กฎหมายควบคุมเกม (1) พรพล เทศทอง
เมื่อ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง “ร่างกฎหมายเกม...เส้นทางสู่ความรับผิดชอบของใคร”
ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จัดขึ้นโดย กสทช. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยเป็นการจัดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่ สกสว. ได้ให้ทุนสนับสนุนในการยกร่างกฎหมาย ซึ่งเป้าหมายในการจัดเวทีในครั้งนี้มุ่งเน้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็น จากผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้จากหลายภาคส่วน
ที่มาของการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้มาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2561 โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นปี พ.ศ. 2562 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยออกเป็นมติเรื่อง “ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก” ซึ่ง 1 ใน 4 ของข้อย่อยในมตินี้ กำหนดให้มีการจัดทำร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการเกมในประเทศไทยรวมไปถึงอีสปอร์ต
โดยหลักเกณฑ์ในการยกร่างนี้กำหนดไว้ 4 ประการ คือ 1) ให้สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยสร้างมาตรฐานการแข่งขันอีสปอร์ตที่ปลอดภัยและปกป้องคุ้มครองเด็กจากการเล่นเกม 2) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดเวทีเสวนาสาธารณะ จัดทำวิจัย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจคำว่า “เกม” และ “อีสปอร์ต” อย่างถูกต้อง 3) ให้มีการเฝ้าระวังการเล่นเกมในประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกสุขลักษณะ สุขภาวะ ไม่เกิดผลลบฝ่ายใดฝ่ายนึงจนเกิดปัญหาในสังคม 4) ให้บังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่
แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่พบกฎหมายใดเลยที่สามารถนำมาบังคับใช้ในการกำกับดูแลกิจการเกมโดยตรงที่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติสมัชชาสุขภาพ ซึ่งในขณะที่ต่างประเทศได้มีการพัฒนาในส่วนของกฎหมายนี้ไปแล้ว ดังนั้นส่งผลให้เกิดการศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “ร่างกฎหมายการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ....”
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยกร่างขึ้นมาจาก 3 หลักการที่สำคัญคือ 1) หลักการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน 2) หลักความรับผิดจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย และ 3) หลักธรรมาภิบาลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนากฎหมายร่วมกัน ประกอบด้วยเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วน ดังต่อไปนี้คือ 1) บททั่วไป (ชื่อ วันบังคับใช้กฎหมาย บทนิยาม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง) 2) หมวด 1 คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ (องค์ประกอบคณะกรรมการ กรรมการผู้ทรวงคุณวุฒิ อำนาจหน้าที่ และกองทุน) 3) หมวด 2 การกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกม (การพิจารณาเกมและจัดสรรความเหมาะสมกับอายุ และการประกอบกิจการเกม) 4) หมวด 3 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับธุรกิจเกม (การแข่งขัน หน้าที่ของสถาบันการศึกษา การเพิ่มขอบเขตข้อห้ามเกี่ยวกับการพนัน และการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์) และ 5) หมวด 4 บทกำหนดโทษ (ความรับผิดทางแพ่ง ทางปกครอง และโทษทางอาญา)
หน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้คือ คณะกรรมการกำกับดูแลและการประกอบกิจการเกม ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ในการออกนโยบายและกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบาย โดยมีคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ทำหน้าที่ในหลายด้าน แบ่งออกเป็น คณะอนุกรรมการบริหารกองทุน คณะอนุกรรมการกำกับดูแลเกม คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการเกม คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการสื่อสารโฆษณา และกิจกรรมที่เกี่ยวกับเกม คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามกฎหมายนี้
ขอบเขตการใช้อำนาจของคณะกรรมการฯและคณะอนุกรรมการฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้คือ 1) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเกมต่าง ๆ เป็นเกมที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและโปร่งใส 2) ป้องกันเด็ก เยาวชน และผู้ได้รับความคุ้มครอง จากภัยที่อาจเกิดจากการพนันที่เกี่ยวข้องกับเกม หรือปัญหาจากการติดเกม 3) กำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข ควบคุมการใช้เวลาในการเล่นเกม และช่วยเหลือบำบัดเด็ก เยาวชน และผู้ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการติดเกม หรือการพนันที่เกี่ยวข้องกับเกม หรือปัญหาอื่นที่เกิดจากปัญหาการติดเกม 4) กำหนดแนวทางการจัดการควบคุมแนวทางการโฆษณา การเล่นเกม การจัดการแข่งขันเกม รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวกับเกมของเด็ก เยาวชน และผู้ได้รับความคุ้มครอง โดยห้ามมิให้มีการโฆษณา หรือให้รางวัลเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และยาเสพติด และ 5) กำหนดแนวทางป้องกันแก้ไขการทำธุรกิจ หรือการประกอบกิจการเกม หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกม ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมแก่เด็ก เยาวชน ผู้ได้รับความคุ้มครอง และผู้ปกครองดูแล หรือในลักษณะขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังได้มีการกำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เกม การประกอบกิจการเกม การแข่งขันเกม การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมลักษณะใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ ต้องขึ้นทะเบียน หรือต้องได้รับใบอนุญาตก่อน แล้วแต่กรณี เพื่อให้สอดคล้องการพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นไปภายใต้การขออนุญาตจากคณะกรรมการฯ
นอกจากนี้ สาระสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้อำนาจคณะกรรมการฯและคณะอนุกรรมการฯในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มุ่งเน้นในการใช้อำนาจเพื่อป้องกันเป็นหลัก มุ่งเน้นการลดปัญหาของการเล่นเกมมากเกินไปหรือปัญหาการติดเกม โดยจะเห็นได้จากการให้อำนาจคระกรรมการฯและคณะอนุกรรมการฯ ในการสั่งห้ามการแข่งขัน ให้อนุญาตการให้บริการ กิจกรรมให้เช่า แลกเปลี่ยน จำหน่ายเกม สั่งให้หยุดการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ที่ฝ่าฝืนตามกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งยังมีอำนาจในการสั่งการหรือกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้ประกอบกิจการเกม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันเกมหรือผู้โฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกม ปฏิบัติ หรือให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการฯหรือคณะอนุกรรมการฯกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้
โดย...
พรพล เทศทอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์