FOOD DELIVERY ทางรอดผู้ประกอบการร้านอาหาร?
ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ผู้ประกอบการ SMEs ต่างได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจกันทั่วหน้า ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจร้านอาหาร
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ยิ่งส่งผลให้ร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดกิจการหลังรัฐบาลประกาศ Lockdown บางรายตัดสินใจเลิกกิจการเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้ บางรายปรับตัวเข้าสู่บริการ Delivery เพื่อสร้างยอดขายให้กับร้าน ธุรกิจการรับส่งอาหารถึงที่บ้าน (Food Delivery) จึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ธุรกิจ Food Delivery เติบโตถึง 150% จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดเผยว่าผู้ประกอบการ SMEs สมัครเข้าร่วมแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไม่น้อยกว่า 20,000 รายต่อสัปดาห์
ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากคือการทำ Delivery ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ร้านอาหารอยู่รอดหรือไม่ เพราะร้านอาหารต้องเสียค่า GP (Gross profit) ซึ่งเป็นค่าคอมมิชชั่น ที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอพสั่งอาหาร เป็นค่าดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 30-35 % เมื่อบวกกับ Food Cost ของธุรกิจอาหารที่ประมาณ 30% จะทำให้ต้นทุนเพิ่มเท่าตัว เมื่อบวกรวมกับค่ากล่อง ค่า Packaging ค่าอุปกรณ์เช่น ช้อนส้อม ค่าทิชชู ค่าถุงพลาสติก ถ้าไม่ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ร้านอาหารก็อาจประสบกับการขาดทุนจนไม่สามารถอยู่รอดได้
แต่การปรับขึ้นราคาอาหารอาจมีข้อจำกัด เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่รุนแรงขึ้น ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย จะมีการเปรียบเทียบราคาราคาในแอพพลิเคชั่นได้ ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในคุณภาพของสินค้าและการบริการ จนอาจจะกระทบกับต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น
ค่า GP หรือค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่าย มีการเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกัน ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงจะจ่ายในอัตราที่ต่ำ แต่ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จะจ่ายในอัตราที่สูง ข้อตกลงจะแตกต่างกันไปตามละแพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการจะพิจารณาจากค่าใช้จ่ายอาทิเช่น ค่าใช้จ่ายของส่วนออฟฟิศ ทีมงานดูแลลูกค้าและร้านอาหาร ทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่น ทีมบริหารจัดการ และฝ่ายการตลาดที่ต้องจัดโปรโมชั่น จึงทำให้มีความจำเป็นต้องจัดเก็บค่า GP ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่มีชื่อเสียง เช่น LINE MAN,Grab,Food Panda
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ยกร่างประกาศคณะกรรมการแข่งขัน เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฎิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบการร้านอาหาร “ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่่” ได้กำหนดเงื่อนไขที่ห้ามกระทำในเบื้องต้น โดยห้ามเรียกรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เช่นการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงเกินควร การเรียกเก็บค่าส่งเสริมการขายในโอกาสพิเศษทางการตลาด โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และเรียกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมอื่น ๆ รวมทั้งยังกำหนดเงื่อนไขอีกหลายด้านเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารถูกเอาเปรียบ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องคอยติดตามรายละเอียดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
ทิศทางของธุรกิจ Food Delivery ยังคงเติบโตได้ ทั้งปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารจะอยู่ที่ 66-68 ล้านครั้งหรือขยายตัวร้อยละ 78-84% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด การทำเดลิเวอรี่
เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผู้ประกอบการจะต้องแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุด อาทิเช่น การทำเดลิเวอรี่ด้วยตนเอง การร่วมมือกับคิวมอเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่ เป็น Startegic Partner จัดส่งอาหารด้วยการแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรม
รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้มี Low Cost Delivery ด้วยการสนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มราคาถูก เพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารอยู่รอดให้ได้ เสียงบ่นของผู้ประกอบการร้านอาหารที่บอกว่า ยิ่งทำ ยิ่งเจ๊ง จะได้หมดไป....