ทำไมรัฐ 'ไม่' ควรลดเวลากักตัวเหลือ 10 วัน
ตามที่มีข่าวกรมควบคุมโรคได้เสนอ ศบค. ให้ลดเวลากักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ผมอ่านข่าวแล้ว ไม่เห็นด้วยและมีความเป็นห่วงกับข้อเสนอดังกล่าว
อาทิตย์ที่แล้วมีข่าว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรคได้เสนอ ศบค. ให้ลดระยะเวลากักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน โดยไม่ได้ระบุเหตุผลหรือเป้าประสงค์ที่เสนอ เพียงย้ำว่าคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนว่าสำคัญที่สุด การลดระยะเวลาจะเริ่มจากประเทศที่มีความเสี่ยงโควิดต่ำเท่ากับประเทศไทย โดยจะมีระบบสนับสนุน เช่น การกักตัวตามมาตรฐานเพื่อตรวจหาเชื้อ ระบบติดตาม มีการตรวจหาเชื้อก่อนออกจากประเทศต้นทาง และมีมาตรการป้องกันตนเองของนักท่องเที่ยว เช่น ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่
ผมอ่านข่าวแล้วต้องบอกว่า ไม่เห็นด้วยและมีความเป็นห่วงกับข้อเสนอดังกล่าวที่จะลดมาตรฐานป้องกันการระบาดที่คนที่มาจากต่างประเทศต้องกักตัว 14 วัน โดยเฉพาะในระยะนี้ที่โควิด-19 กำลังระบาดรุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง เพราะการลดวันกักตัวจะสร้างความเสี่ยงต่อการระบาดรอบใหม่ในประเทศ ที่จะกระทบคนทั้งประเทศและโมเม็นตั้มของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว
วันนี้เลยจะขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ใน 3 ประเด็น
1.ยังไม่มีเหตุผลทางวิชาการรับรองการลดเวลากักตัวเหลือ 10 วันว่าจะป้องกันการแพร่เชื้อและช่วยการตรวจหาเชื้อได้แม่นยำและปลอดภัยเท่ากับการกักตัว 14 วัน
2. การลดการกักตัวเป็น 10 วันไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมีขณะนี้
3. มีมาตรการหลายอย่างที่ทางการควรพิจารณาช่วยธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก เช่น ภูเก็ต สมุยโดยตรงที่ไม่สร้างความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่จะมาจากการลดจำนวนวันกักตัวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
ประเด็นแรก เรื่องเหตุผลทางวิชาการ ปัจจุบันระยะเวลากักตัว 14 วัน ถือเป็นมาตรฐานทางการแพทย์สากลในการกักตัวเพื่อตรวจหาเชื้อและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก ที่สำคัญองค์การอนามัยโลก (WHO) ถือการกักตัว 14 วัน เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ที่แนะนำให้ทุกประเทศนำไปใช้เพื่อป้องกันการระบาด (ดูเอกสาร Considerations for quarantine of contacts of COVID-19 cases, Interim Guidance, 19 August 2020, WHO)
การลดจำนวนวันกักตัวต่ำกว่า 14 วันเป็น 10 วัน จึงเป็นการทำที่ต่ำกว่ามาตรฐานทางการแพทย์สากล ที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่มาจากการศึกษาระดับโลกสนับสนุน เพราะถ้ามีองค์การอนามัยโลกคงจะมีความเห็นและคำแนะนำในเรื่องนี้ ล่าสุด นายทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกก็ต้องกักตัว 14 วันเหมือนกัน หลังจากพบว่าเขาเป็นบุคคลที่ได้ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโควิค-19
กรณีของเรา นับตั้งแต่มีการระบาดในช่วงต้นปี สธ.ไทยได้ใช้มาตรฐานกักตัว 14 วันเช่นกัน ในการป้องกันการระบาดในประเทศ โดยเฉพาะกับบุคคลที่เดินทางกลับจากหรือมาจากต่างประเทศที่ต้องกักตัว 14 วันในสถานที่ที่ทางการกำหนด และตามมาตรฐานที่ทางการกำหนด ซึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ คือ ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 120,000 คน ได้ผ่านระบบการกักตัว 14 วัน ทำให้เราสามารถป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าเชื้อไวรัสโควิด-19 จากต่างประเทศ และสามารถควบคุมไม่ให้มีการระบาดในประเทศได้ถึงปัจจุบัน
ที่สำคัญ การนำเรื่องนี้มาพิจารณาในระดับนโยบายตอนนี้ ถือว่าผิดเวลาเพราะการระบาดของโควิด-19 กำลังกลับมารุนแรงอีกครั้งและไม่มีประเทศไหนในโลกที่ถือว่าปลอดภัย ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 49 ล้านคน โดยผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 4-5 แสนคนทั่วโลก และการระบาดคงจะยังไม่หยุดง่ายๆ จากอากาศที่จะหนาวมากขึ้นอีกระยะหนึ่ง สำหรับประเทศเราตัวเลขผู้มาจากต่างประเทศที่ตรวจเจอเชื้อโดยระบบกักตัว 14 วันก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ชี้ว่า การลดจำนวนวันกักตัวจะเสี่ยงมากต่อการทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในประเทศ แต่เป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ถ้าไม่ลดจำนวนวันกักตัว
ประเด็นที่ 2 ในแง่การตอบโจทย์เศรษฐกิจ วิกฤติครั้งนี้เป็นสองวิกฤติที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ วิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจ เราโชคดีมากที่ควบคุมวิกฤติสาธารณสุขได้ คือ ไม่มีการระบาดในประเทศ ที่เหลืออยู่ที่ต้องแก้คือวิกฤติเศรษฐกิจ ดังนั้น การแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องสำคัญและการแก้ไขต้องไม่สร้างเงื่อนไขหรือความเสี่ยงให้วิกฤติสาธารณสุขกลับมาอีก นั้นคือ เกิดการระบาดรอบ 2
ชัดเจนว่า วิกฤติคราวนี้กระทบแต่ละสาขาเศรษฐกิจไม่เท่ากัน ที่ถูกกระทบมากสุดคือ ธุรกิจท่องเที่ยวจากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ แต่การไม่มีการระบาดในประเทศมานานกว่า 5 เดือนก็ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่เริ่มกลับมา เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เพราะประชาชนกลับมาใช้จ่าย กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้มากขึ้นแม้จะยังต้องระวัง การส่งออกก็เริ่มหดตัวน้อยลง นี่คือภาพการฟื้นตัวขณะนี้
แต่ที่ยังไม่ฟื้นตัวและถูกกระทบมาก คือธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พึ่งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นรายได้หลัก เช่น ภูเก็ต สมุย ที่ไม่มีรายได้และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศยังเข้าไม่ถึง ในพื้นที่เหล่านี้แรงงานที่เคยทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวก็มีการปรับตัว โดยกลับไปภูมิลำเนาเดิมเพื่อหางานทำ หรือช่วยครอบครัวทำเกษตรหรือค้าขาย ที่เหลืออยู่คือเจ้าของกิจการในพื้นที่ เช่น โรงแรมที่ไม่มีธุรกิจ ไม่มีลูกค้าและอาจต้องปิดกิจการ ถ้าไม่มีรายได้หรือธุรกิจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการ
ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องมุ่งไปที่ภาคท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีปัญหามากขณะนี้เพื่อให้มีรายได้ ให้ประคองตัวได้ในช่วงที่โควิดยังไม่สงบและนักท่องเที่ยวทั่วโลกยังไม่ท่องเที่ยว โดยรัฐแทนที่จะใช้จ่ายแบบปูพรมเพื่อกระตุ้นการบริโภค
รัฐควรเน้นการใช้เงินเฉพาะจุดใน 3 เรื่อง
1.สร้างงานให้คนที่ต้องการทำงานมีงานทำ
2. ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่องเพื่อให้ประคองตัวได้ในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น และ
3. ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมาก ให้สามารถประคองตัวได้ ไม่ต้องปิดกิจการ หรือขายโรงแรมในช่วงที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น
การช่วยเหลือดังกล่าวจะเป็นการตอบโจทย์สิ่งที่เศรษฐกิจต้องการขณะนี้ เพราะเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุดและไม่สร้างความเสี่ยงให้กับส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวเหมือนข้อเสนอให้ลดจำนวนวันกักตัวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ประเด็นที่ 3 วิธีการช่วยเหลือ ในเรื่องนี้รัฐบาลต้องช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก เช่น ภูเก็ต สมุย โดยตรงและดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาเพื่อความโปร่งใส ปัจจุบันวงเงิน 4 แสนล้านบาทที่จัดเตรียมไว้กระตุ้นเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก.กู้เงินก็ยังไม่ได้นำมาใช้เป็นจำนวนมาก เงินเหล่านี้สามารถตัดทอนมาช่วยกระตุ้นธุรกิจในพื้นที่ท่องเที่ยวดังกล่าวในช่วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว เช่น จัดโครงการไทยเที่ยวไทยที่ลดราคามากๆ เฉพาะกับภูเก็ตและสมุย อย่าลืมว่า มีคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศปีที่แล้วกว่า 10 ล้านคน ใช้จ่ายกว่า 3 แสนล้านบาท นี่คือ พลังที่จะช่วยฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตและสมุย ถ้ามีการทำโครงการและบริหารจัดการอย่างตรงจุด
นอกจากนี้ โรงแรมที่ต้องเปิดแม้ไม่มีลูกค้า ทางการก็ควรช่วยชดเชยค่าจ้างพนักงานให้ส่วนหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่ปลดพนักงาน อีกอย่างหนึ่งที่ควรทำคือ ใช้เวลาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมาทำโครงการฟื้นฟูและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น ภูเก็ตและสมุย เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวหลังโควิด ที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้ เช่น จัดการระบบกำจัดขยะ น้ำ ถนน ระบบขนส่งมวลชน ระบบรถรางและอุโมงค์ที่ภูเก็ต และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยใช้เงินลงทุนในโครงการเหล่านี้สร้างงานในพื้นที่ พร้อมเปิดให้แรงงานไร้ฝีมือในพื้นที่ทำงานในโครงการเหล่านี้โดยได้รับค่าจ้างรายวันเท่ากับหรือสูงกว่าแรงงานขั้นต่ำ
นี่คือตัวอย่างมาตรการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด คือ ปัญหาอยู่ตรงไหนแก้ตรงนั้น ไม่อ้อมค้อมจนสร้างความเสี่ยงให้กับคนทั้งประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลชะลอแนวคิดเรื่องการลดเวลากักตัวไว้ก่อน และทุ่มทรัพยากรไปที่การแก้ไขภาวะความเป็นอยู่ของแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยวเหล่านี้โดยตรง ให้มีลูกค้าคนไทย มีรายได้ มีงานทำ โดยไม่ต้องเร่งให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาช่วงนี้ถึงขนาดจะลดเวลากักตัว เพราะจะสร้างความเสี่ยงให้กับคนทั้งประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ผมคิดว่าถ้าย้อนกลับไป 4-5 เดือนที่แล้ว คงไม่มีใครคิดที่จะเสนอแบบนี้ คือลดเวลากักตัวเหลือ 10 วัน คำถามคือ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อ 4-5 เดือนก่อนหรือไม่?