พลวัตรเศรษฐกิจอีสานในรอบ 20 ปี (2)
พลวัตรเศรษฐกิจอีสานในรอบ 20 ปี (2) : ความท้าทายของภาคการค้าและบริการในอนาคต นำเสนอข้อมูลการกระจายรายได้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ผมได้กลับมาเขียนต่อจากเมื่อครั้งที่แล้ว (หัวข้อเรื่องพลวัตรเศรษฐกิจอีสานในรอบ 20 ปี) ซึ่งได้เสนอให้เห็นว่าในช่วงกว่า 2 ทศวรรษ ของความไม่สมดุลของรายได้ หรือ การกระจายตัวของรายได้ในภูมิภาคนี้ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่กิจกรรมเศรษฐกิจ และการจ้างงานมีการกระจุกตัวมากใน 4 จังหวัดของภาคอีสาน (นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี) หรืออาจกล่าวได้ว่า “รายได้กว่าครึ่งของภาคอีสานได้เชื่อมโยงอยู่กับภาคอุตสาหกรรมและการค้าและบริการใน 4 จังหวัดดังกล่าว” ดังนั้น บทความส่วนที่เหลือจะขอกล่าวถึงความท้าทายของภาคการค้าและบริการในอนาคต อย่างน้อยการช่วยการกระจายรายได้ของภาคการค้าและบริการไปยังจังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะไม่ได้กล่าวถึงเพราะแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแผนยุทธศษสตร์ชาติ 20 ปี ค่อนข้างมีชัดเจน เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับ First S-Curve และ New S-Curve
เมื่อกล่าวถึงภาคการค้าและบริการในภาคอีสานที่เชื่อมโยงกับ 12 สาขา (ฐานข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) พบว่าในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มี 4 สาขาหลักคือ สาขาการศึกษา สาขาการขายส่งและขายปลีก สาขาการบริหารราชการ และสาขาอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยในการสร้างรายได้หลักให้กับภูมิภาคนี้ เป็นที่สังเกตว่า กิจกรรมสาขาการศึกษามีสัดส่วนของรายได้มากสุด ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรัฐที่พยายามเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานในภูมิภาคนี้
ขณะที่กิจกรรมในสาขาการบริหารราชการมีการสร้างรายได้ให้กับภูมิภาคนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเริ่มมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาคมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา หรือแม้แต่สาขาการค้าส่งค้าปลีกที่เป็นฐานเศรษฐกิจเดิมของอีสานโยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 ทำให้มีแรงงานส่วนหนึ่งย้ายกลับมาอีสานและมาทำการค้าขายเล็ก ๆ น้อยๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลับพบว่า การเติบโตของกิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ได้ชะลอตัว แต่สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย (บริการทางการเงิน) มีการเติบโตมากสุดเมื่อเทียบกับ 11 สาขาที่เหลือในภาคการค้าและบริการ
นอกจากนี้จังหวัดที่ครองสัดส่วนเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรกคือจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอุดรธานี โดยคิดเป็นร้อยละ 15 ร้อยละ 9 และร้อยละ 8 ของมูลค่าการค้าและบริการในภาคอีสาน จากข้อมูลชุดนี้ทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามว่าอะไรที่ทำให้จังหวัดที่เหลืออีก 17 จังหวัด สามารถมีโอกาสที่จะมีการสร้างรายได้จากภาคการค้าและบริการ อย่างน้อยสุดให้มีการกระจายตัวบางสาขาในภาคการค้าบริการไปสู่บางจังหวัดตามความเชี่ยวชาญของจังหวัดนั้น ๆ หรือ โอกาสที่มาจากนโยบายส่วนกลาง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ในด้านความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาของภาคการค้าบริการ ผู้เขียนได้ลองนำตัวเลขรายได้ของแต่ละจังหวัด และแต่ละสาขาในภาคการค้าบริการมาคำนวณหาความเชียวชาญผ่านดัชนี Location Quotient (LQ) ซึ่งเป็นการคำนวณหาความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของสาขาหนึ่งในจังหวัดนั้นกับสาขาเดียวกันในระดับภาคนั้น ๆ พบว่า มีบางสาขาที่เพิ่มขึ้นอีก 5 สาขาจากที่กล่าวก่อนหน้านี้ และมีโอกาสส่งเสริมให้พัฒนาได้ คือ สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย สาขาที่พักแรมและบริการอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร สาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่พบว่า สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารมีความเชียวชาญมากสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี สาขาที่พักแรมและบริการอาหารมีความเชี่ยวชาญมากที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดร้อยเอ็ด สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าส่วนใหญ่เหมาะสมอยู่ในจังหวัดที่ติดชายแดนเพราะนอกจากมีบางจังหวัดให้กำหนดเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือบางจังหวัดมีด่านการค้าระหว่างประเทศ (จังหวัดหนองคาย จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดเลย และจังหวัดอุบลราชธานี) สำหรับสาขาศิลปะและนันทนาการมีความเชียวชาญมากสุดในจังหวัดบุรีรัมย์
จากที่กล่าวมาผู้อ่านจะเห็นได้ว่าภาคการค้าบริการของภาคอีสานยังอยู่ในกิจกรรมเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Traditional Trade and Service) เช่น ธุรกิจการค้า การขนส่ง และโรงแรมรวมถึงร้านอาหาร แม้ว่าในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาจะมีการเติบโตของธุรกิจการค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนบัดนี้ มีห้างสรรพสินค้ามีจำนวน 36 แห่ง ห้างไฮเปอร์มาเก็ต 123 แห่ง และร้านสะดวกซื้อ (เช่น 7-11 และ FamilyMart) จำนวน 960 แห่ง โดยทั้งหมดนี้กระจายตัวไปทั่วภาคอีสาน
ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนอกจากการส่งเสริมบางสาขาที่มีความเชียวชาญในภาคการค้าบริการไปสู่จังหวัดอื่น ๆ มากขึ้น ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่าความท้าทายที่ภาคการค้าบริการของภาคอีสานมีด้วยกัน 3 ประเด็น
ประเด็นแรก แรงงานที่อยู่ในภาคการค้าและบริการควรมีการเพิ่มทักษะทั่วไป รวมถึงทักษะเฉพาะทาง โดยเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่มีรายได้ตอบแทนมากขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ และธุรกิจบริการทางการเงิน ตลอดจนธูรกิจโลจิสติค เป็นต้น ทั้งนี้ก็ต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสร้างสภาพการจ้างงานที่เอื้อให้แรงงานสามารถพัฒนาตนไปพร้อมกับองค์กรได้ด้วย
ประเด็นสอง ด้านการศึกษาและวิจัย โดยภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาครัฐ (ส่วนกลาง หรือ ส่วนท้องถิ่น) ควรมีนโยบายร่วมกันสร้างหลักสูตร หรือบางวิชา ที่จะออกแบบให้ความรู้กับผู้เรียนไปสู่การทำงานในธุรกิจการบริการสมัยใหม่ ซึ่งสามาถเกิดได้ในวิชาใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือในวิชาเดิมที่มีรูปแบบการสอนใหม่โดยมีกิจกรรมบูรณาการความรู้ในห้องเรียนไปสู่โจทย์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจจริง รวมถึงโจทย์วิจัยต้องหันมาทางปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่ก็ต้องมีลักษณะเชื่อมต่อกับบริบทในระดับชาติและนานาชาติ
ประเด็นสุดท้าย โจทย์เชิงนโยบายและตัวแบบธุรกิจควรการเชื่อมโยงกิจกรรมการค้าบริการเข้าสู่แนวโน้มใหญ่ๆระดับโลก หรือ Mega Trend ให้มากขึ้น โดยผู้เขียนมีความเห็นว่ามี 4 แนวโน้ม (แต่ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เท่านี้เสมอ) ที่ควรให้ความสนใจคือ สังคมผู้สูงอายุ การแทนที่ของมนุษย์ด้วยเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ และรูปแบบเศรษฐกิจที่อยู่บน platform online และความตื่นตัวของกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนหวังว่าน่าจะได้จุดประเด็นให้หลายฝ่ายช่วยกันร่วมคิดหาทางพัฒนาภูมิภาคอีสานมากขึ้น (หลังจากที่เราอยู่บนการพัฒนาที่ไม่สมดุลย์และเอนเอียงเข้าสู่ศูนย์กลางมาอย่างยาวนาน) ประเด็นและข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏนี้ได้จากการศึกษาภายใต้โครงการนำร่อง “Inclusive growth Esan” ของคณะเศรษฐศาสตร์ มข. หากผู้ใดสนใจอยากแลกเปลี่ยนสามารถติดต่อมาได้ครับ
*บทความโดย จักรกฤช เจียรวิริยบุญญา และ นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น