New Normal of Learning
Asia School of Business จัดเวิร์คชอปให้กับคนเรียนทั้งในและนอกองค์กร ภายใต้หัวข้อ Covid-19 and The Future of Education
Professor Rajesh Nair จาก MIT ผู้อำนวยการสถาบัน Innovation and Entrepreneurship Center ของ Asia School of Business จัดเวิร์คชอปให้กับคนเรียนทั้งในและนอกองค์กร ภายใต้หัวข้อ Covid-19 and The Future of Education
ความน่าสนุกคือการใช้ Platform ชื่อ Miro ในการระดมสมองผู้เรียน ซึ่งอยู่ในสถานที่ต่างๆกัน บ้างก็ Work From Home อยู่ในเคแอล บ้างก็อยู่ประเทศอื่น กลางวันก็มีกลางคืนก็มี มานั่งคุยกันแบบไร้พรมแดน
เราเริ่มด้วยการวอร์มอัพ Optimism vs Empowerment โดยเราสามารถขยับตำแหน่งของ Post-It แบบดิจิทัลไปวางตรงไหนก็ได้ เมื่อมีผู้เข้าร่วมสัมนาเกือบสามสิบคน ก็จะเห็นกระดาษสีๆลอยไปลอยมาว่อนไปหมด คล้ายเล่นผีถ้วยแก้ว รอบนี้เล่นเพียงเพื่อให้คนคุ้นกับระบบ ยังไม่สนใจผล
กิจกรรมที่สองคือการ Predict Domino Impacts of Covid-19 ใช้เครื่องมือ Mind Map ที่ผมโปรดปราน พิเศษคือทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างได้ ยืดตรงนั้น หดตรงนี้ ใครคิดหนึ่ง ก็จะมีคนมาต่อสอง สาม และสี่ แทบกะพริบตาไม่ทัน เราใช้เวลาอยู่ตรงนี้ประมาณ 20 นาที
บางเรื่องเป็นมุมมองน่าคิดมากเช่น Depression among citizens due to isolation and unemployment ผลกระทบทางจิตใจต่อมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม แต่ถูกจำกัดบริเวณให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ยิ่งตกงานสภาพความคิดยิ่งแย่ หรือ Redefined parent-children relationships ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับคนในครอบครัว การต้องติดอยู่ด้วยกันเยอะไม่ได้แปลว่าดีเสมอไป บางบ้านยิ่งเห็นหน้ากันทุกวันยิ่งทะเลาะก็มี
กิจกรรมที่สาม Opportunity and Threat for the Education Industry เจาะลึกลงไปอีกนิด โปรเฟสเซอร์แนร์แบ่งคนเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 3-4 คน โดยใช้ฟังค์ชั่น Breakout Room ของ Zoom ให้เราวิเคราะห์ไอเดียจากในบอร์ด Domino และสรุป Opportunities and Threats หลักๆของโลกหลัง Covid ต่ออุตสาหกรรมการศึกษา
กิจกรรมสุดท้าย เราช่วยกัน Predict the Future Outcomes สังเคราะห์ว่าอนาคตของโลกต่อไปจะเป็นอย่างไร สร้าง Scenarios ต่างๆกันเพื่อวางแผนรองรับ
ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง
From Knowledge Creation to Provider of Learning Platforms อุตสาหกรรมการศึกษาจะเปลี่ยนจาก ‘ผู้รู้’ ไปเป็น ‘ผู้รวบรวม’ หลักการคิดคล้ายกับที่ Amazon.com หรือ Alibaba เปลี่ยนอุตสาหกรรมค้าปลีกจาก ‘ผู้ขาย’ ไปเป็น ‘ผู้แทนขาย’ ผ่านโลกดิจิทัล โรงเรียนอาจเปลี่ยนจากการจ้างอาจารย์ประจำมาใช้วิธี ‘สอนตามสั่ง’ บริษัทที่ทำคอนเท้นต์อาจจะจับมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อแบ่งส่วนงานกัน โดยสถาบันมุ่งเน้นด้านอุปกรณ์สื่อการสอน เทคโนโลยี ส่วนบริษัทก็โฟกัสในสาขาความรู้ที่ตัวเองชำนาญ เช่น ทำคอนเท้นต์ด้าน Leadership ด้าน Finance ด้าน Economics เป็นต้น เส้นทางอาชีพของอาจารย์จากการมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัย ก็อาจกลายเป็นซีอีโอของบริษัทคอนเท้นต์ของตนเอง
Universities and colleges will be fully virtual ในทำนองเดียวกัน การเรียน ‘ทีไหน’ อาจะไม่สำคัญเท่ากับการเรียน ‘อย่างไร’ ตัวอย่างดีที่สุดคือเจ้าเวิร์คชอปที่ผมเข้านี่แหละ ไม่ต้องมีแคมปัสใหญ่โต ไม่ต้องมี Asset ให้อุ้ยอ้าย ทั้งครูทั้งนักเรียนต่างก็นั่งอยู่บ้าน แล้วเข้ามาแจมเรียนด้วยกันไป เครื่องมืออย่าง Miro จะเป็นโอกาสใหม่ๆให้คนเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่รวมถึงเทคโนโลยีเช่น VR Virtual Reality, AR Augmented Reality หรือ Hologram ล้วนเป็นคำตอบที่รอเราอยู่ในอนาคตอันใกล้
In-person class for human-human interaction need to be enhanced ในมุมกลับกัน วิชาสาขาศิลปศาสตร์จะกลับมามีความสำคัญยิ่งต่อการสอนแบบ Face-to-face มนุษย์อาจต้องกลับมาเรียนวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์และอยู่ร่วมกัน คิดง่ายๆเหมือนกับต้องสอนหุ่นยนต์ให้รู้จักความเป็นมนุษย์ สมองเราเคยเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ด้วยการวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น ชกต่อยกันหลังโรงเรียน หรือกอดกันร้องไห้ยามใครอกหัก เราไม่สามารถเรียนเรื่องพวกนี้ได้ด้วยการจ้องหน้าจอ เมื่อก่อนนี้งานหลักของผมส่วนหนึ่งก็คือการพัฒนาผู้นำให้เข้าถึงเรื่องความคิดและจิดใจของคนในทีม หลังโควิด ภารกิจนี้ดูอาจจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
ก่อนโควิด เราก็เริ่มเห็นปัญหาของ ‘สังคมก้มหน้า’ ซึ่งพ่อ แม่ ลูก ล้วนง่วนอยู่กับโทรศัพท์มือถือตรงหน้า เด็กหลายคนโตมากับ iPad, iPhone, และ YouTube จนขาดทักษะการสื่อสารต่อกันและกัน พอเจอโควิดเข้าไป ที่เคยเป็นแค่อาการขั้นต้นอาจขยับเข้าสู่อาการสาหัส
“I enjoyed our deeply engaging discussions at the event. Maybe we could ideate on solution strategies for these challenges sometime” โปรเฟสเซอร์แนร์กล่าวขอบคุณเมื่อเวิร์คชอปจบลง
หากคุณผู้อ่านมีโอกาส ลองเข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ดู เป็น virtual event ที่ให้คนจากหลายๆหลายๆแห่ง เข้ามาร่วมเสวนา ร่วมสังสรรค์ ร่วมระดมความคิดกัน จะได้พอเห็นภาพอนาคตที่เป็น New Normal of Learning ครับ