ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจ (1)

ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจ (1)

เศรษฐกิจไทยนั้นเหมือนกับคนที่กำลังแก่ตัวและมีปัญหาสุขภาพ ตั้งแต่ก่อนการระบาดของ COVID-19แล้ว เห็นได้จากการที่จีดีพีขยายตัวเพียง 2-4%

ในช่วง 2-3 ปีผ่านมาหรือครึ่งหนึ่งของการขยายตัวในอดีตที่จีดีพี เคยขยายตัว 6-7% อย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปีและเศรษฐกิจก็ย่อตัวลงไปอีกในปี 2019 เห็นได้จากการที่จีดีพีขยายตัวประมาณ 2.6% ในไตรมาส 1, 2 และ 3 แต่อ่อนตัวลงและขยายตัวเพียง 1.5% ในไตรมาส 4 หลังจากนั้นก็หดตัวลง 2.0% ในไตรมาส 1 ของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยเพียงเริ่มสัมผัสกับผลกระทบจาก COVID-19 และยังไม่ได้ทำการปิดประเทศ (lockdown)

ในช่วงก่อน COVID-19 นั้นปัจจัยที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญนั้นอาจสรุปได้ดังนี้

1.การส่งออกที่ลุ่มๆ ดอนๆ มานาน 2-3 ปีแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา

2.ประเทศไทยเป็น Detroit of Asia แต่รถไฟฟ้า(EV) กำลังเข้ามาตีตลาดรถสันดาปภายในที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

3.ประชากรไทยกำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานของไทยนั้นเริ่มลดลงมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว ดังนั้นการขาดแคลนแรงงานจึงจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต

4.ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังหมดลงทำให้ไทยต้องนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้น เช่น ก๊าซธรรมชาติจากพม่า ไฟฟ้าจากลาว และการต้องลงทุนโครงสร้างเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว

5.ดาวเด่นของประเทศไทยก่อน COVID-19 คือการท่องเที่ยว ซึ่งรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนในปี 2019 โดยเราคาดการณ์กันว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นปีละ 5% หรือ 2 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวทำรายได้ให้ประเทศไทยหัวละ 50,000 บาท ดังนั้นรายได้ในส่วนนี้จึงประเมินเอาไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท

6.อนาคตของเศรษฐกิจไทยนั้น รัฐฝากเอาไว้การลงทุนในอีอีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการเร่งด่วน 5 โครงการ ได้แก่ การสร้างรถไฟความเร็งสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาเมืองอู่ตะเภา การทำศูนย์การบำรุงเครื่องบินโดยบริษัทการบินไทยที่สนามบินอู่ตะเภา การขยายท่าเรืออู่ตะเภาและการขยายท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งทั้ง 5 โครงการดังกล่าวสะท้อนการที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศทั้งการขายสินค้าและการขยายบริการ กล่าวคือการส่งออกสินค้าและบริการของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของจีดีพี สูงกว่าการบริโภคภายในประเทศเสียอีก

เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างฉับพลัน โดยปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยประมาณ 6.7 ล้านคน เกือบทั้งหมดในไตรมาสแรกและหากมีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าประเทศไทยได้อีกใน 3 เดือนข้างหน้าก็คงจะเป็นหลักพันไม่ใช่หลักหมื่นหรือแสนคน ดังนั้นในปีนี้คงมีรายได้ส่วนนี้ประมาณ 3-4 แสนล้านบาทหรือน้อยกว่าปี 2019 เท่ากับ 1.6-1.7 ล้านล้านบาท 

ในปีหน้าผมคิดว่าหากสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ 6 ล้านคนก็คงจะดีมากแล้วหรือหากมีมาตรการคัดเลือกเฉพาะนักท่องเที่ยว/นักธุรกิจประเภท long stay ที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง เช่นหัวละ 7 - 8 แสนบาท ก็ย่อมหมายความว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าจะอยู่ที่หลักแสนคนไม่ใช่ 40 ล้านคนเช่นปี 2019 ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวก็คงจะกระจุกตัวอย่างมาก ดังนั้นรายได้ในส่วนนี้ก็คงจะอยู่ที่ระดับ 3-4 แสนล้านบาทเช่นเดียวกับปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจขาดรายได้ตรงนี้ไปประมาณ 1.6-1.7 ล้านบาทในปีหน้าเช่นเดียวกับปีนี้ แต่ปัญหาคือในปีหน้านั้นธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคงจะไม่มีสายป่านทางการเงินที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปและคงจะมีปัญหากับเจ้าหนี้ต้องปิดกิจการและปลดคนงานเป็นจำนวนมาก

ตัวเลขที่สะท้อนขนาดของปัญหาตรงนี้คือการที่มีลูกหนี้ 12.5 ล้านบัญชี มูลหนีรวมทั้งสิ้น 7.2 ล้านล้านบาทเข้ามาขอผ่อนปรนหนี้ในช่วง เม.ย. - ก.ย.ปีนี้ ซึ่งคำนวณได้ว่าเป็นสัดส่วนประมาณ 1/3 ของสินเชื่อทั้งระบบและได้มีการเรียกร้องให้ต่ออายุมาตรการดังกล่าวต่อไป แต่ผมเข้าใจว่าคงทำไม่ได้เพราะจะเสี่ยงกับการทำให้เสียวินัยทางการเงิน (moral hazard) กล่าวคือลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยปกติก็จะต้องถามว่าทำไมจึงจะต้องทำเช่นนั้นต่อไป นอกจากนั้นการไม่จ่ายดอกเบี้ยก็จะกระทบต่อรายได้ของธนาคารพาณิชย์อีกด้วย

ดังนั้นสภาวการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้โดยธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ คำถามคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยธนาคารพาณิชย์แบบต่างคนต่างทำนั้นจะสะท้อนความต้องการหรือผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศและส่วนรวมมากน้อยเพียงใด?

ซึ่งผมจะขอขยายความเรื่องนี้ในตอนต่อไปครับ