‘การกระจายวัคซีน’ ความสำเร็จของอิสราเอล
แสงสว่างปลายอุโมงค์ดูชัดเจนขึ้นเมื่อจากการพัฒนาวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำเร็จ
การกระจายวัคซีนก็ยังจำกัดและการทำให้ทั่วถึงในระยะเวลาที่รวดเร็วนั้นยากพอๆ กับการคิดค้นวัคซีน
ทั่วโลกนั้นจับตามองและเอาใจช่วยกับการคิดค้นวัคซีนเพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกของวิกฤติโรคระบาดนี้ได้ ผู้บริหารประเทศ นักการเมืองก็ต่างสัญญากับประชาชนถึงการเข้าถึงวัคซีนที่รวดเร็วเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยง เพื่อผลักดันให้ประชาชนและที่สำคัญฟันเฟืองทางเศรษฐกิจกลับมาหมุนเคลื่อนได้ดังเดิม
วัคซีนป้องกันโรคที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นใหม่นี้ได้ส่งผลทั้งทางจิตวิทยาและส่งสัญญาณความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในทางบวก แต่ทุกประเทศยังคงต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ ที่อาจจะใหญ่พอกันกับการคิดค้นวัคซีน นั่นคือ จะกระจายวัคซีนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลมากที่สุด
มีตัวเลขรายงานจากเครือข่ายของมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดจากตัวเลขที่เก็บข้อมูล ณ วันที่ 1 ม.ค. 2564 ว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่สามารถกระจายวัคซีนให้แก่ประชากรมากที่สุด คือเกินกว่า 10% ของประชากร เทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิ สหรัฐ อังกฤษ ที่ถึงแม้จะอยู่ในกลุ่มผู้นำการกระจายวัคซีนที่ทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด แต่ก็ยังกระจายแก่ประชาชนคนทั่วไปได้แต่เพียงไม่ถึง 5% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ
ณ ปัจจุบัน อิสราเอลฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1 ล้านเข็ม คิดเป็น 10% แก่ประชาชนคนทั่วไป ที่มีอยู่ในประเทศเกือบ 9 ล้านคน โดยเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. ฉีดทุกวันๆ ละกว่า 150,000 เข็ม โดยเริ่มที่ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสาธารณสุข
การเข้าถึงวัคซีนนั้นไม่ง่าย เช่นเดียวกับการกระจายวัคซีนนั้นทำได้ไม่ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรมาก ความยืดหยุ่นและบุคลากรในระบบราชการของระบบราชการนั้นสามารถเป็นได้ทั้งปัจจัยเกื้อหนุนสู่ความสำเร็จหรืออุปสรรค
เพราะการกระจายวัคซีนนั้นทำได้ไม่ง่ายในทางปฏิบัติ เราจึงควรศึกษาเปรียบเทียบข้อเด่นข้อด้อยของแต่ละประเทศเพื่อมาจัดการการเข้าถึงและกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ความล่าช้าด้อยประสิทธิภาพจากการบริหารงานไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพของประชาชนมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ยังทำลายเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน
ที่อิสราเอลสามารถเข้าถึงและกระจายวัคซีนได้ดีนั้นก็เพราะ รัฐบาลได้ทำสัญญาซื้อขายวัคซีนกับ Pfizer-BioNTech ไว้ตั้งแต่วิกฤตินี้เพิ่งจะเริ่ม และการกระจายวัคซีนที่ผลิตที่ยากยิ่งเพราะต้องควบคุมอุณหภูมิที่ -70 องศาเซลเซียสก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง
เช่นเดียวกับหลายประเทศ อิสราเอลนั้นผ่านการปิดเมืองมาแล้วกว่า 3 ครั้ง ประชาชนเริ่มมีความเบื่อหน่ายกับภาวะวิกฤติ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วประชาชนต่างเข้าใจเนื้อหาที่มาของวิกฤติ แต่สิ่งที่ประชาชนไม่เข้าใจ รับไม่ได้ และตั้งคำถามคือ การบริหารจัดการบ้านเมืองในช่วงวิกฤติและการแก้ปัญหาของผู้บริหารบ้านเมืองนั้นน่าจะทำได้ดีกว่านี้หรือไม่
อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ ความตั้งใจในการแก้ปัญหาวิกฤติ การสร้างผลงานของผู้บริหารประเทศ เพราะอิสราเอลกำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือน มี.ค. ที่กำลังจะถึง การรีบเร่งกระจายวัคซีนเพื่อเอาใจประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจึงไม่อาจมองข้ามได้ และนี่คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย เพราะผู้บริหารประเทศมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน จึงต้องเร่งทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์
ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นการมองการณ์ไกล มองเห็นปัญหาและทางออกแต่แรกเริ่ม ความสามารถและอิทธิพลทางการเงินที่สามารถเข้าถึงทำสัญญากับบริษัทผู้คิดค้นวัคซีน ตลอดจนความสามารถในการกระจายวัคซีน ไม่ว่าจะด้วยแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ แต่ผลสัมฤทธิ์ก็คือ ชนะกับชนะ ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีน และผู้บริหารประเทศสามารถพูดได้ว่านี่คือผลงานอีกชิ้นหนึ่งก่อนเลือกตั้ง
กรณีศึกษาการกระจายวัคซีนของอิสราเอลนี้ชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลมีสติปัญญาสัมปชัญญะที่ครบถ้วน มีความตั้งมั่นตั้งใจทำอะไรแล้ว ไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งการแก้ไขปัญหาที่ยากยิ่งนี้ได้ แม้กระทั่งความล่าช้าของระบบราชการเองก็ตาม