Design Thinking ทฤษฎีใหม่ และหัวใจที่เป็นสุข
กระแสแห่ง Digital Disruption ทำให้หลายๆ ภาคส่วนค่อนข้างตื่นตัวกับศาสตร์ที่ (ดูเหมือน) ใหม่หลายๆ แขนง เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ต่อกร!
4-5 ปีมานี้ ประเทศไทยค่อนข้างตื่นตัวกับศาสตร์ที่ (ดูเหมือน) ใหม่หลายๆ แขนง เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ต่อกรกับกระแสแห่ง Digital Disruption ที่พัลวันต่อเนื่องมาถึง COVID และ Design Thinking คือศาสตร์หนึ่งที่มีคนพูดถึงเสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงธุรกิจ บ้างก็นำมาประยุกต์กับหลายๆ เรื่องใกล้ตัว แม้แต่ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่เปิดสอนหลักสูตร Design Thinking เอง ก็เอาศาสตร์นี้มาช่วย “ออกแบบชีวิต” ผ่านวิชา Design Happiness
Design Thinking คือ กระบวนการ หรือ วิธีคิดแบบนักออกแบบที่เดิมใช้กันในสายงานออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยมีมนุษย์ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ตั้งต้นจากความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง สู่การคิดแบบไม่มีกรอบ แล้วนำมาทดลองลงมือทำแบบย่อมๆ ถ้าเวิร์ค จึงนำไปขยายใช้จริงๆ
บางคนเรียก Design Thinking ว่า Human-Centered Design เพราะใช้ “คน” ที่เราจะช่วยแก้ปัญหาเป็นศูนย์กลาง ถ้าเราเป็นแบรนด์ ศูนย์กลางคือลูกค้า, ถ้าเราเป็นครู ศูนย์กลางคือนักเรียน และสำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ศูนย์กลางของพระองค์คือประชาชนคนไทย
วันพ่อปีนี้ ผู้เขียนก็เหมือนคนไทยอีกหลายๆ คน ที่คิดถึงพระองค์ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของปรัชญาหรือองค์ความรู้ที่ได้ทรงมอบไว้ให้กับเรา สิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดี มีคุณค่าที่จะนำมาปฏิบัติสานต่อ ส่วนหนึ่งเป็นผลคัดกรองมาจากโครงการในพระราชดำริที่มีกว่า 4,600 โครงการ ในการมุ่งแก้ไขปัญหา โดยมี “คนไทย” เป็นศูนย์กลางตั้งต้น ทรงมีการเข้าถึงโดยลงพื้นที่ สำรวจ สังเกตผู้คนและสภาพแวดล้อมเพื่อเข้าใจปัญหา (Empathize) จากนั้นจึงวิเคราะห์ความเชื่อมโยงทั้งหมด เพื่อระบุโจทย์ความต้องการ (Define) แล้วจึงหาแนวทางการแก้ไขปัญหา (Ideate) ด้วยการผสมผสานศาสตร์ด้านต่างๆ และการค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วทำให้ความคิดเป็นรูปธรรมโดยการประดิษฐ์หรือพัฒนาต้นแบบ (Prototype) จากนั้น จึงนำไปทดสอบ (Test) ในสภาพแวดล้อมจริง ปรับแก้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นสิ่งที่ใช้ได้จริงและยั่งยืน
การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาของพระองค์ท่าน อันสอดคล้องกับศาสตร์ Design Thinking ของสากล มีให้เห็นมากมาย เช่น โครงการทฤษฎีใหม่, แกล้งดิน, กังหันน้ำชัยพัฒนา, ฝนหลวง เป็นต้น หากหยิบยกโครงการทฤษฎีใหม่มาถอดบทเรียนวิชา Design Thinking จะเห็นว่าการเข้าใจปัญหา เข้าถึงผู้คนและพื้นที่ (Empathize) ทำให้รู้ว่าเกษตรกรมีผลผลิตไม่พอกินเพราะไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ จึงระบุความต้องการ (Define) หาวิธีจัดการน้ำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับชลประทานระบบใหญ่อย่างเดียว จากนั้นจึงหาแนวทางแก้ปัญหา (Ideate) โดยขุดสระเพื่อเก็บน้ำและจัดสัดส่วนการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม นำสู่การพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ที่โครงการต้นแบบวัดมงคลชัยพัฒนา จ.สระบุรี และมีการทดสอบ (Test) ต้นแบบ ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา
ในช่วงเวลาของวิกฤติโควิด ที่ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย เราพบปัญหามากมายในทุกเมื่อเชื่อวัน บางคนหนักหนาถึงขั้นเป็นมรสุมหลายระลอก หนทางแห่งการแก้ปัญหาคงมีหลากหลายวิธี แต่วิถี Design Thinking ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราใช้ช่วยเหลือพสกนิกร, ที่บริษัทอย่าง Google, Apple ใช้สร้างสรรค์พัฒนาองค์กร ก็น่าสนใจ ลองศึกษาแล้วนำมาปรับใช้กัน อาจไม่ต้องถึงขั้นออกแบบสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก แต่เพียงออกแบบความสุขด้วยความ “เข้าใจ เข้าถึง” ซึ่งตัวตนของเราเอง แล้วนำมา “พัฒนา” ชีวิตให้มีความสุข เป็นการ Design Happiness ก็อาจงดงามเพียงพอแล้ว