เหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนสารสาสน์ราชพฤกษ์ โดยครูต่อนักเรียนจนเกิดความไม่พอใจและการรวมตัวกันของผู้ปกครอง จนรมช.ศึกษาฯ สอบข้อเท็จจริง
เป็นหนึ่งในตัวอย่างของมายาคติความเชื่อแบบผิด ๆ ว่า จ่ายแพงแล้วจะได้คุณภาพที่ดีกว่า และเป็นการเปิดพรมการศึกษาไทยที่มีปัญหามากมาย และหนึ่งในนั้นคือเรื่องของความรุนแรงและการควบคุมคุณภาพการศึกษา การดูแลนักเรียนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจระหว่างที่อยู่ในโรงเรียน
เช่นเดียวกับในทุกอุตสาหกรรม วงการการศึกษาก็มีปัญหามากมายและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันบ้างเมื่อลงรายละเอียด แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต จิตใจ ควบคู่ไปกับความรู้แก่นักเรียนภายใต้สภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่จำลองสังคมที่เด็กจะก้าวเดินออกไปเจอจริงหลังจากโตขึ้น
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมีทั้งความรุนแรงทางร่ายกายและทางจิตใจ ในโลกปัจจุบันซึ่งมีความคิดโน้มเอียงไปในทางสันติวิธีจึงนิยมการลดความรุนแรงลง นโยบายงดการทำโทษจึงถูกปรับใช้กับโรงเรียนชั้นนำทั่วประเทศ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีคนอีกมากที่ยังให้ความเชื่อถือกับคติเดิมในทำนอง “ไม้เรียวสร้างคน”
ไม้เรียวสร้างคนนี้ก็ตรงกับ ทฤษฏีจิตวิทยาอันโด่งดังของ ดักลาส แมคเกรเกอร์ มีการแบ่งคนออกเป็น 2 ประเภท คือ X และ Y กล่าวคือ คนประเภท X นั้นมีความขี้เกียจ แรงจูงใจน้อย คิดไม่เป็น ดังนั้นการบริหารจัดการคนกลุ่มนี้คือ การควบคุม บทลงโทษ ขณะที่กลุ่ม Y นั้นเป็นคนที่มีแรงจูงใจ คิดเองได้ ชอบความอิสระ ดังนั้นการบริหารจัดการคือ วิธีละมุนละม่อม ใช้เหตุผล
ถือเป็นการยากที่จะเปลี่ยนทัศนคติในครูหรือพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนให้เห็นตรงกันว่าความรุนแรงและการทำโทษนั้นเป็นวิธีที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะโลกนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นโรงเรียนหรือกระทรวงศึกษาธิการจึงควรมีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน โดยผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงควรจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสั่งการในโรงเรียน
เทคโนโลยีในปัจจุบัน อาทิ กล้องวงจรปิดถือเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเป็นหูเป็นตาให้กับสังคมได้ แต่ก็ยังเป็นแค่เครื่องมือ หากไม่ถูกหยิบจับมาใช้ให้เหมาะสมก็ไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้ การบริหารจัดการและเทคนิคในการควบคุมคุณภาพที่ดีในเชิงการบริหารจัดการจึงควรนำมาใช้ การจัดตั้งห้อง Control room ที่มีหน้าที่สังเกตการณ์ มีผู้รับผิดชอบดูแลและรายงานเหตุการณ์ผิดปกติก็เป็นหนึ่งในทางออกนั้น
ทั้งในทางจิตวิทยาก็ยังจะช่วยให้ครูมีสติและความระมัดระวังมากขึ้น เพราะมีผู้ที่บรรลุนิติภาวะเข้าใจความรับผิดชอบชั่วดีมองเห็น มิใช่ครูเป็นผู้มีนิติภาวะแต่เพียงผู้เดียวและห้อมล้อมด้วยเยาวชนที่ยังไม่เข้าใจโลก และมีแนวโน้มที่จะถูกเอาเปรียบได้ง่าย
โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้อาชีพครูที่เคยถูกตั้งอยู่ในสถานะที่พิเศษอันเป็นที่เคารพนั้นถูกตรวจสอบ และถูกตั้งคำถามได้ง่าย การผูกขาดความถูกต้องและการเข้าใจถึงความรู้ก็ไม่ได้ผ่านเฉพาะครูอีกต่อไป เพราะเด็กสามารถเรียนรู้เองได้จากเทคโนโลยี ดังนั้นทัศนคติที่คิดว่า ครูนั้นถูกเสมอ ก็สมควรถูกพิจารณาลดระดับลงและเปิดโอกาสให้เกิดการโต้แย้งอย่างสันติ
ผู้บริหารโรงเรียนก็สมควรเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ ควรให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่ดีในโรงเรียน คัดกรองและพัฒนาอบรมบุคลากรให้อยู่ในกรอบ ตลอดจนลงโทษผู้ที่มีแนวโน้มความรุนแรงทั้งทางวาจาและกิริยา มิเช่นนั้นแล้วจะถือว่าสอบตกในหน้าที่เช่นกัน
ผู้ปกครองก็ต้องเรียนรู้ หมั่นพูดคุยสอบถาม ให้เด็กเล่าเรื่องที่โรงเรียน ชุดคำถามที่ว่า “วันนี้เรียนเป็นอย่างไรบ้าง มีความสุขหรือไม่” นอกจากจะเป็นหนึ่งในการทำความเข้าใจลูกแล้ว ก็อาจจะเปิดเผยนำมาซึ่งต้นตอของปัญหาที่สามารถป้องกันได้ทันที