ต้องช่วยกัน...สร้างความเป็นธรรม
หลังจากสำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ที่เคยสังกัดภายใต้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้แยกตัวออกมาเป็น
“สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)” ซึ่งเป็นหน่ายงานของรัฐที่เป็นอิสระตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 แล้ว ทาง สขค. ได้เร่งสะสางคดีคงค้าง โดยเฉพาะคดีเก่าที่เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ. การแข่งขันฯ พ.ศ. 2560 จะถูกประกาศใช้ในเดือนต.ค.2560 และ ยังดำเนินการกับคดีใหม่ที่ถูกร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
สขค.ได้สร้างกระบวนการทำงานในการบริหารคดีอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียนจนถึงขั้นตอนการดำเนินคดี กล่าวคือ เมื่อมีเรื่องร้องเรียนซึ่งอาจถูกร้องเรียนจากผู้เสียหายหรือผู้พบเห็น ทั้งที่เป็นและไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออาจถูกร้องเรียนจากกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) หรือเจ้าหน้าที่ของ สขค. เองก็ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของ สขค. ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะนำเรื่องร้องเรียนเสนอต่อเลขาธิการ สขค. เพื่อมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า มีหรือไม่มีมูล และเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. การแข่งขันฯ หรือไม่ โดยมีระยะเวลา ในการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่เกิน 30 วัน จากนั้นผลของข้อเท็จจริงเบื้องต้นจะถูกนำเสนอต่อ กขค. เพื่อพิจารณาว่าควรรับเป็นคดีเพื่อดำเนินการต่อไปหรือไม่ หาก กขค. พิจารณาว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวไม่มีมูลหรือไม่เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ กขค. จะสั่งยุติเรื่อง และส่งเรื่องร้องเรียนพร้อมเหตุผลประกอบคำวินิจฉัยกลับไปยังเลขาธิการฯ เพื่อแจ้งต่อผู้ร้องเรียนต่อไป
ในกรณีที่ กขค. พิจารณารับเรื่องร้องเรียนเป็นคดีที่มีมูลหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การแข่งขันฯ กขค. จะพิจารณาต่อไปว่า พฤติกรรมทางการค้าที่มีแนวโน้มจะเป็นความผิดนั้น เป็นความผิดที่เป็นโทษทางอาญาหรือโทษทางปกครอง หากเป็นโทษทางอาญา กขค. จะตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน ซึ่งจะประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ทางคดีอาญาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ สขค. ซึ่งจะเป็นไปตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันฯ และหากพบการกระทำผิดก็จะต้องแจ้งข้อกล่าวหาไปยังผู้ถูกร้องเพื่อให้ผู้ถูกร้องได้นำเสนอหลักฐานเพื่อเป็นการโต้แย้ง จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ ต้องนำผลข้อเท็จจริงทั้งหมดเสนอต่อ กขค. เพื่อพิจารณาให้คำวินิจฉัย แต่หากคณะอนุกรรมการฯ ไม่พบการกระทำความผิด ก็ให้ทำรายงานข้อเท็จจริงเสนอต่อ กขค. เพื่อวินิจฉัยต่อไป ระยะเวลาในการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ คือ 12 เดือน นับจากวันที่ได้รับแต่งตั้งจาก กขค. หากแต่ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถขอขยายเวลาในการทำงานต่อไปได้อีกไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กขค.
หากเป็นโทษทางปกครอง กขค. จะพิจารณาร่วมกันว่าคดีดังกล่าวมีความซับซ้อนหรือไม่ หากพิจารณาว่า คดีมีความซับซ้อน กขค. จะตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดทางปกครอง โดยองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ จะต้องมีผู้ที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ทางคดีปกครองร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ สขค. คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง และหากพบการกระทำความผิดก็ให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้อง เพื่อให้ผู้ถูกร้องได้มีโอกาสโต้แย้งข้อกล่าวหา จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ ต้องทำรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดนำเสนอต่อ กขค. เพื่อพิจารณาให้คำวินิจฉัย แต่หากคณะอนุกรรมการฯ ไม่พบการกระทำความผิด ก็ให้นำข้อเท็จจริงทั้งหมดเสนอต่อ กขค. เพื่อวินิจฉัยต่อไป แต่หาก กขค. พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีไม่มีซับซ้อน กขค. จะมอบหมายให้เลขาธิการฯ แต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของ สขค. ทั้งหมด เพื่อทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง และจะมีกระบวนการทำงานคล้ายกับคณะอนุกรรมการฯ ชุดอื่นที่กล่าวมาข้างต้น คือ เมื่อสืบหาข้อเท็จจริงแล้ว หากพบการกระทำผิด ก็ให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกร้อง เพื่อให้ผู้ถูกร้องได้แสดงหลักฐานโต้แย้ง และให้ทำรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดเสนอต่อ กขค. เพื่อให้คำวินิจฉัย แต่หากไม่พบพฤติกรรมทางการค้าที่เป็นการกระทำความผิด ก็ให้นำข้อเท็จจริงทั้งหมดเสนอต่อ กขค. เพื่อพิจารณาให้คำวินิจฉัย เช่นกัน
ในคดีที่อาจเป็นโทษทางปกครอง ทั้งคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะทำงานที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง ต่างก็มีระยะเวลาในการทำงานไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่มีคำสั่งแต่งตั้งจาก กขค. และอาจขอขยายเวลาได้หากมีความจำเป็น โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก กขค. อีกไม่เกิน 30 วัน
ในการสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่หลักฐานในการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกร้อง นอกจากจะต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ รวมถึงประสบการณ์ของคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะทำงานแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่มิอาจปฏิเสธก็คือ ความร่วมมือในการให้ข้อมูลของผู้ร้องและพยานที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีข้อกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ทาง สขค. จะต้องเก็บข้อมูลของผู้ร้องและพยานเป็นความลับ หากข้อมูลถูกเปิดเผยสู่สาธารณะจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย รวมถึงผู้ร้องและพยานสามารถให้ข้อมูลโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อก็ได้ แต่ในความเป็นจริง บ่อยครั้งที่ทาง สขค. มักไม่ได้รับความร่วมมือในการเข้าถึงข้อมูลในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ร้องหรือพยานเปลี่ยนใจไม่อยากให้ข้อมูล เพราะเกรงจะกระทบธุรกิจ ของตนในอนาคต ผู้ร้องหรือพยานได้รับการติดต่อจากผู้ถูกร้องและตกลงยอมความกันเอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อ สขค. ได้รับเรื่องร้องเรียนหรือพบเห็นพฤติกรรมทางการค้าที่อาจเข้าข่ายความผิด สขค. ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กล่าวข้างต้น เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติแม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ร้องหรือพยานก็ตาม
เป็นที่ทราบกันดีว่า พ.ร.บ. การแข่งขันการค้า พ.ศ. 2560 มุ่งคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับ แต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทรงประสิทธิภาพและถูกใช้ให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ย่อมต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ความเป็นธรรมทางการค้าเกิดขึ้นได้ด้วยการร่วมกันสร้าง!