5 แนวทางลดขยะอาหาร ลดโลกร้อน

5 แนวทางลดขยะอาหาร ลดโลกร้อน

ปัจจุบันมีคนส่วนหนึ่งในสังคมที่ไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ในขณะที่มีอาหารทั่วโลกถูกทิ้งราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้น

และในประเทศไทย “ประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร” ประโยคที่เรามักได้ยินกันบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่น้อยครั้งที่ต้องพบเจอกับปัญหา “ขยะอาหาร” ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างเหลือเชื่อ…

การสูญเสียอาหารและขยะอาหารยังเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดในปี 2558 เป้าประสงค์ที่ 12.3 อีกด้วยว่า ลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่ง ในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานรวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573”

ขยะอาหารจากจาน จากครัว จากตลาดและร้านค้า

ถ้าอธิบายกันแบบเข้าใจง่ายๆ ขยะอาหารเป็นอาหารที่พวกเรากินทิ้งกินขว้าง เหลือกิน รวมไปถึงอาหารหมดอายุ ผักผลไม้ที่มีตำหนิและตกเกรด ซึ่งถูกนำเอาไปทิ้งกลายเป็นขยะนั่นเอง เราจึงเรียกสิ่งเหลือทิ้งนี้กันว่า “ขยะอาหาร” (Food Waste) ซึ่งถ้าพูดกันตามความเป็นจริงขยะอาหารบางส่วนที่ถูกทิ้งเหล่านั้น สามารถนำมากินหรือใช้ประกอบอาหารได้ หากลงมือป้องกันก่อนพวกมันจะกลายเป็นขยะ

ขยะอาหาร มีส่วนทำให้โลกร้อนจริงหรือ

ขยะอาหารในเมืองใหญ่ต่างๆ ของประเทศที่ถูกนำไปกำจัดในแต่ละวัน มีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 ของขยะทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากบ้านเรือน ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และตลาด รวมถึงกิจกรรมการจัดเลี้ยงจัดประชุม และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขยะอาหารเหล่านี้เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนเกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจก เช่น การเผาไหม้ และการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนซึ่งทำให้เกิดก๊าซมีเทน (CH4) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนของการกำจัดขยะอาหารในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธี “ฝังกลบ” และวิธีนี้เองเป็นต้นเหตุของการเกิดก๊าซมีเทนรวมถึงก๊าซอื่นๆ ที่มีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

159480146049

เห็นหรือไม่ว่า ขยะอาหาร เป็นปัญหามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัญหาอื่นๆ ที่เราทุกคนมีส่วนทำให้เกิดขึ้น จึงต้องช่วยกันแก้ หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไร ขอตอบอย่างเร็วว่าจะดีกว่าไหมถ้าวิถีการกินอาหารของเราช่วยลด “วิกฤตโลกร้อน” ได้ เพียงเริ่มต้นใส่ใจให้มากขึ้น

159480148553

การจัดการขยะอาหาร ที่ใครๆ ก็ทำได้

1.วางแผนก่อนการซื้อ ควรตรวจสอบอาหารที่มีอยู่ วางแผนรายการอาหารและซื้อวัตถุดิบให้พอดีกับที่บริโภค งดพฤติกรรมซื้อมาตุนไว้จนกินไม่ทัน

2.รู้คุณค่าและความพอเหมาะ เตรียมอาหารให้พอเหมาะกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว ลดเศษวัตถุดิบจากการเตรียมอาหาร ตักอาหารให้พอดีกิน ไม่ตักในปริมาณที่มากเกินไป กรณีไปกินที่ร้านอาหาร หากกินไม่หมดสามารถห่อกลับ เก็บไว้กินมื้ออื่น หรือหากมีอาหารเหลือควรนำมาแปรรูปประกอบอาหารเมนูอื่น

3.รักษาอย่างถูกวิธี เก็บรักษาให้เหมาะสมกับประเภทอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรใส่ของในตู้เย็นแน่นเกินไปจนความเย็นกระจายไม่ทั่วถึง และคอยตรวจเช็คสภาพอาหาร รวมถึงวันหมดอายุอยู่เสมอ

4.ทำบุญโดยไม่สร้างขยะอาหาร เตรียมอาหารสำหรับทำบุญในปริมาณที่เหมาะสม

5.เหลือก็แบ่งปัน นำอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น การมอบอาหารให้ผู้อื่นที่ต้องการ นำไปเป็นอาหารสัตว์ นอกจากจะช่วยลดปริมาณอาหารแล้ว ยังเป็นการแบ่งปันน้ำใจให้กับสังคมอีกด้วย

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย พร้อมหรือยัง ที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มาร่วมกันจัดการขยะอาหารอย่างเข้าใจ เราทำได้ คุณก็ทำได้ ร่วมกันทำให้โลกนี้น่าอยู่ และลดภาวะโลกร้อนไปด้วยกัน

โดย... 

สันธิลา ปิณฑะคุปต์

ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย