ทางออกสายกลางที่มีแนวปฏิรูปอย่างแท้จริง
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่งที่จะยืดเยื้อไปอย่างไม่เป็นผลดีต่อใคร ไม่มีฝ่ายไหนเอาชนะได้เด็ดขาด
พวกที่คิดแบบพวกฉันถูก 100% หรือถูกทุกเรื่อง พวกแกผิด 100% หรือผิดทุกเรื่อง (ทั้ง๒ฝ่าย)จะใจแคบดื้อรั้นไม่ฟังใคร การจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯแบบหาตัวแทนกลุ่มการเมืองต่างๆเข้ามาคุยกัน จะไม่ได้ผล ควรจะสรรหาคนกลางที่ใจกว้าง มองการณ์ไกล คิดเพื่อส่วนรวมในระยะยาวและเป็นนักปฏิรูปอย่างแท้จริง จึงจะพอคิดหาทางออกสายกลางที่ไม่สุดโต่งหรือเอียงไปทางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้
ทางออกคือทำอย่างไรจะช่วยให้คนไทยฝึกการคิดใหม่ ทำใจให้กว้าง อดกลั้นต่อกลุ่มคนที่คิดแตกต่าง มองปัญหาตามความเป็นจริงเป็นเรื่องๆ ไป มองให้กว้างและไกลหน่อยที่ประโยชน์ระยะยาวของคนทั้งประเทศ เรียนรู้จักการประนีประนอม, ประสานประโยชน์, สามัคคีรวมพลัง รู้จักใช้สติปัญญารวมหมู่ (Collective Wisdom) ระดมความรู้ ความคิด ของสมาชิกในองค์กร ชุมชน ประเทศ เพื่อหาทางออกที่เป็นทางสายกลางที่มีลักษณะปฏิรูป มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ในระยะยาวอย่างแท้จริง ไม่จารีตนิยมสุดโต่งหรือเสรีนิยมแบบหัวรุนแรงสุดโต่ง
ฝ่ายรัฐบาลควรเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีการบริหารประเทศแบบใช้อำนาจรวมศูนย์และมุ่งเอาชนะทางการเมืองมากเกินไป ฝ่ายผู้ชุมนุม (และนักการเมืองฝ่ายค้านบางคนที่หนุนหลัง) เลิกมองแบบง่ายๆ ว่า ถ้าพวกตนได้ตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อได้ จะแก้ปัญหาสังคมทุกอย่างได้โดยอัตโนมัติ ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ควรเชื่อมั่นในตนเองสูงเกินไปจนไม่สนใจที่จะรับฟัง เรียนรู้ จากคนอื่น ควรจะต้องอ่านวิจัยหาข้อมูลอย่างวิพากษ์วิจารณ์ให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจทำเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับผู้นำประเทศอื่นๆ ได้ต้องแสวงหากันนำแบบรวมหมู่ การนำแบบประชาธิปไตย รู้จักใช้คนอื่นๆ ใช้ข้อมูลจากทุกฝ่ายให้เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ
สังคมไทยล้าหลังและมีปัญหามากในปัจจุบัน มาจากหลายสาเหตุทั้งระบบการเลี้ยงดูลูก การกล่อมเกลาทางสังคม ระบบการศึกษา แบบจารีตนิยมที่ล้าหลัง เรียนหนังสือกันแบบท่องจำข้อมูล คิดวิเคราะห์ไม่เป็น ไม่ค่อยมีความคิดจิตใจแบบนักวิทยาศาสตร์ ที่พิจารณาปัญหาต่างๆ ด้วยข้อมูล หลักฐาน เหตุผล เพื่อจะได้เข้าใจความจริงและค่อยตัดสินใจหลังจากได้เปรียบเทียบข้อมูล ผลดี, ผลเสีย อย่างรอบด้านแล้ว แม้แต่ชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาระดับจบมหาวิทยาลัยก็ยังชอบใช้ความรู้ ประสบการณ์เท่าที่มีและอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้นตัดสินใจเอาง่ายๆ คิดแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่ง เชื่อแต่พรรคพวกตนเอง เชื่อว่าพวกตัวเองถูก 100% ฝ่ายตรงข้ามผิด 100% คนคิดแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง แบบนี้จะเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ อย่างมีเหตุผล อย่างจำแนกเป็นเรื่องๆ ไป
โดยสภาพพื้นฐานของประชากรและทรัพยากรแล้ว ไทยควรพัฒนาได้ดีกว่าสภาพที่เป็นอยู่ ไทยมีประชากรมากเป็นอันดับ 21 ของโลก มีพื้นที่ที่เพาะปลูกได้ใหญ่อันดับที่ 19 ของโลก แต่กลับเป็นประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลาง ที่ดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่อันดับ 83 ล้าหลังกว่าหลายประเทศมาก ปัญหาใหญ่สุดคือมีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางฐานะและอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจการเมือง ระดับการศึกษา การได้รับผลตอบแทนในการทำงาน ระหว่างคนรวยส่วนน้อย กับคนจนส่วนใหญ่สูงมาก ผลิตภาพหรือประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานไทยต่ำ รายได้และอำนาจซื้อต่ำ เศรษฐกิจภายในประเทศจึงเล็ก ต้องไปพึ่งพาและเสียเปรียบต่างชาติ
การเมืองเองมีความขัดแย้งและปัญหาสังคมสูง ชนชั้นนำกลุ่มน้อยยังผูกขาด ครอบงำทางความคิด ความรู้ ทำให้ไม่อาจเกิดแนวคิดใหม่ในการปฏิรูปประเทศเชิงปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ให้ได้ผลอย่างแท้จริง ประชาชนโดยรวมมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นต่ำ ที่เศรษฐกิจไทยเสียหายจากปัญหาโรคระบาดมาก ก็เพราะพึ่งการท่องเที่ยว การลงทุน การค้า ฯลฯจากต่างประเทศมากไป พึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศได้น้อย ปล่อยให้คนส่วนใหญ่จน มีรายได้และอำนาจซื้อต่ำ
ทางออก คือต้องหาทางออกจากความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่งโดยการเจรจาประนีประนอมเพื่อหาทางออกที่เป็นทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง และต้องกล้าปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมเพื่อจะแก้ปัญหาใหญ่อย่างเอาจริง
ทุกฝ่ายควรเปิดใจกว้าง ระดมสมอง ระดมสติปัญญา ความรู้ความคิดจากปัญญาชนตัวแทนของเกษตรกร คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย นักวิชาการ นักวิชาชีพ นักบริหาร ฯลฯ ให้มาสัมมนาอภิปรายกันแบบเปิดใจ ใจกว้าง ตั้งใจ รับฟังกันและกัน และหาแนวคิด บทเรียน ข้อสรุปที่ดีที่สุดจากสภาพปัญหาจริงไปเผยแพร่ต่อ/ทดลองทำ ไม่ใช่แค่มาโต้วาทีในที่สาธารณะเพื่อเอาชนะคะคานกัน แบบเลือกข้างรัฐบาลหรือฝ่ายค้านข้างใดข้างหนึ่ง เราจึงจะมีทางได้องค์ความรู้ที่จะนำไปแก้ปัญหาพัฒนาประเทศได้ถูกทางได้
นักวิชาการของภาคประชาชน ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศในแนวเสรีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ในเรื่องเศรษฐกิจ การคลัง การเงิน พลังงาน การจัดการทรัพยากร ที่ดิน ป่าไม้ เรื่องการปฏิรูปการเกษตร การประมง ธุรกิจขนาดย่อม ปฏิรูปการศึกษา การฝึกอาชีพ สาธารณสุข การแก้ไขปัญหาสังคม และรัฐสวัสดิการ ฯลฯ ไว้มากพอสมควร แต่สื่อมวลชน รัฐบาล และคนชั้นนำ (รวมทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายประท้วงด้วย) ไม่ค่อยสนใจรับฟังและร่วมอภิปรายด้วยน้อย
ถ้าจะปฏิรูปประเทศให้ได้ผลจริง คนไทยต้องสนใจที่จะอ่าน เรียนรู้ในเชิงวิชาการ ความรู้ เหตุผล มากขึ้น จะได้เข้าใจว่าปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมระดับประเทศนั้นเป็นปัญหาเชิงระบบโครงสร้างทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวาร ที่เป็นตัวสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจน และความขัดแย้ง และเราต้องคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้าง มากกว่าแค่การคิดเรื่องเปลี่ยนตัวผู้นำ หรือให้พรรคหรือกลุ่มการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล เพราะพวกเขาในตอนนี้ต่างก็คิดคล้ายๆ กัน มีข้อจำกัดพอๆ กัน
ไทยมีประชากรและทรัพยากรมากพอที่จะเลือกนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแนวทางเลือกใหม่แบบพึ่งตนเอง พึ่งแรงงาน ทรัพยากรภายในประเทศเพิ่มขึ้น กระจายทรัพย์สิน รายได้ ให้เป็นธรรมขึ้น จะสามารถทำให้เศรษฐกิจภายในตลาดประเทศขยายใหญ่ขึ้นได้หลายเท่า ลดการพึ่งพาการลงทุน การค้าจากต่างประเทศที่ทำให้เราเสียเปรียบมากลงได้ เน้นคุณภาพชีวิตและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ และทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ไทยจะปฏิรูปได้ต้องใช้แนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ที่กล้าผ่าตัดแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และปัญหาที่คนแตกออกเป็นหลายฝักหลายฝ่ายได้ การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้ได้ก่อน จึงจะฟื้นเศรษฐกิจได้ ช่วยให้คนรักชาติและสามัคคีเพื่อชาติได้ กลุ่มคนที่มีอำนาจ คนรวย จะต้องยอมลดอำนาจ ลดความมั่งคั่งลงมา ประสานประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่มีความเสมอภาคทางโอกาสนี้เพิ่มขึ้น เราจึงจะสร้างการบริหารจัดการที่ฉลาดเข้มแข็งและพัฒนาประเทศไปแข่งขันกับคนอื่นและทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง