ยูนิคอร์นของประเทศไทยไปอยู่ที่ไหน

ยูนิคอร์นของประเทศไทยไปอยู่ที่ไหน

นาทีนี้คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “คลับเฮ้าส์” แอพสื่อสารผ่านเสียงใหม่ที่ให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมฟังบทสนทนา

นาทีนี้คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก คลับเฮ้าส์ แอพสื่อสารผ่านเสียงใหม่ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมฟังบทสนทนาที่มีรูปแบบคล้ายการประชุมสัมมนาออนไลน์ หรือการจัดรายการวิทยุที่ผู้ร่วมรับฟังมีโอกาสโต้ตอบกับผู้ที่จัดรายการได้ด้วย และมีลักษณะพิเศษ คือ การร่วมวงสนทนาด้วยเสียงอย่างเป็นเรียลไทม์ ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าการสนทนาด้วยตัวหนังสือในรูปแบบของบทวิจารณ์ตามโซเชียลมีเดียทั่วไปในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดประการหนึ่งจาก แอพคลับเฮ้าส์ คือการที่สามารถเข้าร่วมบทสนทนาหรือการประชุมสัมมนาออนไลน์ที่จัดขึ้นนอกประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากปลายประเทศทำให้มีโอกาสได้รับฟังมุมมองที่กว้างขึ้นจากสากลโลก ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีชาวต่างชาติจัดหัวข้อ “Where Are The Thai Unicorns?” หรือ ยูนิคอร์นของประเทศไทยไปอยู่ที่ไหน” ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมเกือบทั้งหมดเป็นทั้งสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากต่างประเทศที่มาพูดคุยกันถึงโอกาสและอุปสรรคสำหรับการเกิดยูนิคอร์นในประเทศไทย

สตาร์ทอัพและนักลงทุนเหล่านี้เป็นผู้ที่ประกอบกิจการในระดับภูมิภาคอาเซียนหรือเอเชียแปซิฟิกเป็นอย่างน้อยจึงอาจมีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากสตาร์ทอัพและนักลงทุนที่มีอยู่ในประเทศไทย บทสนทนาดังกล่าวสรุปออกมาเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศได้ดังต่อไปนี้

1.กฎระเบียบของไทยยังคงเสียเปรียบประเทศในภูมิภาค อาทิเช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับนักลงทุน การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และมาตราการสนับสนุนสตาร์ทอัพจากภาครัฐอื่นๆ แม้ภาครัฐกำลังปรับปรุงแก้ไขสิ่งเหล่านี้อยู่แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกฎระเบียบเหล่านี้มีมาหลายทศวรรษแล้วด้วยเหตุและผลที่มีความเหมาะสมกับยุคในอดีตและก็มีความผูกพันกันอย่างสลับซับซ้อนกับกฎหมายหลายฉบับในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคต่างมีนโยบายที่มีความเป็นสมัยใหม่และมีความยอดเยี่ยมระดับโลกจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สตาร์ทอัพที่ประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทยจะถูกร้องขอโดยนักลงทุนเหล่านี้ให้ไปจดทะเบียนนิติบุคคลที่สิงคโปร์เพื่ออาศัยการสนับสนุนสตาร์ทอัพและหลบเลี่ยงภาระทางกฎหมายของไทย

2.ประเทศไทยถือเป็นตลาดขนาดเล็ก จริงอยู่เราอาจมีประชากรมากกว่าสิงคโปร์อยู่หลายเท่าแต่ในวิสัยทัศน์ของสตาร์ทอัพและนักลงทุนระดับระดับภูมิภาคไทยกำลังถูกเปรียบเทียบกับมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กระทั่งอินโดนีเซีย ซึ่งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียนั้น มีประชากรมากกว่าประเทศไทยอย่างชัดเจน ทั้งยังมีอายุมัธยฐานที่ต่ำกว่าประเทศไทยซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล และถึงแม้ว่ามาเลเซียจะมีประชากรน้อยกว่าประเทศไทยแต่มีข้อได้เปรียบทางภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาที่ใช้ในอินโดนีเซีย ทำให้การเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพในมาเลเซียสามารถทำตลาดควบคู่กับอินโดนีเซียได้เลย ซ้ำร้ายกว่านั้นคงไม่ต้องพูดถึงข้อได้เปรียบของกฎระเบียบของประเทศเหล่านี้ รวมทั้งตัวชี้วัดทางด้านการแข่งขันอื่นๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีพัฒนาการอย่างก้าวหน้า

3.สตาร์ทอัพจำเป็นต้องเริ่มต้นในหลายประเทศพร้อมกัน จากขนาดที่เล็กของประเทศไทยการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็นยูนิคอร์นซึ่งหมายถึงการมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ สตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอแม้ว่าสตาร์ทอัพนั้นจะเริ่มต้นกับโมเดลธุรกิจบางอย่างในไทยแต่เพียงอย่างเดียวจนกระทั่งประสบความสำเร็จ แต่ในวันที่พร้อมจะขยายออกไปตลาดภูมิภาคแล้วประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีสตาร์ทอัพในโมเดลธุรกิจเดียวกันที่ได้เติบโตจนเป็นเจ้าถิ่นไปแล้วซึ่งพร้อมจะแข่งขันกับสตาร์ทอัพของไทยเมื่อจะขยายเข้าไปสู่ประเทศเหล่านั้น

4.ผู้เริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยต้องกล้าที่จะคิดต่าง เพราะการเริ่มต้นในหลายประเทศพร้อมกันจำเป็นต้องมีโมเดลธุรกิจที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การที่ลอกเลียนแบบโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศเพื่อมาประยุกต์ใช้ในวงจำกัดอย่างเช่นประเทศไทยจะไม่สามารถทำให้สตาร์ทอัพก้าวหน้าถึงขั้นเป็นยูนิคอร์นได้ และคนไทยยังคงมีข้อจำกัดในเชิงแนวคิดที่ยังคงเป็นแนวอนุรักษ์นิยมเมื่อเปรียบกับเพื่อนบ้านที่ประชากรมีอายุมัธยฐานต่ำกว่า จึงเป็นคนรุ่นใหม่กว่าที่พร้อมจะปรับตัวกับแนวคิดในยุคดิจิทัลและยุคโกลบอลไลเซชั่น และยังความรอบรู้กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกกว้างข้อจำกัดของคนไทยส่วนหนึ่งอาจมาจากภาษาที่คนส่วนมากยังคงมีปัญหากับภาษาอังกฤษและอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการยึดติดกับค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมากับความสำเร็จของประเทศไทยเองจากหลายทศวรรษก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้สตาร์ทอัพหมดกำลังใจเพราะสตาร์ทอัพไม่จำเป็นที่จะต้องไปสู่การเป็นยูนิคอร์นก็ได้และสตาร์ทอัพก็ไม่จำเป็นที่จะต้องระดมทุนจากนักลงทุนข้ามชาติเหล่านี้ มนุษย์แต่ละรายย่อมมีจุดมุ่งหมายและความพอใจที่แตกต่างกันแต่หากมีโอกาสก็ควรขยายวิสัยทัศน์ของตัวเองด้วยการฟังว่าสตาร์ทอัพและนักลงทุนจากต่างประเทศกำลังคิดอะไรเกี่ยวกับประเทศไทย