อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

ผมมักได้รับคำถามกลับอยู่เสมอเมื่อเชิญชวนให้ออกไปเลือกตั้ง อบจ.ในวันที่ ๒๐ ธ.ค.๖๓ ที่จะถึงนี้อยู่เสมอว่า “เลือกไปทำไม ไม่รู้ว่า อบจ.ทำอะไร”

 นอกเหนือจากคำบ่นที่ว่า “เลือกไปก็เหมือนเดิม” ผมจึงจะขอนำบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ อบจ.มาเสนอเพื่อความเข้าใจเพิ่มเติมว่าจริงๆแล้ว อบจ.มีความสำคัญมาก เพราะว่ากันจริงๆแล้วนายก อบจ.เองมีงบประมาณที่จะริเริ่มโครงการมากกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งแทบจะไม่มีงบประมาณเป็นของตนเองเสียด้วยซ้ำไป

หลักการทั่วไป

          ๑. อบจ.มีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีความเป็นอิสระ /ไม่ใช่ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย / ไม่สังกัดจังหวัด และ อบจ.ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล เทศบาล หรือ อบต.แต่อย่างใด

          ๒. มีอำนาจหน้าที่จัดบริการสาธารณะ ครอบคลุมเต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด   จะเห็นว่า อบจ.มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของ เทศบาลและ อบต.  อย่างไรก็ตาม  "แม้ว่าพื้นที่ทับซ้อนแต่อำนาจหน้าที่ไม่ทับซ้อน" แต่อยู่ในลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำ

          ๓. ระหว่างเทศบาลและ  อบต. กับ อบจ. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน/ เป็นคนละหน่วยงาน  /ไม่ได้สังกัดซึ่งกันและกัน  /บทบาทตามกฎหมายกำหนดให้บูรณาการร่วมกัน   โดยให้ อบจ.มีอำนาจในลักษณะ

          - ในลักษณะเล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆทำ  คือ ให้ อบจ.ทำโครงการที่เป็นภาพรวมทั้งจังหวัด  หรือมีความคาบเกี่ยวหลายเทศบาล หรือหลาย อบต.  เช่น ถนนสายที่พาดผ่าน อบต.หลาย อบต. 

          -  กรณีไม่คาบเกี่ยว หรือมิใช่ภาพรวมทั้งจังหวัด  อบจ.ก็อาจเข้าทำได้เมื่อ เทศบาล หรือ อบต.ในพื้นที่ร้องขอ  เช่น เทศบาล หรือ อบต.แห่งนั้นๆ อ้างว่า งบประมาณไม่เพียงพอ หรือเกินศักยภาพ

          ๔. มาตรา ๑๗ ของ พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒  ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ อบจ.ได้เริ่มต้นด้วยคำว่า "ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖ "  (มาตรา ๑๖ เกี่ยวกับอำนาจหน้าเทศบาล และ อบต.)  นั่นหมายความว่า กรณีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ อบจ.เรื่องใดซ้ำกับ เทศบาลหรือ อบต. ก็ให้ เทศบาล หรือ อบต.แห่งนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการก่อน

อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

กฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ อบจ.มีบทบัญญัติตามกฎกระทรวงฯ(พ.ศ. ๒๕๔๑)ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ

(๑) จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร

(๒) กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

(๓) บำบัดน้ำเสีย

(๔) บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(๕) วางผังเมือง

(๖) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นทางหลวงชนบทตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง

(๗) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำ

(๘) จัดให้มีท่าเทียบเรือ ท่าข้าม ที่จอดรถ และตลาด

(๙) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(๑๐) รักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

(๑๑) จัดการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา และบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

(๑๒) จัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา สถานพักผ่อนหย่อนใจสวนสาธารณะและสวนสัตว์ ตลอดจนสถานที่ประชุมอบรมสำหรับราษฎร

(๑๓) จัดให้มีการสังคมสงเคราะห์และการสาธารณูปการ

(๑๔) ป้องกันและบำบัดรักษาโรค

(๑๕) จัดตั้งและการบำรุงสถานพยาบาล

(๑๖) ส่งเสริมการท่องเที่ยว

(๑๗) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ

(๑๘) กิจการที่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

และอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ และ พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งผมจะนำมาเสนอในส่วนที่สำคัญๆรวมกัน คือ

(๑)สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น เช่น การอุดหนุนงบประมาณให้ อบต./เทศบาลนำไปใช้จัดบริการสาธารณะ เช่น ถนน สะพาน  ทางปฏิบัติมีเยอะมาก โดยเฉพาะ อบต.เล็กๆ ที่มีรายได้น้อย  กลไกที่ให้ อบจ.มีอำนาจหน้าที่ลักษณะนี้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำการพัฒนาในพื้นที่จังหวัด  

(๒)อบจ.อาจให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น โดยเรียกค่าบริการได้ โดยตราเป็นข้อบัญญัติ  เช่น ปัจจุบัน เช่น อบจ.พระนครศรีอยุธยา มีหอประชุม อบจ.ขอใช้จัดงานแต่งได้มีค่าบริการ, รถสุขาเคลื่อนที่, สนามกีฬา,บริการศูนย์ฟิตเนส ,บริการสระว่ายน้ำ ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าบริการ

(๓)อบจ.อาจมอบให้เอกชนกระทำกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน เช่น ห้องสุขาในตลาด  อาจให้เอกชนเข้าไปดูแลโดยให้เรียกเก็บค่าบริการได้ กำกับดูแลโดยกรอบกว้างเช่น ไปเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนที่มาใช้บริการได้ไม่เกินรายละ ๕ บาท

(๔)การดำเนินกิจการของ อบจ.ที่มีลักษณะเป็นการพาณิชย์อาจทำได้โดยการตราเป็นข้อบัญญัติ  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด  โดยอาจทำในรูปแบบบริษัทได้ แต่ปัจจุบันนี้เท่าที่ทราบ มีเพียง อบจ.ระยอง แห่งเดียวที่ทำเป็นบริษัทในเรื่องการกำจัดขยะ แต่กฎหมายออกมามาหลายสิบปี ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยเรื่องนี้เป็นการเฉพาะเลย

(๕)การดำเนินการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามมาตรา เช่น มีกรณี อบจ.พังงา ซึ่งมีโรงแรมด้วย

(๖)การจัดให้มีระบบรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัด เช่น ปัจจุบันมีการจัดซื้อกล้องวงจรปิดติดตั้งตามจุดสำคัญต่างๆ หน้าที่นี้โดยทางปฏิบัติจึงทำเพียงสนับสนุนวัสดุครุภัณฑ์ให้แก่ตำรวจ 

(๗)การให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น เช่น หอประชุมของ อบจ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากบริการเอกชนแล้ว ยังบริการแก่หน่วยงานของราชการสวนภูมิภาคโดยเก็บค่าธรรมเนียมด้วย แต่อัตราค่าธรรมเนียมน้อยกว่าเอกชน  กรณี อบจ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันยังบริการกำจัดขยะให้แก่ อบต.เทศบาลในเขตจังหวัดเรียกเก็บอัตราค่าธรรมเนียมอัตราตันละ ๑๕๐ บาท

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้บทบาทและอำนาจหน้าที่ของ อบจ.นั้นเกี่ยวพันกันคนไทย ๗๖ จังหวัด(ยกเว้น กทม.ซึ่งไม่ได้เป็น อบจ.แต่เป็นรูปแบบพิเศษต่างหาก) ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เราจึงควรให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้ง อบจ.ที่จะถึงนี้ เพื่อที่จะลบล้างล้างคำกล่าวที่ว่า “เลือกไปก็เหมือนเดิม”ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

-----------------