ระงับข้อพิพาทกรณีสหรัฐขึ้น'ภาษีนำเข้า'สินค้าจีน
สืบเนื่องจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งในสมัยแรกระบุ "อเมริกาต้องกลับมายิ่งใหญ่อีก"
เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ จึงปฏิบัติการตามที่หาเสียงไว้ สิ่งแรกที่ดำเนินการคือ ดูสถิติมูลค่าการค้าระหว่างประเทศว่า ประเทศใดได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ เป้าหมายใหญ่ที่พบคือ “ประเทศจีน” ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐสูงมาก
วิธีที่สหรัฐใช้แก้ไขการขาดดุลการค้ากับจีน คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เพิ่มอีกจากอัตราที่เก็บอยู่เดิมสองครั้งคือเพิ่มขึ้น 25% รายการสินค้าตามพิกัดย่อย 818 รายการมูลค่าการค้าประมาณ 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งเรียกเก็บภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% รายการสินค้าพิกัดย่อย 5,745 รายการ มูลค่าการค้าประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอ้างว่าจีนกระทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
ฝ่ายจีนก็ตอบโต้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ เช่นกัน โดยเฉพาะ ถั่วเหลือง นอกจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯตอบโต้แล้ว จีนยังใช้ช่องทางกลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกด้วย
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2561 ประเทศจีนยื่นคำร้องขอปรึกษาหารือกับสหรัฐ ตามข้อ 4 ของความเข้าใจว่าด้วยกฎ และกระบวนการที่ใช้กับกระบวนการระงับข้อพิพาท DSU และตามบทบัญญัติของข้อ 23 ของความตกลงว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า แกตต์1994 และ ต่อมาประเทศจีนก็ได้ยื่นคำร้องขอปรึกษาหารือเพิ่มเติมกับสหรัฐในประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกในวันที่ 6, 16 ก.ค.2561 และ 18 ก.ย.2561
การหารือระหว่างจีน กับสหรัฐ มีขึ้นในวันที่ 28 ส.ค.2561 และวันที่ 22 ต.ค.2561 แต่ไม่สามารถทำความตกลงกันได้ โดยในวันที่ 6 ธ.ค.2561 ประเทศจีนยื่นคำร้องขอให้ตั้งคณะผู้พิจารณาตามข้อ 4.6 และข้อ 6 ของ DSU และข้อ 23 ของแกตต์1994
ต่อมา ออสเตรเลีย บราซิล แคนนาดา สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คาซัคสถาน เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ จีนไทเป ตุรกี ยูเครน แจ้งความประสงค์่จะเข้าร่วมในคณะผู้พิจารณา ในฐานะฝ่ายที่ 3 ขณะเดียวกันวันที่ 28 ม.ค.2562 ได้มีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา วันที่ 3 มิ.ย.2562 ได้แต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นคณะผู้พิจารณาประกอบด้วยประธานหนึ่งคน และองค์คณะสองคน
มูลกรณีที่จีนเรียกร้องมีประเด็นมาจาก เมื่อวันที่20 มิ.ย.2561 สหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 25% สำหรับสินค้าตามพิกัดย่อย 818 รายการที่นำเข้าจากประเทศจีน มูลค่าการค้าประมาณ 34 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการประกาศเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2561ขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 10 % สำหรับสินค้าตามพิกัดย่อย 5.745 รายการที่นำเข้าจากประเทศจีน มูลค่าการค้าประมาณ 200 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ประเด็นที่ประเทศจีนขอให้คณะผู้พิจารณาตรวจสอบและพิจารณาคือ สหรัฐอเมริกาปฏิบัติฝ่าฝืน ข้อ 1 ข้อย่อย 1 ของแกตต์ 1994 ที่ประกาศขึ้นภาษีดังกล่าวเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนเท่านั้น และสหรัฐอเมริกาฝ่าฝืนข้อ 2 ข้อย่อย 1(a) และ (b) ของแกตต์1994 จากการขึ้นภาษีเกินกว่าอัตราที่ผูกพันไว้
ส่วนสหรัฐได้ร้องขอให้คณะผู้พิจารณายกคำร้องของประเทศจีน และโต้แย้งว่าประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2561 ไม่อยู่ในขอบข่ายของคณะผู้พิจารณาที่จะพิจารณาได้
คณะผู้พิจารณาได้ดำเนินกระบวนพิจารณารับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน จากประเทศจีน และรับฟังข้อเท็จจริงข้อโต้แย้งและหลักฐานจากทางฝั่งสหรัฐอเมริกา อย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2563 คณะผู้พิจารณาได้จัดทำรายงานผลการพิจารณา ที่ WT/DS543/R โดยรายงานผลการพิจารณาฉบับนี้ ส่วนที่สำคัญในท้ายของรายงานคือ
1.ข้อสรุปและคำแนะ
1.1 คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาบรรลุวิธีแก้ไขปัญหา อันเป็นที่พึงพอใจร่วมกันตามที่กำหนดในข้อ 12.7 ของ DSU ได้ และก็ไม่สละสิทธิ์ในการขอให้ดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาทประเด็นการกำหนดมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าที่เป็นข้อพิพาทในกรณีนี้ให้ลุล่วงไป
1.2 มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐ 2 ครั้ง ตามที่ประเทศจีนขอให้พิจารณา อยู่ในขอบข่ายของการพิจารณาของคณะผู้พิจารณาตามที่กำหนดไว้ จึงเหมาะสมที่คณะผู้พิจารณาจะตรวจสอบและเสนอข้อเสนอแนะ อันเกี่ยวกับมาตรการขึ้นภาษีดังกล่าว
1.3 มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐดังกล่าวไม่สอดคล้อง กับข้อ 1 ข้อย่อย 1 , ข้อ2 ข้อย่อย1(a) และข้อ 2 ข้อย่อย 1(b) ของแกตต์1994
1.4 สหรัฐอเมริกาไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า มาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นมาตรการชั่วคราวที่ถูกต้อง ตามที่กำหนดในข้อ 20(a) ของแกตต์ 1994
2.ผลจากการพิจารณา คณะผู้พิจารณาตัดสินว่า มาตรการการขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีน ของสหรัฐที่เป็นประเด็นข้อพิพาท ไม่สอดคล้อง กับข้อ 1 ข้อย่อย 1 , ข้อ2 ข้อย่อย1(a) และข้อ2 ข้อย่อย 1(b) ของแกตต์1994
3.คณะผู้พิจารณา ตัดสินด้วยว่า มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐ ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของแกตต์1994 หลายข้อ จึงเป็นการทำให้เสียหายหรือด้อยค่าต่อผลประโยชน์ของประเทศจีนตามที่บัญญัติในข้อ 23:1(a) ของแกตต์1994
4.ข้อแนะนำ เพื่อให้เป็นไปตามข้อ19.1 ของ DSU คณะผู้พิจารณาจึงแนะนำให้สหรัฐ แก้ไขให้มาตรการที่กำหนดขึ้นเป็นไปโดยสอดคล้องกับพันธะกรณีที่สหรัฐมีตามแกตต์1944
อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกายังสามารถอุทธรณ์ คำตัดสินของคณะผู้พิจารณา ต่อองค์กรอุทธรณ์ขององค์กรระงับข้อพิพาทได้ภายใน 60 วัน
ล่าสุดมีเอกสารขององค์การการค้าโลกลงวันที่ 27 ต.ค.2563 แจ้งว่าสหรัฐอเมริกามีหนังสือลงวันที่ 26 ต.ค.2563 ถึงประธานองค์กรระงับข้อพิพาท อาศัยอำนาจตามข้อ 16 ของความเข้าใจว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับกระบวนการระงับข้อพิพาท แจ้งว่าใช้สิทธิอุทธรณ์คำตัดสินของคณะผู้พิจารณาในปัญหาข้อกฎหมาย