เอสเอ็มอีกับภูมิทัศน์ธุรกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไป
ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจธุรกิจเอสเอ็มอีมักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เป็นหน้าด่านรองรับผลกระทบไปอย่างเต็มๆ จะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้เอสเอ็มอีอย่างไร
เมื่อเร็วๆ นี้ สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF ได้จัดทำรายงานที่กล่าวถึงความเสี่ยงอุบัติใหม่ของโลกที่เป็นผลมาจากการการรวบรวมความคิดเห็นของบรรดาผู้นำทางธุรกิจทั่วโลกที่มีต่อทิศทางในอนาคตของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่จะเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและธุรกิจของโลกที่กำลังจะมาถึงในอนาคต
สำหรับธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี ซึ่งเจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจมักจะต้องกังวลกับการผจญกับปัญหาเฉพาะหน้าที่มีให้ต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา และมักจะไม่ได้มีเวลาให้กับการมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในด้านที่เป็นโอกาสหรือเป็นความเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจ
จึงมักจะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ธุรกิจเอสเอ็มอีจึงมักจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เป็นหน้าด่านรองรับผลกระทบไปอย่างเต็มๆ ก่อนเพื่อนอยู่เสมอ
ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีก็คือ การให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงให้กับธุรกิจของตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา
การที่จะบ่งชี้ว่า ทิศทางของความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจและธุรกิจจะมีอะไรบ้าง ก็คือ การติดตามการวิเคราะห์ทิศทางอนาคตของบรรดาผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการด้านความเสี่ยงทางในด้านต่างๆ มักให้ข้อมูลที่เป็นข่าวออกมาเป็นระยะๆ นั่นเอง
ส่วนการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า ทิศทางหรือเทรนด์ธุรกิจใดที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจของตนเอง ก็คงจะต้องตกเป็นภาระของเจ้าของหรือผู้บริหารของธุรกิจนั้นๆ เนื่องจากธุรกิจแต่ละแห่งต่างก็มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนกันทุกประการ ขึ้นอยู่กับ วิสัยทัศน์ ความเชื่อมั่น และวิธีกำหนดทิศทางให้กับธุรกิจของเจ้าของหรือผู้บริหาร ที่แตกต่างกันออกไป
แนวทางเบื้องต้นที่จะวิเคราะห์ว่า เทรนด์อนาคตใดที่จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจ ดูได้จากปัจจัย 2 ด้าน อันได้แก่ ความเชื่อว่าโอกาสที่เทรนด์อนาคตนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้จริง และหากเหตุการณ์นั้นๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด
ตัวอย่างง่ายๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ เรื่องของโรคระบาดโควิด-19 ที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้เกิดความเสียหายไปอย่างมากเกินคาดคิดเช่นกัน
ในรายงานของ WEF เกี่ยวกับความเสี่ยงที่โลกอาจต้องเผชิญที่ได้รวบรวมขึ้นล่าสุดในปี 2020 ได้มีการแยกแยะแนวโน้มหรือเทรนด์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่คาดว่าจะมาถึงในอนาคตออกโดยเรียงลำดับตามโอกาสที่แนวโน้มนั้นจะเกิดขึ้น และตามลำดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะตามมา
10 อันดับแรกของโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงของโลก ได้แก่
1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
2) มาตรการป้องกันและเยียวยาสภาพแวดล้อมไม่สัมฤทธิ์ผลตามแผนที่วางไว้
3) การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
4) การลดลงของความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต
5) การเกิดภัยพิบัติหรืออุบัติภัยจากการกระทำของมนุษย์
6) การโจรกรรมข้อมูลหรือการสร้างข้อมูลที่เป็นเท็จ
7) การโจมตีทางไซเบอร์
8) วิกฤติการขาดแคลนน้ำ
9) การตกต่ำด้านธรรมาภิบาลธุรกิจ
10) วิกฤติฟองสบู่ของมูลค่าสินทรัพย์
ส่วนการประเมินผลกระทบ เรียงตามลำดับความรุนแรง 10 อันดับแรก ที่ WEF ได้วิเคราะห์ไว้ ได้แก่
1) มาตรการป้องกันและเยียวยาสภาพแวดล้อมไม่สัมฤทธิ์ผลตามแผนที่วางไว้
2) การนำอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงมาใช้
3) การลดลงของความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต
4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
5) วิกฤติการขาดแคลนน้ำ
6) การเกิดปัญหาในการเชื่อมต่อของระบบข้อมูลข่าวสาร
7) การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
8) การโจมตีทางไซเบอร์
9) การเกิดภัยพิบัติหรืออุบัติภัยจากการกระทำของมนุษย์
10) การเกิดโรคระบาดร้ายแรง
ข้อมูลจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงโลกของ WEF เหล่านี้ อาจช่วยให้เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยได้มองเห็นภาพอนาคตของโลกตามสายตาของ WEF เพื่อนำมาเป็นอุทาหรณ์เปรียบเทียบกับสายตาของเอสเอ็มอีไทยที่ต้องการเตรียมตัวให้พร้อมล่วงหน้าต่อการเตรียมรับสถานการณ์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หรือเมื่อความเสี่ยงเหล่านั้น เกิดขึ้นเป็นจริงแล้ว
เพราะใครที่เตรียมพร้อมไว้ก่อน ก็จะได้เปรียบในการแก้ไขสภาวะวิกฤติได้ดีกว่า แม้ว่าวิกฤติเหล่านั้น อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ตาม ก็ยังจะคงความได้เปรียบอยู่นั่นเอง!!!!