การลงทุนในสภาวะ P/E เฟ้อ
เหตุผลหลักๆที่ผลักดันตลาดหุ้นขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นเรื่องของสภาพคล่องจากการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางหลักๆทั่วโลก
ทำให้ตลาดหุ้นหลายๆประเทศปรับตัวขึ้นกันหมดรวมทั้งตลาดหุ้นไทย สภาพคล่องที่ไหลไปรวมอยู่ในตลาดหุ้นทั่วโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า ค่า P/E เฟ้อ เช่นเดียวกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่มีการอัดฉีดเงินไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายซื้อสินค้า ซึ่งถ้าอัดฉีดมากเกินไปก็จะทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นเกิดสภาวะเงินเฟ้อได้ มาตรการ QE ที่เกิดขึ้นจากหลายๆประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบการเงินอย่างมหาศาล การใช้จ่ายจึงไม่ได้ไปเกิดขึ้นแค่สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ไปเกิดขึ้นในตลาดหุ้นด้วยทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้ค่า P/E นั้นปรับตัวแพงขึ้นหรือเฟ้อขึ้นเรื่อยๆ
การประเมินว่าค่า P/E ของตลาดหุ้นทั่วโลกและของไทยจะไปได้ขนาดไหน P/E 20 เท่าแพงไปไหมหรือยังถูกไปเทียบกับสภาพคล่องที่อัดฉีดเข้ามา เป็นเรื่องที่ประเมินยากมาก ยิ่งถ้าดูจากปัจจัยพื้นฐานแล้วยิ่งยากและมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆกับการคาดหวังตรงนี้ แต่ถ้าเรานำข้อเท็จจริงที่ว่าสภาพคล่องที่อัดฉีดเข้ามาจะไม่ถูกดึงกลับไปเร็วๆนี้ และอาจจะมีเพิ่มขึ้นถ้าสถานการณ์แย่ลงไปอีก กลยุทธ์การลงทุนในครึ่งหลังของปีนี้ผมมองว่าจะแบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกคือการที่สภาพคล่องที่ยังมีอยู่ในระบบการเงินและจำเป็นต้องไปพักในสินทรัพย์อื่นๆนอกจากพันธบัตรรัฐบาล(เพราะอัตราผลตอบแทนแทบไม่เหลือแล้ว) ถ้าเราเลือกสินทรัพย์ต่อไปได้ถูกกลุ่มก็จะสามารถทำกำไรได้จากราคาที่เฟ้อขึ้นจากการกระจุกตัวของสภาพคล่อง สำหรับหุ้นก็ต้องเป็นการเลือกหุ้นกลุ่มที่สามารถทนทานกับสถานการณ์เศรษฐกิจจากนี้ไปได้ และน่าจะมีโอกาสปรับขึ้นไปเทรดที่ P/E สูงเป็นพิเศษได้อีก ที่ผมใช้คำว่าทนทาน แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นหุ้นโดดเด่น เพราะมองว่าสถานกาณ์ตอนนี้การหาหุ้นที่มี Growth หรือได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะไม่ทันแล้วหรือบางตัวเทรดกันที่ P/E มากกว่า 80 เท่าไปแล้ว หุ้นกลุ่มที่ทนทานคือหุ้นที่สามารถประคองธุรกิจไปได้เรื่อยๆ อาจได้รับผลกระทบขาดทุนบ้างหรือกำไรลดลง แต่ทนทานผ่านงบดุลที่แข็งแกร่ง หนี้น้อย และมีกระแสเงินสดที่เพียงพอประคองไปได้เรื่อยๆ หรือหุ้นบางกลุ่มมีหนี้สูงแต่เป็นหนี้บนโปรเจคที่มีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างมั่นคง มีโอกาสสูงมากที่หุ้นกลุ่มนี้จะเป็นที่พักเงินอย่างปลอดภัยและปรับขึ้นไปเทรดที่ P/E สูงมากกว่าในอดีตได้อย่างมาก
ถ้าเราเลือกหุ้นกลุ่มที่มีโอกาส P/E ปรับตัวขึ้นไปสูงแล้ว ก็ต้องอย่าลืมว่าความเสี่ยงที่ P/E ตลาดหุ้นโดยรวมอาจะปรับตัวลงแรงเหมือนกัน ตลาดหุ้นไทยที่ระดับ P/E เกือบๆ 20 เท่า กลยุทธ์การลงทุนส่วนที่สองจึงเป็นเรื่องของการใช้เครื่องมือลดความเสี่ยงพอร์ทลงทุนบนดัชนีไว้ เพื่อ Hedge ความเสี่ยงของหุ้นที่เราเลือกไว้ในช่วงที่ผลประกอบการในไตรมาส 2 เริ่มทยอยออกมา ในเดือนกรกฎาคมนี้เริ่มเห็นสัญญาณการใช้เครื่องมือลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่นปริมาณการซื้อขาย SET50 DW Put ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในเดือนกรกฎาคมนี้มียอดเฉลี่ยต่อวันประมาณ 2,300 ล้านหน่วย ซึ่งสูงสุดตั้งแต่เดือนมีนาคม (ดูรูปประกอบ) หรือแม้กระทั่ง SET50 Options บนกระดาน TFEX สถานะคงค้าง Open Interest (OI) ในช่วงกลางเดือนก.ค.นี้ ฝั่ง Put Option มีเพิ่มขึ้นมามากกว่า Call Option กว่า 2 เท่าตัว โดย ณ วันที่ 16 ก.ค.63 OI ของ Put Option สูงประมาณ 21,000 สัญญา ขณะที่ Call Option มีประมาณ 9,000 สัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการลงทุนในฝั่งขาลงเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างชัดเจน