บทเรียนที่สำคัญอันหนึ่งจากภาวะวิกฤติที่แพร่กระจายไปทั่วโลก
กลุ่มประเทศหลายกลุ่ม ประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้งสืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ยืนยัน “ความเสี่ยง” ในรูปแบบต่างๆ
ภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ได้ส่งผลเสียแพร่กระจายไปแทบทุกประเทศนี้ คงทำให้เราจำได้ว่า ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้ประโยชน์ในหลายรูปแบบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นก็ตาม กลุ่มประเทศหลายกลุ่มก็ได้ประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้งสืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ภาวะวิกฤติเหล่านี้ยืนยันว่า “ความเสี่ยง” ในรูปแบบต่าง ๆ (เช่น ความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ) เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งทั้งในการประกอบธุรกิจของเอกชนและการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ เพราะความเสี่ยงเหล่านั้นก่อผลกระทบที่รุนแรงได้แก่ทั้งประเทศที่ก่อวิกฤติและประเทศคู่ค้าหรือข้างเคียง (เนื่องจากวงจรการเงิน การค้า และจิตวิทยา)
ตามแนวโน้มปกติแล้ว ธุรกิจเอกชนแทบทุกประเภทมักมีจุดประสงค์หลักเหมือนกันคือ ทำกำไรให้สูงสุดโดยใช้ช่องทางหรือกลยุทธ์หลายรูปแบบ เช่น ลงทุนในธุรกรรมใหม่ ๆ และ/หรือ เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่หลายธุรกิจเหล่านั้นกลับมองข้ามหรือให้ความสำคัญไม่เพียงพอคือ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ในแง่นี้หวังว่าวิกฤติเศรษฐกิจในอดีตคงให้ข้อเตือนใจแก่นักธุรกิจบ้างว่าควรมีความรอบคอบและมองการณ์ไกล ซึ่งตรงกับที่รัชกาลที่ 9 ได้ทรงให้คติที่สั้นและกินใจความได้ดีมากว่า “คิดก่อนพูด คิดก่อนทำ” นอกจากนั้น นักธุรกิจควรให้ความสำคัญแก่ความพร้อมของฐานะและความสอดคล้องกับสถานภาพของตนหรือนโยบายหลักของรัฐด้วย
ในหลายประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีรายได้และการศึกษาต่ำ ความเสี่ยงประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายสืบเนื่องมาจากการขาดข้อมูลข่าวสารธุรกิจที่ถูกต้องและทันสมัย ทำให้ธุรกิจเอกชน และ/หรือ ประชาชนที่เกี่ยวข้องประสบปัญหาที่รุนแรงได้ ดังนั้น ในแง่นี้หน่วยงานของรัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการติดตามและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารล่าสุดให้สาธารณชนทราบล่วงหน้า เพื่อช่วยให้เอกชน และ/หรือ เศรษฐกิจส่วนรวมไม่ประสบปัญหาหรือสภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ควบคู่กับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง รัฐอาจจำเป็นต้องวางกฎเกณฑ์ข้อบังคับหรือข้อเตือนใจให้เอกชนทราบเกี่ยวกับธุรกิจเหล่านั้นด้วย อนึ่ง กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับเหล่านั้นก็ไม่ควรจำกัดหรือเข้มงวดมากเกินไป เพราะโลกธุรกิจในยุคปัจจุบันมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ตรงกับ “อนิจจัง” ในพุทธศาสนา คือ ความไม่เที่ยง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
กลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยให้ทั้งรัฐและเอกชนสามารถต่อสู้กับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง (ของราคา ความต้องการ และอื่น ๆ ) ในตลาดโลก คือ การ “กระจาย” ประเภทของสินค้าและตลาด ประเภทของสินค้าในที่นี้หมายถึงชนิดของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ส่วนประเภทของตลาดนั้นหมายถึงตลาดภายในและตลาดภายนอกประเทศ การกระจายนี้จะช่วยลด ความเสี่ยงและถ่วงน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงอย่างเหมาะสมจนทำให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจส่วนรวมสามารถเข้าสู่จุดสมดุล (หรือ “มัชฌิมา” ) ได้อย่างยั่งยืน ในการลดความเสี่ยงโดยกลยุทธ์ “กระจาย” นี้อาจให้ผลตอบแทนสุทธิที่ต่ำกว่ากลยุทธ์ “กระจุก” บ้างในบางเวลาก็ตาม แต่โดยเฉลี่ยใน ระยะยาวแล้ว กลยุทธ์กระจายจะให้ผลตอบแทนที่ราบรื่นหรือสม่ำเสมอมากกว่ากลยุทธ์กระจุก เพราะ การลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก็มีมูลค่าเช่นเดียวกับผลตอบแทน
นอกจากนั้น ผลดีอีก 2 ประการของนโยบายกระจาย คือ เพิ่มเสถียรภาพให้แก่กระแสรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ให้แก่เศรษฐกิจส่วนรวมด้วย
ประสบการณ์ของเกษตรกรที่จะกล่าวต่อไปนี้ยืนยันว่าการกระจายดีกว่าการกระจุกอย่างแน่นอน (1) คุณชาญ มั่นฤทธิ์ ที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก (โทร. 089-708-3633) ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรโดยลดการปลูกข้าวในพื้นที่ 15 ไร่ เหลือเพียง 7 ไร่ และใช้พื้นที่ 8 ไร่ ที่เหลือไปปลูกพืชผักอื่น ๆ อันได้แก่ พริก ตะไคร้ ถั่วพู มะเขือ กะเพรา โหระพา มะพร้าว ขนุน กล้วย มะละกอ ไผ่ การเปลี่ยนแปลงไปทำการเกษตรแบบผสมผสานนี้ไม่ต้องใช้เงินทุนหรือแรงงานสูง แต่ผลตอบแทนจากการแปรรูปนี้กลับสูงกว่าการปลูกข้าวในเชิงเดี่ยวมากพอควร
นอกจากนั้น ผลตอบแทนสุทธิที่คุณชาญได้รับยังสม่ำเสมอและยั่งยืนอีกด้วย (2) คุณมนูญ สุวรรณชาตรี ที่อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล (โทร. 061-181-7247) ได้เปลี่ยนสภาพสวนยางพาราผืนใหญ่ 17 ไร่ มาเป็นยางพาราเพียง 3 ไร่ และนำพื้นที่ 14 ไร่ ที่เหลือไปปลูกพืชสวนผสม ตัวอย่างเช่น ยอดชะอม มะละกอ ตะไคร้ ขมิ้น ข่า กล้วย สะตอ การเปลี่ยนรูปแบบการเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเชิงผสมนี้ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่คุณมนูญอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่น่าพอใจของครอบครัว ปัจจัยที่มีส่วนช่วยมาก ได้แก่ ความต้องการของตลาด และเสถียรภาพของราคาที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่น่าเสียดายคือ มีเกษตรกรแบบผสมนี้เป็นจำนวนน้อยมากในประเทศไทย ทำให้เกิดการกระจุกตัวและก่อความเสี่ยงเป็นอันมากแก่ทั้งตัวเกษตรกรและเศรษฐกิจส่วนรวม หลักฐานของการกระจุกตัวนี้ดูได้จากสัดส่วนในมูลค่าของผลผลิตการเกษตรทั้งสิ้นของประเทศ 45% ของมูลค่านี้มาจากข้าว (20 %), ยาง (20 %) และมันสำปะหลัง (5 %) การกระจุกตัวเช่นนี้ทำให้ประมาณ 50% ของการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมของไทยขึ้นอยู่กับสินค้าเพียง 3 ประเภทนี้
การที่ไทยได้เข้าพึ่งตลาดโลกเป็นหลักให้แก่ผลผลิตการเกษตรจำนวนน้อยประเภทเช่นนี้ ก่อให้เกิดความเปราะบางแก่ภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นอันมาก เนื่องจากความผันผวนของราคา ความต้องการ และข้อตกลงหรือข้อขัดแย้งอื่น ๆ ในตลาดโลกที่มีอยู่มาก และไทยอาจไม่สามารถใช้อิทธิพลคุมตลาดได้ตามที่ต้องการ นอกจากนั้น ปัญหาจากการกระจุกตัวนี้ ก็เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมของไทยเช่นเดียวกัน ประมาณ 50% ของมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมทั้งสิ้นเกาะตัวอยู่ในกลุ่มอาหาร ปิโตรเคมี คอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ และรถยนต์ ขณะที่ 50% ของผลผลิตรถยนต์ คอมพิวเตอร์ อัญมณีเครื่องประดับ และยาง ก็พึ่งการส่งออกสู่ตลาดโลกเป็นหลัก
การศึกษาที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นชัดว่าในทุกภาคเศรษฐกิจของไทย ควรมีการกระจายประเภทสินค้าหรือผลผลิตมากกว่าปัจจุบันเป็นอันมาก เพื่อจุดประสงค์ที่จะลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการแปรผันของราคาและสภาวะตลาดที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและยากที่จะคาดการณ์ได้ถูกต้อง ในจุดนี้บางฝ่ายอาจโต้แย้งว่าเอกชนในไทยคงยังไม่สามารถกระจายประเภทผลผลิตได้ตามที่เสนอแนะข้างต้น เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ของเอกชนยังมีขนาดเล็กหรือเป็น SMEs
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการเอกชนรายเล็กก็มีการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นเป็นอันมาก (91,971 แห่ง เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ตามรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) หากการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้สามารถตกลงจัดทำระบบการกระจายประเภทและปริมาณผลผลิต รวมทั้งแผนปันผลอย่างยุติธรรมได้ (ดังเช่นสหกรณ์ที่ดี) ผู้ประกอบการเอกชนคงมีความเข้มแข็งมากขึ้น และสามารถต่อสู้กับความเสี่ยงได้ดีขึ้น นอกจากนั้น รัฐสามารถเข้าช่วยกระตุ้นการกระจายประเภทผลผลิตของภาคเอกชนได้อย่างแน่นอน โดยให้แรงจูงใจบางอย่าง (ที่อาจคล้ายกับนโยบาย “ช้อปดีมีคืน”) แก่ผู้ประกอบการเอกชนที่กระจายประเภทผลผลิตของตนได้สำเร็จ
*บทความโดย ดร.ปกรณ์ วิชยานนท์ อดีตผู้อำนวยการวิจัย (ด้านตลาดเงินตลาดทุน) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)