Gartner ได้ประกาศ Strategic Technology Trends 2021 ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายด้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
Gartner ได้ประกาศ Strategic Technology Trends 2021 ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้สังคมโลกเปลี่ยนไป ทั้งในแง่ของวิธีการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนจากการที่จะต้องสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และคาดว่าจะมีผลต่อเนื่องในระยะยาวที่ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป จึงทำให้ Gartner แบ่งแนวโน้มด้านเทคโนโลยีปีนี้ไว้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1) People centricity ซึ่งแม้ว่าโควิด-19 จะทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป แต่คนก็ยังเป็นศูนย์กลางของธุรกิจที่จำเป็นจะต้องทำให้กระบวนการทำงานต่างๆถูกแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
2) Location independence โควิด-19 ทำให้เกิดสังคมที่ไม่ขึ้นอยู่กับสถานที่แบบเดิม คนสามารถทำงาน เรียนหรือใช้ชีวิตประจำวันที่ใดก็ได้ จึงจำเป็นจะต้องมีเทคโนโลยีที่สนับสนุนพฤติกรรมรูปแบบใหม่ๆ
3) Resilient delivery วิกฤติโควิด-19 และการถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและมีความคล่องตัว จึงต้องมีการเตรียมเทคโนโลยีที่สามารถมารองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากกระแส Digital disruption
ทั้งนี้ในปีนี้ Gartner ประกาศแนวโน้มเทคโนโลยีออกมาเพียง 9 อย่าง ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ ที่ปกติจะมี 10 อย่าง โดยมีเทคโนโลยี ดังนี้
กลุ่ม People centricity ประกอบด้วย
1) Internet of Behaviors เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้สามารถเก็บข้อมูลของผู้คนได้มากขึ้น ทั้งข้อมูลของลูกค้าในเชิงธุรกิจและข้อมูลของประชาชนสำหรับภาครัฐ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจมาจากโซเชียลมีเดีย Internet of Things หรือมือถือ ทำให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้คนได้มากขึ้น และอาจนำมาใช้งานในด้านต่างๆได้ดีขึ้นทั้งเรื่องของการให้บริการลูกค้า หรือการควบคุมการเกิดโรคระบาด เช่น การตรวจสอบว่ามีการใส่หน้ากากหรือไม่จากกล้องอัจฉริยะ ล้างมือหรือไม่จากระบบเซ็นเซอร์ของก็อกน้ำ ตลอดจนการมีระบบติดตามผู้คนทำให้ทราบพฤติกรรมได้มากขึ้น
2) Total experience strategy คือ การรวบรวมประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งจากประสบการณ์ของลูกค้า (customer experience) ประสบการณ์ของพนักงาน (employee experience) และประสบการณ์ของผู้ใช้ (user experience) นำมาเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่นในช่วงโควิด-19 มีบริษัทด้านโทรคมนาคมแห่งหนึ่งได้ติดตั้งระบบนัดหมายผ่านโมบายแอป และเมื่อลูกค้ามาตามเวลานัดหมายเมื่อใกล้ถึงสถานที่ก็จะสามารถเช็คอินได้อัตโนมัติ และส่งข้อความไปแจ้งพนักงานที่ผ่านแทปเล็ตเพื่อให้บริการและโต้ตอบกับลูกค้าแบบทันทีทันใด ซึ่งจะช่วยเรื่อง Social distancing และทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าและพนักงานโดยรวมดีขึ้น
3) Privacy-enhancing computation คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อประมวลผลข้อมูลได้อย่างปลอดภัย โดยประกอบไปด้วยเทคโนโลยี 3 ด้าน คือ 1) การทำระบบและสภาพแวดล้อมที่สามารถประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างปลอดภัย 2) การทำให้สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลแบบกระจายไปหลายที่ได้ และ 3) การเข้ารหัสข้อมูลและอัลกอริทึมก่อนที่จะนำไปประมวลผลและวิเคราะห์ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปประมวลผลข้ามองค์กรได้ด้วยความปลอดภัย
กลุ่ม Location independence
4) Distributed cloud คือการที่ผู้ให้บริการ public cloud กระจายการติดตั้งระบบ cloud ไว้ในหลายๆ แห่งโดยที่บริหารจัดการบริการและการควบคุมต่างๆ ยังเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการ public cloud จึงทำให้องค์กรต่างๆ ได้ Cloud services ที่ทันสมัย และมีระบบที่ตั้งอยู่ตำแหน่งใกล้กับหน่วยงานเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการส่งข้อมูล และตอบโจทย์ขององค์กรที่ต้องการให้ข้อมูลไม่ย้ายออกไปอยู่ในดำแหน่งไกลๆโดยเฉพาะในต่างประเทศ ทั้งนี้มีการกล่าวว่า Distributed cloud คืออนาคตของ Cloud
5) Anywhere operations คือ รูปแบบของธุรกิจที่จะให้บริการลูกค้าจากที่ใดก็ได้และพนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องมีแนวคิดที่มองดิจิทัลต้องมาก่อนโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งที่ตั้ง (Digital first, location independent) โดยมีโครงสร้างพื้นฐานไอทีและแอปพลิเคชันแบบกระจาย
6) Cybersecurity mesh คือ สถาปัตยกรรมแบบกระจาย (Distributed architecture) ที่จะสามารถควบคุมความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้อย่างมั่นใจ ยืดหยุ่น และขยายตัวได้ ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรด้านไอทีจำนวนมากอยู่นอกรัศมีการควบคุมความปลอดภัยที่มักจะกำหนดไว้ภายในองค์กร Cybersecurity mesh จะเป็นการอนุญาตให้ผู้ใช้กำหนดรัศมีการควบคุมความปลอดภัยโดยพิจารณาจากการระบุตัวตน หรือตำแหน่งของผู้ใช้ จึงทำให้สามารถใช้ระบบความปลอดภัยในรูปแบบโมดูลาร์และตอบสนองได้ โดยมีนโยบายจากส่วนกลาง
กลุ่ม Resilient delivery
7) Intelligent composable business องค์กรต่างๆ จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาในโลกที่กำลังเปลี่ยงแปลงไป จึงจำเป็นต้องมีสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ดีขึ้นและสามารถที่จะเสริมข้อมูลเหล่านั้นให้เห็นในเชิงลึกได้ ตลอดจนสามารถประกอบข้อมูลในแต่ละส่วนย่อยหรือแอปพลิเคชันได้ เพื่อที่จะพัฒนาระบบต่างๆ ให้รับกับการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น ธนาคารอาจต้องสามารถพยากรณ์แนวโน้มและพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อสร้างบริการใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันจากระบบเดิมที่มีอยู่จากการจัดเรียงระบบขึ้นมาใหม่แทนที่จะต้องพัฒนาระบบใหม่ทั้งหมด
8) AI engineering คือ การแก้ปัญหาโครงการด้านเอไอที่มักจะพบในแง่ของการบำรุงรักษา การขยายระบบ และด้านธรรมาภิบาล โดยให้การทำเอไอเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและการทำงานโครงการไอทีต่างๆ แทนที่จะมองเป็นโปรเจ็คด้านเอไอโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนตามหลักธรรมภิบาล ต้องคำนึงถึงเรื่องความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส จริยธรรม ที่สามารถอธิบายได้ และเป็นไปตามกฎปฎิบัติต่างๆ
9) Hyperautomation คือ แนวคิดที่ต้องทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ ทั้งทางด้านธุรกิจและไอทีเป็นระบบอัตโนมัติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้เทคโนโลยี Intelligent automation ที่หลากหลายแต่สามารถนำมาเชื่อมต่อและประกอบกันได้
ทั้ง 9 แนวโน้มเหล่านี้องค์กรต่างๆ ควรต้องคำนึงถึงเพื่อกำหนดเป็นกลยุทธ์ในการวางแผน Digital Transformation เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้นซึ่งอาจทอดยาวไปอีก 4-5 ปีข้างหน้า