จัดการและลดการเผาในพื้นที่เกษตร (2)

จัดการและลดการเผาในพื้นที่เกษตร (2)

การเผาในพื้นที่เกษตรเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นควันที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ที่มักเห็นเปลวไฟลุกลามในทุ่งกว้าง

การเผาในพื้นที่เกษตรเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา PM2.5  

สถานการณ์หมอกควันจากฝุ่นจิ๋วหรือที่รู้จักกันในชื่อ PM2.5  ส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่มวลอากาศเย็นถอยออกจากประเทศไทยแล้ว อากาศอุ่นขึ้น และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นรอยต่อระหว่างฤดูหนาวไปฤดูร้อนทำให้อากาศค่อนข้างนิ่ง รวมกับเป็นช่วงที่มีการเผาในพื้นที่เกษตร ทำให้หลายๆ คนได้รับผลกระทบและถามหาต้นตอของปัญหานี้

การเผาในพื้นที่เกษตรเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นควันที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ที่มักเห็นเปลวไฟลุกลามในทุ่งกว้าง เกิดฝุ่นควันเขม่ากระจายทั่วบริเวณ แม้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2561 ระบุว่าแหล่งที่มาของ PM2.5 อันดับแรก มาจากรถยนต์และการจราจร ร้อยละ 55 รองลงมา คือ โรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 15 ส่วนการเผาในที่โล่งซึ่งรวมการเผาในพื้นที่ทางการเกษตรด้วยนั้น ประมาณร้อยละ 14 และยังมีแหล่งที่มาอื่น ๆ อีกบางส่วน

161356101365

ความจำเป็นในการเผาใบอ้อย คือ เผาใบก่อนการไถเตรียมดิน ไม่งั้นเตรียมดินไม่ได้ ถ้าคนไหนมีรถไถสับใบก็จะไถบ่อย 2-3 ครั้ง ถ้าเป็นเกษตรกรรายกลางจะมือเครื่องมือสามารถทำได้ แต่เกษตรกรรายเล็กไม่มี จึงจำเป็นต้องเผาเกษตรกรหลายคนมีความเชื่อแบบนี้

จากการที่เกษตรกรเร่งรอบการผลิตพืชเศรษฐกิจ ทำให้ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร แทนการใช้วิธีการอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าการเผาเป็นหนทางที่ง่าย เร็ว ต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะการเผาใบอ้อย ตอซังและฟางข้าว และตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  โดยส่วนใหญ่เป็นการเผาในพื้นที่ข้าวนาปรังร้อยละ 57 การเผาในไร่อ้อยโรงงานร้อยละ 47 การเผาในพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 35 และ การเผาในพื้นที่ข้าวนาปีร้อยละ 29 หากสามารถจัดการการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้กว่า 76 ล้านไร่ได้ ก็จะสามารถลดปัญหาลงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ทราบกันดีว่าเศษวัสดุการเกษตรทุกประเภท สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง รวมถึงสามารถพัฒนาต่อยอดจากนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมกันจัดการระบบกลไกตลาดไว้รองรับการซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น

เกษตรกรหลายๆ คนนิยมนำเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งในแปลงนำมาคลุมโคนต้นไม้ คลุมแปลงปลูกผัก เพื่อเก็บรักษาความชื้นและเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ เมื่อย่อยสลายจะเป็นปุ๋ยให้พืชต่อ  บางคนนำเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งในแปลงมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หรือผลิตเป็นอาหารสัตว์ เช่น การนำเปลือกข้าวโพดมาหมักเป็นอาหารเลี้ยงโค การอัดฟางก้อนเพื่อนำไปเลี้ยงโคและกระบือ เป็นต้น ส่วนฟางข้าวหรือใบอ้อยก็นำไปอัดเป็นก้อนจำหน่ายให้กับโรงงานน้ำตาลนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อ้อยโรงงานบ้านแจงงาม จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า ปัจจุบันทางกลุ่มไม่ได้มีการเผาใบอ้อยแล้ว แต่ได้นำใบอ้อยมาอัดก้อนแล้วขายให้กับโรงงานน้ำตาลมิตรผล ด่านช้าง ในราคาตันละ 1,000 บาท เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตนอีกทางหนึ่ง

เช่นเดียวกันกับกลุ่มแปลงใหญ่ตำบลบ้านแพน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าว่า ทางกลุ่มเองปัจจุบันได้เข้าร่วมโครงการของ บริษัท SCG ที่รับซื้อฟางข้าว เพื่อช่วยลปัญหาการเผาฟาง และใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์ ในราคาตันละ 1,000 บาท ซึ่งดีกว่าการเผาทิ้งมาก”

ส่วนการนำฟางข้าวมาเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดฟางเพื่อจำหน่ายเพิ่มรายได้ แม้ทำอยู่ในวงจำกัดไม่กี่ราย แต่ได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ได้เกือบตลอดปี  ส่วนวัสดุเหลือจากการเพาะเห็ดฟางสามารถนำกลับไปบำรุงดิน ยังช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย

เริ่มแล้วเกษตรปลอดการเผา

กรณีการปรับเปลี่ยนวิถีสู่เกษตรแบบปลอดการเผาที่ค่อยๆ ขยายวงกว้าง ก็คือ การจัดการไร่อ้อยแบบปลอดการเผา  เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่กาบใบหลุดร่วงง่าย ใช้รถตัดอ้อยสดทดแทนแรงงานคน ถ้าไม่มีรถตัดอ้อย ก็จะมีการสางใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อลดปัญหาอ้อยล้ม หลังจากการเก็บเกี่ยวอ้อยก็ใช้เครื่องสับใบอ้อยระหว่างแถวอ้อยตอ ไถกลบใบและเศษซากอ้อยให้คลุกเคล้าลงดิน จะทำให้อ้อยตอมีการเจริญเติบโตดีขึ้น ให้ผลผลิตสูงและไว้ตอได้นานหลายปี หากไม่มีเครื่องสับใบอ้อยลงดิน ให้เกลี่ยใบอ้อยคลุมดิน 1 ร่อง เว้น 2 ร่อง แล้วไถกลบเศษวัสดุการเกษตรลงดิน ควบคู่ไปกับการใช้สารอินทรีย์สำหรับเร่งการย่อยสลายหรือน้ำหมักชีวภาพ

อย่างไรก็ดี หากมีส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับโรงงานต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณ หรือลดดอกเบี้ยเงินกู้การเช่าซื้อเครื่องจักรให้กับเกษตร เช่น รถตัดอ้อยสด รถไถขนาดใหญ่ เป็นต้น เพื่อลดการเผา ก็จะช่วยให้เกษตรแบบปลอดการเผาขยายได้เร็วยิ่งขึ้น

161356089258

การจัดการการเผาอย่างยั่งยืน

การจัดการเผาในพื้นที่เพาะปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ จำเป็นต้องอาศัยกฎระเบียบที่ชัดเจนและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง พร้อมกับความร่วมมือในระดับพื้นที่ซึ่งต้องมีกติกาในการจัดการอย่างเข้มข้น  ข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งประกาศโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเปิดโอกาสให้มีการจัดการปัญหาที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดซ้ำทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีไร่อ้อย ที่นา และไร่ข้าวโพด ที่พบว่ามักมีการเผาเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต

เกษตรกรกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อ้อยโรงงานบ้านแจงงาม จังหวัดสุพรรณบุรี เห็นว่า อยากให้มีค่าส่วนต่างระหว่างอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ให้มาก ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรรักษาอ้อยสดส่งเข้าโรงงาน

161356094514

หากจำเป็นต้องเผา ต้องมีการจัดระเบียบ พร้อมแผนการเผา และแจ้งผลให้เจ้าหน้าหน้าที่รัฐฝ่ายปกครองทราบ หรือการจัดการระบบผังแปลงอ้อยให้เครื่องจักรกล หรือรถดับเพลิงเข้าพื้นที่ได้สะดวกหากเกิดเหตุไฟไหม้ หรือกำหนดเขตห้ามเผาเด็ดขาดและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบมากหากเกิดเหตุ เช่น ใกล้แหล่งชุมชน โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น

เกษตรกรเพียงบางกลุ่มที่เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไม่กว้างขวางมากนัก  แต่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้เห็นว่าภาคการเกษตรไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหา PM2.5 แม้จะไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม และเป็นโอกาสที่หน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมอย่างจริงจัง เพราะช่วยให้ปัญหานี้คลี่คลายได้เร็วยิ่งขึ้น.   

 เรียบเรียงโดย วาสิฐี ภักดีลุน ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย