที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ จนดูเหมือนว่าทั้ง 2 อย่างนี้เชื่อมโยงถึงกันซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเรามักพบว่าคนมีความสามารถสูงมักใช้เวลาที่ผ่านมาสร้างประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีคุณค่าจนทำให้ดูเหมือนมีเวลาเท่าไรก็ไม่เพียงพอเพราะใช้สร้างคุณค่าเพิ่มเติมได้เสมอ คนกลุ่มนี้จึงรู้สึกว่าเวลาเดินเร็วมาก
ตรงกันข้ามกับคนที่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปอยู่เป็นประจำ คนกลุ่มนี้มักบ่นว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า และเวลาที่ผ่านไปก็ไม่ได้สร้างอะไรให้งอกเงยขึ้นในชีวิตจึงรู้สึกไร้ค่าไร้ความหมาย หากเคยตั้งเป้าหมายอะไรไว้ก็จะพบว่าเวลาจะหมดก่อนทำอะไรได้สำเร็จทุกครั้ง
ในมิตินี้เวลากับเงินทอง จึงไม่ได้ต่างกันสักเท่าไรนัก เพราะทั้ง 2 อย่างหากถูกใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ก็มักจะหมดลงอย่างรวดเร็ว เวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหากบริหารจัดการได้ไม่ได้ก็มักจะหมดไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็นจนผ่านไปเป็นเดือนและเป็นปีอย่างรวดเร็วโดยไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ เช่นเดียวกับทรัพย์สินเงินทอง ที่บางคนอาจมีต้นทุนที่ดีคือมีมรดกที่ได้มาจากบรรพบุรุษแต่หากใช้ฟุ่มเฟือยทรัพย์สมบัตินั้นก็ย่อมหมดลงสักวันหนึ่ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้คนหนุ่มคนสาวอาจยังมองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก แต่กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่วัยกลางคนซึ่งมักจะสายเกินไปเสียแล้ว
การบริหารเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องใส่ใจตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ใหญ่เองก็ต้องปลูกฝังเรื่องการใช้เวลาให้กับเด็ก ๆ เพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดเป็นวินัยในการใช้ชีวิต และมีระเบียบในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นในแต่ละวัน เพราะการจัดสรรเวลาให้เหมาะสมในแต่ละวัน ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการบริหารจัดการเหมือนกับ การบริหารธุรกิจหรือจัดการระบบราชการ แต่มันคือการ “บริหารชีวิต” และการใช้เวลาจัดการกับเรื่องต่าง ๆในแต่ละวันก็ล้วนเป็นวิถีชีวิตที่เราทำไปโดยไม่รู้ตัว
สุดท้ายแล้ว การบริหารชีวิตของเราก็จะสะท้อนออกมาเป็นตัวตนของเรา เป็นบุคลิก ลักษณะ และเป็นสิ่งที่ทุกคนมองเห็นและยอมรับว่านี้คือตัวตนของเรา คนที่จัดการเวลาได้อย่างแม่นยำ บริหารทุกชั่วโมงได้อย่างรัดกุม มีแบบแผนและใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ก็จะมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ และคนในสังคมให้การยอมรับ
อีกคนที่ใช้เวลาแบบยืดหยุ่น ไม่เคร่งครัดมากนัก แต่ก็สามารถจัดการให้งานในแต่ละวันก็จะมีบุคลิก ที่แตกต่างออกไป ซึ่งทั้ง 2 คนก็ล้วนได้รับความเชื่อถือและการยอมรับเหมือนกัน ในขณะตรงกันข้ามกันคนอีกประเภทหนึ่งที่ไม่อาจรับปากใครหรือไม่สามารถรับผิดชอบอะไรได้ เพราะมักเป็นเพราะไม่จัดสรรเวลาให้เหมาะสม
คนกลุ่มนี้ก็มักจะมีบุคลิกที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ แม้รับปากแล้วก็มักจะทำไม่สำเร็จโดยมีข้ออ้างมากมาย จนคนรอบข้างไม่กล้าให้รับผิดชอบงานเพราะมีความเสี่ยงที่จะทำไม่ได้ตามเป้า กลายเป็นบุคลิก ด้านลบที่คนทั่วไปมองเห็นและล้างออกจากความทรงจำได้ยากมาก
การใช้เวลาจึงมีอีกมิติหนึ่งคือการใช้ชีวิต ที่คนอื่นสามารถตัดสินได้ว่าเรามีอุปนิสัยและบุคลิกเป็นอย่างไร ก็ดูได้จากการใช้เวลานี่เอง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
อากาศวันนี้ ไทยตอนบนยังคงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 12°C กทม. มีหมอกบางตอนเช้า
23 ธ.ค. 2567 | 7:04ในหลวง-ราชินี เสด็จฯ ในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุย พระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทอดพระเนตรการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติฯ
22 ธ.ค. 2567 | 21:54กองปราบ ค้นเป้าหมาย 4 จุด หาหลักฐานเพิ่มคดีสังหาร 'สจ.โต้ง'
22 ธ.ค. 2567 | 20:50