โลกเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน: โรคเหลื่อมล้ำรักษาได้ไหม?

โลกเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน: โรคเหลื่อมล้ำรักษาได้ไหม?

ในยามนี้วัคซีนโควิด-19 เป็นความหวังของคนทั่วโลก  แต่ไม่ใช่ทุกประเทศ และทุกคนทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในเร็ววัน

*ผู้เขียน ประกาย ธีระวัฒนากุล สถาบันอนาคตไทยศึกษา

บางประเทศเริ่มเข้าถึงวัคซีนได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ร่ำรวยสามารถสั่งซื้อวัคซีนได้มากถึงหลายล้านโดส  นำไปแจกหรือจำหน่ายให้แก่ประชากรประเทศตนเอง  ขณะที่ประเทศที่มีสถานะยากจนกว่ากลับมีวัคซีนแจกจ่ายเพียงเล็กน้อยมากเท่านั้น

ประเทศที่ร่ำรวยได้สั่งจองวัคซีนและคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้อย่างทั่วถึงภายในปีนี้  คาดว่าน่าจะไล่เรียงกันไปตามลำดับความรวยความจนของแต่ละประเทศ   โดย The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ระยะเวลาที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้  โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในปลายปี 2564 เช่น สหรัฐฯ ประเทศในยุโรป

กลุ่มที่ 2 ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในกลางปี 2565 เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย

กลุ่มที่ 3 ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในปลายปี 2565 เช่น จีน อินเดีย ไทย

กลุ่มที่ 4 ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงหลังจากปี 2566 เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา ประเทศต่างๆ ในแอฟริกา

ส่วนประเทศยากจน มีเพียงทางเลือกเดียวคือการรอรับวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ (COVAX)  นั่นหมายความว่า ประเทศน่าจะได้ฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงช้าสุด คือ หลังจากปี 2566 ไปแล้ว แต่อาจประสบปัญหาได้รับวัคซีนล่าช้า นอกจากนี้ยังอาจเกิดการผลิตและจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศร่ำรวยช้ากว่ากำหนดได้อีกด้วย  ความเหลื่อมล้ำในการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน

โควิด-19 เปรียบเสมือนอุบัติภัยของโลก  การเข้าถึงวัคซีนที่ช่วยชีวิต ไม่ควรขึ้นอยู่กับว่าเกิดมาในประเทศรวยเท่านั้น   การพัฒนาและอนุมัติวัคซีนที่ปลอดภัยได้ผลเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การสร้างหลักประกันว่า วัคซีนนั้นพร้อมให้ทุกคนเข้าถึงได้   เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ช่วงที่ผ่านมาหลายองค์กรออกมาเรียกร้องให้มี “วัคซีนของประชาชน” แจกฟรีอย่างเป็นธรรมพิจารณาตามความจำเป็น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อบริษัทยายินยอมให้เข้าถึงองค์ความรู้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ เพื่อผลิตวัคซีนให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แทนที่จะปกป้องการผูกขาดแล้วขายให้คนที่มีเงินจ่ายให้ในราคาสูงสุดเท่านั้น

 

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นความหวังของคนทั้งโลกในการเผชิญหน้ากับโควิด  แต่ใครบ้างจะได้วัคซีนบ้าง    ใครคือผู้ที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ก่อน นี่เองทำให้เราเห็นช่องว่างระหว่างประเทศที่รวยและประเทศที่จน   ใครว่าเราก็คนเหมือนๆกัน  แต่นี่ชีวิตของคนที่เกิดในประเทศรวยและประเทศจนก็ยังต่างกันได้ขนาดนี้ 

สำหรับประเทศไทยเราเอง เราอาจไม่ได้จัดอยู่ในประเทศยากจน เรายังพอจัดหาวัคซีนมาได้ แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้ก็นับเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ท้าทาย เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ  มีทั้งความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงตัวเงิน และความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาส

ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นว่า โควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องในทางสังคมอีกไม่น้อย  เราเห็นจุดเปราะบาง และความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การล็อคดาวน์ทำให้โรงเรียนต้องปรับการเรียนการสอนไปเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทำให้เห็นเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มีฐานะยากจน ครอบครัวไม่พร้อม ไม่มีอุปกรณ์ สถานที่เพียงพอกับการเข้าถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ แม้กระทั่งการหยุดไม่ได้ไปโรงเรียนนั้น ทำให้เด็กบางคนไม่มีอาหารกลางวันที่มีคุณภาพได้  แล้วถ้าเรากำลังพูดถึงวัคซีนที่เป็นของที่ยังไม่สามารถหาได้เพียงพอกับทุกคนในประเทศ  ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงวัคซีนก็คงไม่ยากเกินไปกว่าที่เราจะจินตนาการได้

ในวันนี้โลกเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน  วัคซีนความหวังของการสู้กับโรคร้าย กลับชี้ให้เห็นถึงโรคความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงและดื้อยามาอย่างยาวนาน คำถามต่อไปก็คือ แล้วโรคเหลื่อมล้ำจะรักษาได้ไหม

แม้ว่าในโลกนี้ คงไม่มีอะไรเท่าเทียมกันแบบหารเท่า เพราะย่อมมีความแตกต่างกันบ้างในเชิงระบบต่างๆ ตามธรรมชาติ แต่นอกเหนือจากความแตกต่างโดยธรรมชาติแล้ว ก็ขออย่าให้เกิดการสร้างความเหลื่อมล้ำโดยจงใจ  หรือการสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นจากนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ที่จะไปขยายช่องว่างให้กว้างใหญ่ออกไปอีกเลย ในทางตรงกันข้าม นโยบายของประเทศไทยในอนาคตควรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลง

สำหรับประเทศไทยของเรา ก็ขออย่าให้ โควิด-19 เป็นโรคที่มาตอกย้ำภาพของความเหลื่อมล้ำ ฉายภาพโอกาสที่ไม่เท่ากันของผู้คนเพียงเพราะเลือกเกิดไม่ได้เลย  อยากให้ โควิด-19 เป็นโรคที่เกิดขึ้นฉับพลัน แต่มากระตุกต่อมการเปลี่ยนแปลงของคนไทย ช่วยกันค้นหาต้นตอรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำ และลุกขึ้นมารักษาให้ถูกจุด   

อย่าให้โควิด-19  ลาจากไป แต่ทิ้งโรคความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกกว่าเดิมไว้อีกเลย.