ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย Millennial vs Baby Boomer
ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยที่ปัญหาความคิดเห็นที่ต่าง ส่งผลกระทบต่อทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม แต่ยังเป็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันต่างๆ
ขณะที่เมืองไทยกำลังมีปัญหาถึงข้อเรียกร้องเรื่องของการปฏิรูปสถาบันต่างๆ เพื่อให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และความเป็นประชาธิปไตยแบบสากลที่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม อังกฤษก็มีปัญหาความเห็นต่างจากกรณี Brexit หรืออย่างสหรัฐที่เกิดการประท้วงรุกลามทั่วประเทศจากกรณีความรุนแรงจากการบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่รัฐหลังจากมรณกรรมของจอร์จ ฟลอยด์
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศทั้งสามจะมีความแตกต่างกันในแง่ของบริบท แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่สามารถในการประนีประนอมกันจากกลุ่มคนในสังคมได้ และช่องว่างระหว่างวัยนั้นก็ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเห็นต่าง
ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นได้ในทุกหน่วยของสังคม ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน จนกระทั่งสังคมประเทศทั้งหมด เพราะคนในแต่ละยุคเกิดและเติบโตมาภายใต้สภาพบริบทที่ต่างกัน ดังนั้นการเปิดใจทำความเข้าใจผู้ที่เห็นต่างโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่างจากกลุ่มคนต่างวัยนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
คนไทยสามารถเรียนรู้ได้จากสังคมอังกฤษที่ก็เกิดปัญหาความเห็นต่างเช่นเดียวกัน จากกรณี Brexit หรือการนำสหราชอาณาจักรออกมาจากสหภาพยุโรปเพื่อมีอำนาจเต็มในการกฎหมาย การเมือง และเศรษฐกิจ นั้นทำให้ครอบครัวแตกแยกทางความคิด ที่คนรุ่นใหม่หรือที่เรียกว่ารุ่น Gen Y นั้นเห็นว่าประเทศควรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อ ขณะที่พ่อแม่คนรุ่นเก่า หรือที่เรียกว่า Baby boomer นั้นเห็นต่าง จนเกิดเป็นปัญหาทางสังคม
Millennial หรือ Gen Y หรือกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 20 ต้น จนถึง 30 ปีปลายๆ ถือเป็นช่วงวัยนักศึกษา กลุ่มคนที่เพิ่งจะเริ่มทำงานใหม่ ณ ตอนนี้ ไล่ไปจนถึงทำงานมาได้สักพัก ซึ่งมีแนวโน้มรักอิสระ มีความสุขจากการใช้ชีวิต มีความทันสมัยทันโลกเพราะเกิดมาภายใต้ยุคเทคโนโลยีที่ดี
ขณะที่ Baby boomer ก็คือคนในช่วงวัย 50-68 ปีซึ่งก็คือรุ่นพ่อแม่ ลุงป้า หรือระดับหัวหน้าของ Milennial นั่นเอง ซึ่งคนในวัยนี้นั้นมมีความมั่นคงในชีวิตแล้วจากการเก็บหอมรอมริบจากการทำงาน ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มจะเป็นนักอนุรักษนิยม ตัวอย่างก็อย่างเช่น นักการเมืองส่วนใหญ่ของไทย
ความแตกต่างทางความคิดของสองวัยนี้ อันเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเสพย์ข่าว การเข้าถึงเทคโลโลยีที่ต่างกันนี้เองทำให้เกิดช่องว่างที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสองวัย ซึ่งช่องว่างนี้ก็เห็นอย่างชัดเจนทั้งในบ้านและที่ทำงาน
หากอยากจะโน้มน้าวให้ Millennial รับฟังก็ควรพูดจาด้วยเหตุผล ไม่ควรบังคับกีดกรอบทางความคิดและเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็น ไม่ควรใช้อำนาจหรือสถานะที่เหนือกว่าใดใดบังคับขืนใจและให้เคารพในสิทธิและทางเลือกของเขา ขณะที่ Baby boomer ต้องการความเคารพ มารยาท การให้เกียรติ กาลเทศะ และต้องมีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่
กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการปัญหาความคิดเห็นต่างนั้นเริ่มได้จากหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมอย่างครอบครัว หากพ่อแม่คุยกับลูกอย่างเปิดใจรับฟังความคิดเห็นภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยก็จะก้าวสู่ความเป็นอารยะ เป็นประเทศที่ทุกคนเท่ากัน รับฟังเสียงของคนทุกคน มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมเช่นประเทศที่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง