ความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจ (4)
ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงข้อกังวลว่าการที่กลุ่มCAREเสนอให้รัฐบาลลงเงินไปเพิ่มทุนให้ SME ไทยมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาทนั้น จะเป็นภาระทางการคลัง
จนน่าวิตกหรือไม่ ซึ่งคำตอบของผมคือ หากไม่ทำอะไรเพราะกลัวความเสี่ยงทางการคลัง ก็จะเกิดการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยธนาคารพาณิชย์ต่างคนต่างทำ ที่ไม่น่าจะตอบสนองความต้องการของประเทศไทยโดยรวม
นอกจากนั้น ผมนำเสนอข้อมูลในอดีตที่สะท้อนว่ารัฐบาลเกือบจะไม่เคยลดมูลค่าสาธารณะ มีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น การรักษาวินัยทางการคลัง คือการใช้จ่ายของภาครัฐในยามวิกฤติ ที่สามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีคุณภาพ และเมื่อจีดีพีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะลดลงไปเองเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2543-2551
บางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า จะปล่อยให้ SME เป็นผู้กำหนดทิศทางและโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างไร? คำตอบคือผมยอมรับว่าผมเองก็ไม่ทราบว่าเราควรจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใด เพราะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก แต่รู้ว่าหากไม่ทำอะไรเลยสถานการณ์อาจจะเลวร้ายขึ้นอีกอย่างมาก
และมีความเชื่อว่าผู้ประกอบการของไทยมีความสามารถ มีความมุ่งมั่น และมีความรู้กว้างไกลเพียงพอที่จะกล้าเสี่ยงอย่างมีความสุขุม ในอดีตเองผมก็เคยเป็นห่วงว่าการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจไปให้หมู่บ้านจะมีปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาวันนี้ผมเห็นแล้วว่ากองทุนหมู่บ้านนั้นทำได้สำเร็จและเป็นประโยชน์ทำให้รัฐบาลเติมเงินให้ส่วนนี้มาโดยตลอด
ต่อมาคือ การตั้งคำถามว่าการให้ ธปท.พิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบเกือบให้เปล่าเช่นนี้ จะเป็นการทำลายวินัยทางการเงินหรือไม่ คำตอบคือการทำเช่นนี้ย่อมมีความเสี่ยงว่าในอนาคตรัฐบาลอาจจะกดดัน ธปท.บ่อยครั้งให้พิมพ์เงินใหม่ให้รัฐบาลใช้
แต่ตรงนี้ต้องถามต่อไปว่าภัยอันตรายอยู่ตรงไหน คำตอบคือการกระทำดังกล่าวเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (เป็น hyperflation) และทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวว่าเงินบาทจะกลายเป็นเศษกระดาษ แต่ในภาวะปัจจุบันนั้นในประเทศไทยเงินเฟ้อต่ำต้อยและติดลบมา 2-3 ปีแล้วและเงินบาทก็มีแต่จะแข็งค่า ดังนั้น การพิมพ์เงินเพิ่มจึงน่าจะให้ประโยชน์มากกว่าจะเป็นโทษ
ที่สำคัญคือในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น เงินเฟ้อทั่วโลกมีแต่ลดลงต่ำจนติดดิน แม้ว่าธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรและหุ้นอย่างกว้างขวาง และในจำนวนหลายล้านล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ และในบางประเทศการกดดอกเบี้ยลงไปจนติดลบก็ยังไม่สามารถทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมา (วันนี้คนที่ซื้อพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลเยอรมนีต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับรัฐบาลเยอรมนี)
ดูตัวเลขที่สะท้อนการพิมพ์เงินของธนาคารกลางสหรัฐ ก็จะพบว่างบดุล (balance sheet) ของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2548 มาเป็น 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2557 และเพิ่มเป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 แต่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐก็ยังกังวลว่าเงินเฟ้อต่ำเกินไปจนต้องเปลี่ยนกรอบนโยบายการเงินเป็น flexible average inflation targeting
ในช่วงปี 2548 งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ อีซีบี และญี่ปุ่น มีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์และเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าเป็น 15.9 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ในขณะที่ปริมาณเงินบาทที่เรียกว่า M1 นั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 0.8 ล้านล้านบาทมาเป็น 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งผมเชื่อว่าการพิมพ์เงินที่จำกัดจำนวนของ ธปท.นั้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด เพราะในช่วง 15 ปีดังกล่าวเงินบาทมีความขาดแคลนมากกว่าเงินสกุลหลักของโลก ข้อสรุปคือ ธปท.สามารถพิมพ์เงินเพิ่มได้อีกมาก โดยมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะกระตุกให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
แต่ก็อาจมีการแย้งอีกได้ว่าการพิมพ์เงินบาทเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนั้นจะทำให้เงินบาทมีจำนวนมากเกินกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศที่หนุนหลังเงินบาทอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือเงินบาทนั้นจะต้องมีการหนุนหลังโดยทองคำหรือเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่ในทุนสำรองของ ธปท. ซึ่ง ณ วันนี้ประเทศไทยมีทุนสำรองสุทธิเท่ากับ 277,400 ล้านดอลลาร์หรือเท่ากับ 8.65 ล้านล้านบาท แปลว่าที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ธปท.สามารถพิมพ์เงินบาทออกมาได้ทั้งหมดเท่ากับ 8.65 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันมีเงินบาทหมุนเวียนอยู่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ดังนั้น การจะพิมพ์เงินบาทเพิ่มขึ้นนั้นไม่ควรจะถูกจำกัดโดยเงื่อนไขที่ว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีอยู่ไม่เพียงพอ
แต่ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นการมองเรื่องของการดำเนินนโยบายการเงินแบบดั้งเดิมที่ไม่จำเป็นจะต้องนำมาเป็นเกณฑ์ เพราะหากพิมพ์เงินมากขึ้นแล้วเงินบาทอ่อนค่า ก็จะกลับกลายเป็นว่าจะสามารถพิมพ์เงินบาทเพิ่มขึ้นได้อีก (เช่นหากอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 40 บาท ก็จะสามารถพิมพ์เงินบาทได้ 11.1 ล้านล้านบาท เป็นต้น)
ดังนั้น ปัจจัยที่จะต้องให้ความสำคัญคือแนวโน้มของเงินเฟ้อ ซึ่งหากยังต่ำติดดินก็จะยังมี policy space ในการเพิ่มปริมาณเงินในระบบได้อีกมากครับ