คิดใหม่ทำใหม่! SME เข้าถึง SoftLoan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก
นโยบายภาครัฐและ ธปท.ต้องการช่วยเหลือทางการเงินแก่ SME แต่ในการปฎิบัติกลับตั้งเงื่อนไขที่ขวางกั้นการเข้าถึงความช่วยเหลือดังกล่าว
ความพยายามของรัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการคลายล็อก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้าน ด้วยเงื่อนไขป้องกันความเสี่ยงสูง นับตั้งแต่ ทำให้ปล่อยกู้ได้เพียง 1.2 แสนล้าน แต่เบื้องต้นวงเงินรวม 5 แสนล้านบาทโดยมีเงื่อนไข ต้องเป็นผู้เคยได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบการใหม่ก็เข้าไม่ถึงสินเชื่อซอฟโลนด้วยธนาคารเองก็ไม่อยากปล่อยสินเชื่อเพราะกลัว NPL ล่าสุด ตัวแทนรัฐบาลในฝ่ายนิติบัญญัติหารือด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหาทางออกใหม่ด้วยการออกกฏหมายใหม่ เปิดทางให้มีการปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินให้แก่ SME ได้ง่าย และช่วยเหลือธุรกิจได้ทันเวลา ในช่วงการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19
หากพิจารณานโยบายภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ที่ดี ต้องการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 แต่ในการปฎิบัติ กลับปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยสถาบันการเงินจะต้องปล่อยสินเชื่อใหม่แก่ลูกค้าเดิม จากการศึกษา จำนวนผู้ประกอบการ SME ที่มีการใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มีเพียง 5.2 แสนราย ซึ่งคิดเป็นเพียง 17% ของจำนวนผู้ประกอบการ SME ทั้งหมด นั่นก็คือ ผู้ประกอบการ SME กว่า 83% ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องพิจารณาช่องทางหรือแพลทฟอร์มอื่นๆนอกเหนือจากสถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ตัวจริงสามารถเข้าถึงสินเชื่อซอฟตโลนอย่างมีประสิทธิภาพ
83% ของ SME ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อ ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน
จากการศึกษาฐานข้อมูลหนี้รายสัญญา SME จำนวนทั้งสิ้นกว่า 1.4 ล้านสัญญาที่ธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมกราคม 2561 พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1.จำนวนผู้ประกอบการ SME ที่มีการใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มีเพียง 5.2 แสนราย ซึ่งคิดเป็นเพียง 17% ของจำนวนผู้ประกอบการ SME ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ในบรรดาผู้ประกอบการ SME ที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้นสินเชื่อส่วนใหญ่มีการกระจุกอยู่กับผู้ประกอบการบางรายเท่านั้น
2.ในบรรดาผู้ประกอบการ SME ที่มีสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์นั้นส่วนใหญ่สัดส่วนของจำนวนผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาคิดเป็น 75% แต่สัดส่วนของยอดสินเชื่อคงค้างจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้รวมแล้วเป็นเพียง 25% เท่านั้น
3.ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดามีมูลค่าสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่ำกว่าผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล ปัจจัยหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากผู้ประกอบ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่มีหลักทรัพย์และงบการเงินที่เป็นระบบ ไม่สามารถขอสินเชื่อได้
SME มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในหลายหลายด้าน ทั้งทางด้านการผลิต การจ้างงาน การลงทุน และการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ประการแรก ในทางด้านการผลิตนั้น SME เป็นหน่วยการผลิตที่สำคัญในการผลิตสินค้านค้าขั้นกลาง (intermediate goods) ของห่วงโซ่การผลิตโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ประการที่สอง SME มีบทบาทอย่างมากต่อการจ้างงานของประเทศ เนื่องจาก SME มีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งบทบาทนี้ยังรวมถึงการที่ SME เป็นภาคธุรกิจที่ช่วยดูดซับแรงงานที่เคลื่อนย้ายออกจากภาคการเกษตร การประกอบการของ SME จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจำนวนมากของประเทศการที่จะปล่อยให้ SME กว่า 83% ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด และไม่ได้รับความช่วยเหลือ จึงเป็นหายนะใหญ่ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
SME ที่ต้องการสินเชื่อมากที่สุด...ไม่มีสิทธิเข้าถึงซอฟโลน !!!
ปัญหาของ มาตรการการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากร้องเรียนว่าเข้าไม่ถึงสินเชื่อดังกล่าว เพราะสินเชื่อนี้ปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเน้นดูแลลูกหนี้ของตัวเอง และเรียงลำดับดูแลลูกหนี้ชั้นดีก่อน และแบงค์ชาติกำหนดว่า SMEs ที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงินจะขอ soft loan แบงก์ชาติ ไม่สามารถขอได้ เนื่องจาก soft loan แบงก์ชาติ กำหนดให้เฉพาะลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงิน เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้ และเพื่อการบริหารความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียของสถาบันการเงิน
จากผลการสำรวจที่สภาเอสเอ็มอีได้ทำการสำรวจความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า
- ผู้ประกอบการ SMEs ที่กว่าร้อยละ 40.52 ที่มีรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 1-10 ล้านบาท (ระหว่างวันละ 2,730 ถึง 27,300 บาทต่อวัน) ส่วนมากมีการจ้างแรงงาน 5-10 คน SMEs กลุ่มนี้ส่วนมากอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกบริการอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าค้าปลีกอุปโภคบริโภค และธุรกิจการเกษตรที่เป็นซัพพลายเชนให้กับธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไปเป็นสินค้า ขับเคลื่อนธุรกิจต่อเนื่องจนไปถึงมือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย
- ผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 18.08 มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 ล้านบาท (น้อยกว่า 2,730 บาทต่อวัน) ส่วนมากมีการจ้างแรงงาน 1-5 คน กลุ่มนี้ส่วนมากอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้า อย่างร้านโชห่วยและค้าปลีกบริการอย่างบะหมี่ชายสี่หมี่เกี้ยว
- ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ต่อปีอยู่ระหว่าง 10-50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.74 ส่วนใหญ่จะมีการจ้างแรงงานจำนวน 10-25 คน
- ผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.37 มีการจ้างแรงงาน 25-250 คน
ทันทีที่รายได้ SME ค้าปลีกสินค้าและบริการหายไปจากการถูกสั่งให้หยุดดำเนินการ เรื่องของการเงินและการเงินทุนที่จะนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและรองรับกับค่าใช้จ่ายที่ยังเกิดขึ้นต่อไป แม้ว่ารายได้จะหายหรือลดลงไป เช่น ค่าแจ้งแรงงาน ภาระค่าเช่า ค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยทั่วไป มักจะรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งก็ไม่เคยเข้าถึง ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นตัวเล็กจริงๆ มีรายได้วันละ 2,730 ถึง 27,300 บาท และที่รายได้น้อยกว่าวันละ 2,730 บาท รวมกันแล้วเกือบร้อยละ 60 ของผู้ประกอบการ SME ทั้งหมด ส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการ SME เหล่านี้ ส่วนใหญ่มีบัญชีสินเชื่อเพียงบัญชีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ประเภทสินเชื่อทั่วไป (general loan) หรือเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) เป็นกลุ่มที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อมากสุด กลับไม่สามารถเข้าถึง Soft Loan แบงค์ชาติได้ ด้วยเงื่อนไขสถาบันการเงินกลัวหนี้เสีย NPL ให้ปล่อยกับพวกที่มีประวัติการกู้ก่อน ดังนั้น หากไม่สามารถหาช่องทางให้ SME กลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่ออย่างสะดวก อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่การบริโภคค้าปลีกทั้งระบบ
แนวคิดการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก
ภาคธุรกิจการค้าปลีก-ค้าส่งมีสัดส่วน GDP ในภาคการผลิต ร้อยละ 16.1 เป็นอันดับ 2 รองลงมาจากภาคอุตสาหกรรม ในส่วนการบริโภคภาคค้าปลีก มีมูลค่ากว่า 4.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55 ของการบริโภคเอกชน (Private Consumption) ภาคการค้าปลีกขายสินค้าและบริการเกิดการสร้างงาน คิดเป็นร้อยละ 28 ของการจ้างงานทั้งประเทศหรือ 11 ล้านคน เป็นระบบการค้า หรือ Platform เชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร กว่า 400,000 รายสู่ผู้บริโภค
โดยธรรมชาติของผู้ค้า ซัพพลายเออร์ ที่ค้าขายกับห้างค้าปลีกและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ กว่า 80% ของผู้ค้า เกษตรกร ซัพพลายเออร์ เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดเล็ก มูลค่าการค้าต่อรายโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10-50 ล้านบาทต่อปีมีการจ้างงานราว 10-25 คน และขนาดย่อม รายได้ต่อปีมากกว่า 50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน มีการจ้างแรงงาน 25-250 คน จากผลกระทบจากการเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกแรก ต้องยอมรับว่า ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องอย่างรุนแรง ที่ยังอยู่ได้ทุกวันนี้ ต้องอาศัย “ความอึดถึกทนล้วนๆ” พอมาเจอการแพร่ระบาดไวรัสระลอกใหม่ ปัญหาสภาพคล่องก็มาถึงจุดวิกฤต การเลิกจ้าง ปิดกิจการ กำลังจะได้เห็น SME กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ภาครัฐต้องให้สำคัญและให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน
หากเพียงเริ่มต้น Soft Loan งวดแรก 20,000 ล้านบาท อนุมัติผ่านจากสถาบันการเงินมายังแพลตฟอร์มค้าปลีกให้แก่ SME รายละ 1-2 ล้านบาทเพื่อช่วยสภาพคล่องทางเงินระยะสั้น จะสามารถช่วย ผู้ค้า ซัพพลายเออร์ ที่ค้าขายกับห้างค้าปลีกและศูนย์การค้า เป็นจำนวนอย่างน้อย 10,000 – 25,00 รายทันที โดยที่สถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่อง NPL และ เป็นการคลายล็อก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้าน ก็จะเกิดผลทันที โดย
กระบวนการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก เป็นอย่างไร
หากเราจินตนาการแพลตฟอร์มค้าปลีกเป็นเสมือนทางด่วน ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร ผู้ค้าบริการต่างๆในห้างสรรพสินค้าและ ศูนย์การค้า เปรียบเสมือนรถที่วิ่งบนทางด่วน ซึ่งทางด่วนอาจมีหลายเส้น เช่น ทางด่วนเซ็นทรัล ทางด่วน Homepro ทางด่วน The Mall, Lotus, Big C และ CPN, Siampiwat ขณะที่รถ SME ที่วิ่งอยู่น้ำมันกำลังจะหมด แต่ไม่มีเงินพอที่เติมน้ำมัน ไปธนาคารก็ไม่ปล่อยสินเชื่อให้เพราะธุรกิจไม่ดี แต่ทางด่วนหรือภาคธุรกิจค้าปลีกและทำธุรกรรมร่วมกับผู้ประกอบการ SME แต่ละรายต่างก็รู้จักอย่างคุ้นเคย จะสามารถเข้ามาเป็นตัวช่วยที่ดีแก่ผู้ประกอบการ SME หากทางธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถอนุมัติในรูปแบบ Soft Loan หรือรูปแบบอื่นๆ อาทิ วงเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงิน แล้วสถาบันการเงินส่งผ่านภาคธุรกิจค้าปลีก ค้าปลีกก็นำไปปล่อยกู้ให้กับ SME ต่อไป เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่วิสาหกิจ SME และ เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไปได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องขอสินทรัพย์ค้ำประกัน เพราะผู้ประกอบการ SME เหล่านี้ ค้าขายกับภาคค้าปลีกอยู่แล้ว เรารู้ว่าการค้าเขาเป็นอย่างไร ต้องการวงเงินสินเชื่อเท่าไรเพื่อเสริมสภาพคล่องก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ภาคค้าปลีกร่วมกับสถาบันทางการเงินจะเป็นผู้คัดกรอง SME ที่ยื่นความจำนงผ่านภาคค้าปลีก พิจารณาความจำเป็นในความต้องการสินเชื่อของ SME แต่ละราย จากธุรกิจธุรกรรมที่ SME ดำเนินอยู่ในอดีต ปัจจุบัน และพัฒนาการในอนาคต สถาบันการเงินที่อนุมัติซอฟต์โลนร่วมกับภาคค้าปลีกจะพิจารณาส่งผ่านสินเชื่อไปยัง SME ตามวัตถุประสงค์
เพียงแค่ ผู้ค้าปลีก ศูนย์การค้า ที่สนใจที่จะเป็นแพลตฟอร์มในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME ก็ให้ไปลงทะเบียนกับ เพื่อการปล่อยสินเชื่อจะได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและตามเงื่อนไขที่ตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทย Platform ค้าปลีก จะเป็นคำตอบแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะเป็น สะพาน ส่งผ่านสินเชื่อม Soft Loan ไปยัง SME ตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังเดือดร้อนและต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องโดยเร็ว
สินเชื่อผ่านแพลตฟอร์ม ค้าปลีก อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เป็นไปได้
เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ของหลายคนแต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และตรงเป้าที่สุด ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเสมือนแพลตฟอร์มใหญ่ที่เชื่อมต่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เกษตรกร สู่ผู้บริโภค การพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรกว่า 400,000 รายผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจค้าปลีก จะเป็นช่องทางที่จะถึงมือผู้ประกอบการโดยตรงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินและภาคค้าปลีก เริ่มต้นด้วยสินเชื่อซอฟต์โลน 50,000 ล้านบาท จะสามารถส่งต่อให้ SME ได้ทันทีไม่น้อยกว่า 30,000-50,000 หมื่นราย
ภาครัฐควรต้องกำหนดนโยบายในการส่งเสริมให้สถาบันการเงินร่วมกับห้างค้าปลีกและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการสร้างแพลตฟอร์มนำ ซอฟต์โลนจากธนาคารแห่งประเทศไทยไปสู่ ผู้ประกอบ SME ที่กำลังเดือดร้อนและต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องโดยตรง การปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก จึงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหวาสงสถาบันการเงินและ SME แพลตฟอร์มจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดย ก่อเกิดหนี้เสีย NPLต่ำ การพิจารณาให้สินเชื่อร่วมกันระหว่างสถาบันการเงินและภาคค้าปลีกผ่าน Plat Form ค้าปลีก จึงเป็นการให้สินเชื่อที่ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลทันที.