สาธารณรัฐนิยม ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญสวีเดน
แนวคิดนิยมสาธารณรัฐในสวีเดนเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไร หลายคนคิดว่าน่าจะเริ่มในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789
แต่จริงๆแล้ว สาธารณรัฐในยุโรปเกิดมาก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นคือ สาธารณรัฐดัทช์ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1588 และสิ้นสุดลง ค.ศ. 1795 และกลับมามีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ ค.ศ. 1815 จนถึงปัจจุบัน อาจมองได้ว่า การกลับมาของสถาบันพระมหากษัตริย์และเข้าสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของดัทช์ในปี ค.ศ. 1815 นั้นสวนกระแสปฏิวัติฝรั่งเศสและกระแสล้มเจ้าในยุโรป แต่ถ้ารู้จักประวัติศาสตร์ยุโรปดีขึ้นหน่อย ก็จะพบว่า ในปี ค.ศ.1814 นโปเลียนพ่ายแพ้สงครามต่ออังกฤษและรัสเซียและพันธมิตรอื่นๆ และอังกฤษได้บีบบังคับให้ฝรั่งเศสต้องสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมา และใช้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
สวีเดนรู้จักสาธารณรัฐจากการทำการค้ากับชาวดัทช์ แต่การรู้จักสาธารณรัฐดัทช์ในช่วงนั้น ก็ไม่ได้ทำให้เกิดกระแสนิยมสาธารณรัฐในสวีเดนแต่อย่างใด
แต่กระแสนิยมสาธารณรัฐที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในลักษณะของงานเขียนเกิดขึ้นครั้งแรกในงานของ Heinrich Ludwig von Hess โดยเขาได้เขียนงานที่ชื่อว่า Der Republickaner ที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1754 แนวคิดสาธารณรัฐนิยมที่ปรากฏในงานของ Heinrich Ludwig von Hess มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวเป็น “สาธารณรัฐนิยมในแบบสวีเดน” นั่นคือ “สาธารณรัฐนิยมอภิชน” (aristocratic republicanism) ที่ต่อต้านพระราชอำนาจอันสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ต้องการล้มระบอบที่มีอภิชนในสังคมสวีเดน ข้อเขียนของ Hess เกิดขึ้นในบริบทความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับกลุ่มอภิชนที่ครองอำนาจทางการเมืองในสวีเดนในขณะนั้น Hess ใช้การโจมตีอย่างรุนแรงต่อรัฐธรรมนูญสัมบูรณนิยม (Absolutism) ของเยอรมันในขณะนั้นเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองในสวีเดน โดยเขาต้องการปกป้องสนับสนุนอำนาจของพวกอภิชนสวีเดนและต่อต้านการฟื้นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์
เพราะหากพระมหากษัตริย์สวีเดนมีพระราชอำนาจมากขึ้นก็จะเป็นอุปสรรคต่อการตรากฎหมายเพื่อประโยชน์ของพวกอภิชน เพราะพระมหากษัตริย์สวีเดนมีพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ ชนชั้นชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
แน่นอนว่าในงานของ Hess พูดถึงสาธารณรัฐในอุดมคติอยู่บ้าง นั่นคือ คนจะเสมอภาคกัน มีเสรีภาพอะไรทำนองนั้น แต่ในความเป็นจริง เขาต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1772 ของสวีเดนที่ยังคงไว้ซึ่งอภิสิทธิ์ของอภิชนอย่างเคร่งครัด
คำว่า สาธารณรัฐ จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดหรือลดทอนอำนาจของผู้ที่จะเป็นอุปสรรคขัดขวางผลประโยชน์ของผู้กล่าวอ้างมากกว่าจะต้องการให้เกิดความเสมอภาคตามอุดมคติอย่างแท้จริง
หลักฐานสนับสนุนประเด็นดังกล่าวนี้คือ เมื่อเกิดปฏิวัติฝรั่งเศส อภิชนบางกลุ่มในสวีเดนไม่ต้องการที่จะเป็นสาธารณรัฐอย่างฝรั่งเศส แต่อภิชนบางกลุ่มในสวีเดนหาทางจำกัดพระมหากษัตริย์สวีเดนโดยการลอบปลงพระชนม์พระเจ้ากุสตาฟที่สามในปี ค.ศ. 1792 สามปีหลังเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 แต่ก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่ากลุ่มอภิชนดังกล่าวต้องการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองสวีเดน ค.ศ. 1809 แม้คณะผู้ก่อการ ค.ศ. 1809 จะสามารถจับกุมตัวพระเจ้ากุสตาฟที่สี่และบังคับให้สละราชสมบัติได้แล้ว แต่พวกอภิชนนั้นก็ไม่ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และในตอนร่างรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1809 เมื่อพวกอภิชนมีความขัดแย้งกับพวกชาวนาในประเด็นเรื่องอภิสิทธิ์ของพวกอภิชนและข้อเรียกร้องสิทธิ์ของชาวนา แม้ว่าพวกชาวนาจะยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แต่พวกชาวนาก็ท้าพวกอภิชนว่า ถ้าไม่ยอมตามข้อเรียกร้องของพวกตน ก็ให้ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วเป็นประชาธิปไตยไปเลยเอาไหม เพราะพวกอภิชนที่เป็นคณะผู้ก่อการ ค.ศ. 1809 ทำการจับกุมและบังคับให้พระมหากษัตริย์สละราชสมบัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยอ้างเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน แต่พวกอภิชนก็ไม่เอา เพราะการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงการล้มระเบียบโครงสร้างของอภิชนไปด้วย และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เองที่ Hess ในปี ค.ศ. 1754 เรียกร้องปกป้องสาธารณรัฐอภิชนของสวีเดน โดยไม่ได้ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
จนถึง ค.ศ. 1830 ถึงจะมีการเรียกร้องให้สวีเดนเป็นสาธารณรัฐอย่างจริงๆจังๆ โดยนักการเมืองชื่อ Lars Johan Hierta ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ชื่อ Aftonbladet แต่กระนั้นก็ไม่ได้มีการใช้คำว่า สาธารณรัฐ เลย และสิ่งที่เขาเรียกร้องคือ การขับไล่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบสี่ออกไป
สวีเดนมีการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมืองโดยติดโปสเตอร์คำว่า สาธารณรัฐ เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1848 มีการใช้ถ้อยคำรุนแรง จนเกิดการจลาจล และผู้เรียกร้องต้องเสียชีวิตจากการปราบปรามโดยกองทัพของรัฐบาลเป็นจำนวนสามสิบคน แต่เมื่อดูเนื้อหาสาระของการเรียกร้องจริงๆแล้ว ก็ไม่ได้ต้องการสาธารณรัฐจริงๆ แต่ต้องการสิทธิ์ในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1889 ในการจัดตั้งพรรค Social Democrat ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ของพรรคว่าต้องการจะสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นในสวีเดน แต่พอพรรคได้เป็นรัฐบาลในปี ค.ศ. 1920 ก็เลิกล้มเจตนารมณ์นั้นไปเฉยๆ จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในทางปฏิบัติ สาธารณรัฐเป็นศัพท์ที่เอาไว้ปลุกระดมทางการเมืองเพื่อกำจัดหรือจำกัดอำนาจของอะไรก็แล้ว แต่ที่เป็นอุปสรรคทางการเมืองโดยการอ้างไปที่อุดมคติของสาธารณรัฐที่ทุกคนมีเสรีภาพเสมอกัน เป็นเจ้าของประเทศร่วมกันอย่างเท่าเทียมกัน เพราะแม้แต่สาธารณรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ยังทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติไม่ได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อได้อำนาจก็จะไม่ไปต่อ ปัจจุบัน ราชอาณาจักรสวีเดนปกครองมีการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือบางทีก็เรียกว่าพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบบรัฐสภา (parliamentary monarchy) เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับที่ 9 จาก 156 ประเทศในการจัดอันดับความสุขขององค์การสหประชาชาติ ค.ศ. 2018 และได้คะแนนเต็มจาก Freedom House ในการจัดอันดับเสรีภาพพลเมืองและสิทธิทางการเมืองต่างๆ แต่กระนั้น สวีเดนก็ยังมีกระแสนิยมสาธารณรัฐ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป ต้องการให้สวีเดนเป็นสาธารณรัฐ ยกเลิกระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยใน ค.ศ. 1997 มีการตั้งสมาคมสาธารณรัฐแห่งสวีเดนขึ้น และในปี ค.ศ. 2010 ได้มีการตั้งพันธมิตรกลุ่มเคลื่อนไหวสาธารณรัฐแห่งยุโรป (Alliance of European Republican Movements) ในกรุงสต๊อคโฮล์ม โดยพวกนิยมสาธารณรัฐจะประสานร่วมมือกับกลุ่มนิยมสาธารณรัฐอื่นๆในยุโรป
เหตุผลของพวกนิยมสาธารณรัฐในสวีเดนเป็นเรื่องอุดมการณ์ล้วนๆ ไม่มีปัญหาเศรษฐกิจการเมืองอย่างเป็นนัยสำคัญให้เป็นข้ออ้าง อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้มีปัญหาให้เป็นข้ออ้างในการล้มล้างสถาบันฯได้แต่อย่างใด พูดง่ายๆก็คือ พวกสาธารณรัฐในสวีเดนไม่ต้องการให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องของความไม่ชอบสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น