ส.อ.ท.รวมพลังช่วยไทยพ้นโควิด-19 ระลอกใหม่
ผมและชาว ส.อ.ท.อยู่ระหว่างเดินหน้าภารกิจสำคัญ เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยภาครัฐแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
สวัสดีคุณผู้อ่านคอลัมน์ Think Forward ทุกท่านครับ ต้นปี 2564 ผมได้เสนอ 3 ประเด็นต่อรัฐบาลเพื่อแก้วิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่ไปแล้ว ขยับมาในเดือนแห่งความรัก ก.พ.นี้ ผมและชาว ส.อ.ท.อยู่ระหว่างเดินหน้าภารกิจสำคัญเพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยภาครัฐแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้โรคระบาดนี้จบลงโดยเร็ววันครับ
หากยังจำกันได้ ปีที่ผ่านมาช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับโควิด-19 ส.อ.ท.ได้รวมพลังกันผลิตหน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ตลอดจนชุดพีพีอี แจกจ่ายแก่บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนผู้ยากไร้ และจำหน่ายราคาถูกแก่สมาชิกทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังออกคู่มือของภาคอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันโควิด-19 ด้วย
ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ปัญหาของประเทศเปลี่ยนไป เกิดโจทย์ที่ยากและใหญ่มากๆ นั่นคือ ปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งลุกลามใน จ.สมุทรสาคร ส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ส.อ.ท.โดยความร่วมมือของทุกคลัสเตอร์และ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม จึงตัดสินใจจัดตั้งโรงพยาบาลสนามใน จ.สมุทรสาคร โรงพยาบาลสนามที่มีมาตรฐานสูง มีสุขลักษณะถูกต้อง เพื่อใช้รักษาคนไทย แรงงานต่างด้าว และอนาคตสามารถเป็นสถานที่กักตัวตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในอนาคต
ปัจจุบัน โรงพยาบาลสนามอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเฟสแรก (ระยะที่ 1) แบบ Prefabrication ขนาด 200 เตียง มูลค่า 12 ล้านบาท พื้นที่ 49 ไร่ ติด ถ.พระราม 2 ต.ท่าจีน จ.สมุทรสาคร โดยคุณวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ เป็นผู้สนับสนุนที่ดิน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 10 มี.ค.2564 นี้
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 สงบ อาคารแห่งนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ สามารถดัดแปลงเป็นอาคารอเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมต่างๆ เพราะเป็นอาคารโปร่งที่มีฉนวนกันความร้อนอย่างดี
ไม่เพียงเท่านี้ จากแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ส.อ.ท.ได้ตระหนักถึงเรื่องการเก็บรักษา จึงได้หารือถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นัดที่ผ่านมา
กกร.มีมติเสนอภาครัฐผลักดันให้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ เพราะประเมินว่าเมื่อไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก จะต้องใช้ซัพพลายเชนและระบบโลจิสติกส์ในการฉีด ดังนั้นต้องวางแผนให้ดี
ด้วยปริมาณวัคซีนจำนวนมาก อาจเกิดปัญหาในการเก็บรักษาวัคซีนที่รอฉีด ดังนั้น ควรมีตู้แช่มาตรฐาน มีอุณหภูมิ ความชื้นเหมาะสม มีวัสดุแน่นหนา ปิดสนิท มีระบบตรวจเช็ค มีไวไฟสามารถมอนิเตอร์มาตรฐานวัคซีนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ เพื่อให้วัคซีนคงประสิทธิภาพสูงสุด
ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม จึงร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ออกแบบและผลิตตู้เก็บวัคซีนมาตรฐาน ต้นทุนเครื่องละ 45,000 บาท ตั้งเป้าผลิตรวบรวม 77 เครื่อง เพื่อบริจาคจังหวัดละ 1 เครื่องทั่วประเทศ
วงเงินในการผลิตตู้แช่ครั้งนี้ ส.อ.ท.ใช้วิธีเปิดรับบริจาคจากสมาชิกทั่วประเทศ เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกเป็นอย่างดี เพราะชาว ส.อ.ท.เราไม่ทิ้งกันแน่นอน ล่าสุดเริ่มผลิตตู้ตัวอย่างออกมาแล้ว และเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป คาดว่าจะผลิตตู้แช่วัคซีนครบ 77 เครื่องภายในเดือน มี.ค. และทยอยส่งมอบทั้งหมดภายในเดือน มี.ค.2564 เช่นกัน ถือเป็นความพร้อมใจของชาว ส.อ.ท.ในการร่วมมือกันต่อสู้กับโควิด-19 ทั้งเรื่องการผลิตตู้เก็บวัคซีน การก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม เพื่อทำให้ประเทศไทยหมดภาระจากปัญหาโควิด-19
ขณะเดียวกัน เรื่องนี้จะเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญว่า ส.อ.ท.ในฐานะองค์กรหลักของภาคเอกชนไทย มีความพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ เราทำโครงการออกมาจำนวนมาก ตั้งแต่เกิดโควิด-19 รอบแรก เราไม่ได้นิ่งดูดาย หรือเอาแต่ร้องขอ ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งที่ขอรัฐบาลก็เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ประสบปัญหาบางด้านที่จำเป็นต้องขอให้รัฐช่วยเหลือ
ท้ายนี้อยากฝากให้รัฐบาลเดินหน้าฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามแผน เพราะการฉีดได้เร็วจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและประเทศ ทำเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้นแน่นอนครับ หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ที่ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊คของผมตามลิงก์นี้ครับ www.facebook.com/ftichairman