ยุทธศาสตร์น่านสร้างชาติ : เมืองแห่งความรัก

ยุทธศาสตร์น่านสร้างชาติ : เมืองแห่งความรัก

สถาบันการสร้างชาติ สนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ โดยศึกษาและนำเสนอวิสัยทัศน์การพัฒนา จ.น่าน ควรเป็น เมืองหลวงโลกแห่งความรัก

เมื่อปี พ.ศ.2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินติดตามงานการศึกษาในพระอุปถัมภ์ที่จังหวัดน่าน และทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์ และพัฒนาชุมชนบ้านง้อมเปา ในตำบาลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน

สถาบันการสร้างชาติ ได้สนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ โดยจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจฯ และชุมชนบ้านง้อมเปา และระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม พ.ศ.2564 คณะของสถาบันการสร้างชาติเกือบ 50 คน ได้เดินทางไปยังจังหวัดน่าน เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ดังกล่าว และรับฟังความเห็นในการพัฒนาโรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจฯ และชุมชนบ้านง้อมเปา ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดน่าน

ในวันที่ 7 มีนาคม ทางคณะได้จัดการเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์น่านสร้างชาติ : เมืองแห่งความรัก” ซึ่งได้รับเกียรติจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน หัวหน้าส่วนราชการ และผู้สนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก

ผมได้นำเสนอว่า วิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดน่าน ควรเป็น “เมืองหลวงโลกแห่งความรัก” เนื่องจากน่านมีภาพลักษณ์ที่ผู้คนรู้จัก คือ “ความรัก” โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่าน ย่าม่าน” หรือที่รู้จักในชื่อ “กระซิบรักบันลือโลก” ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่โรแมนติก ด้วยภูมิประเทศที่เป็นขุนเขาสลับซับซ้อน อากาศหนาวเย็น พืชพันธุ์ไม้ดอกสวยงาม ศิลปวัฒนธรรมทรงเสน่ห์ บ้านเมืองน่าอยู่ และผู้คนมีอัชฌาสัยไมตรี

แม้การท่องเที่ยวในจังหวัดน่านได้รับความสนใจมากขึ้น แต่น่านยังคงเป็นเมืองรอง และไม่ใช่จุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อีกทั้งยังมีสัดส่วนคนจนสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ การพัฒนาจังหวัดน่านจึงจำเป็นต้องพัฒนาจุดดึงดูดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และควรสร้างต้นแบบเพื่อเป็นต้นธารของการพัฒนาทั้งจังหวัด

ผมจึงนำเสนอวิสัยทัศน์ระยะยาวในการพัฒนาบ้านง้อมเปาให้เป็น “เมืองหลวงแห่งความรักของน่าน” ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเดิมของบ้านง้อมเปา คือ “ห้วยกานต์” ที่แปลว่า “สายน้ำอันเป็นที่รัก” และหนึ่งในอัตลักษณ์ของชนเผ่าลัวะคือความรัก ทั้งนี้หากยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นขวัญกำลังใจให้กับพื้นที่อื่น เพราะบ้านง้อมเปาอยู่ในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของจังหวัดน่าน โดยผมมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้

  1. การออกแบบการท่องเที่ยวบ้านง้อมเปา

การท่องเที่ยวจะเป็นตัวนำการพัฒนาบ้านง้อมเปาในระยะยาว เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม ภูมิอากาศที่เย็นสบาย และภูมิสังคมที่มีความเฉพาะตัว จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว โดยผ่านหลวงพระบาง จะเป็นโอกาสเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวจีนมายังน่าน

ผมได้นำเสนอแนวคิดหลักของการพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านง้อมเปา คือ “ห้วยกานต์ สายธารรัก” โดยกำหนดนิยามความรักให้ครอบคลุมความรักหลากแบบ เพื่อเป็นกรอบแนวคิดในการออกแบบเรื่องราว สัญลักษณ์ สิ่งดึงดูด เส้นทาง กิจกรรม เทศกาล ประสบการณ์ สินค้าและบริการ รวมไปถึงออกแบบภูมิทัศน์ชุมชน แลนด์มาร์ค และโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว

2.การสร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์

บ้านง้อมเปาอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องเน้นผลิตภัณฑ์ที่ “ทำน้อย แต่ได้มาก โดยแสวงหาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เช่น การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์เฉพาะถิ่น การเพิ่มคุณค่าโดยใช้กรรมวิธีผลิตที่มีความเฉพาะตัว สะท้อนการดูแลเอาใจใส่ และใส่คุณค่าหรือเรื่องราวเข้าไป

ปัจจุบัน คณะทำงานฯ ได้พยายามรื้อฟื้นอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าลัวะ อาทิ เรื่องเล่า ประเพณี เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน และการแสดงออกทางวัฒนธรรมอื่น ๆ โดยคาดหวังว่า จะกลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบ้านง้อมเปาในอนาคต

3.การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

หากถามว่า ทำไมชาวบ้านยังปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้ง ๆ ที่สร้างรายได้ไม่มาก และยังทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย คำตอบก็คือ ความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพด ทำให้มีความเสี่ยงต่ำ การทำให้ชาวบ้านลดหรือเลิกปลูกข้าวโพด จึงจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ที่ผ่านมา การเข้าไปส่งเสริมพืชตัวใหม่มักทำแบบแยกส่วน ทำให้ไม่มีตลาดรองรับ หรือไม่ได้ราคาตามที่คาดหวังไว้ ชาวบ้านจึงหันกลับไปปลูกข้าวโพดเหมือนเดิม

ผมจึงเสนอยุทธศาสตร์ในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจบูรณาการ เช่น การสร้างความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตไปจนถึงการทำตลาด การบูรณาการกิจกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาให้ชุมชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

4.การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ชุมชน

การทำให้ชาวบ้านพ้นความยากจน จำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ทั้งโดยการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การแปรรูป และการเพิ่มคุณค่าด้วยวิธีอื่น ๆ ทั้งนี้ ผมได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐอย่างเจาะจง ให้ช่วยวิจัยการเพาะเลี้ยงปลามันซึ่งเป็นปลาในธรรมชาติ ให้สามารถเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ และพัฒนาพันธุ์ฟักทองซึ่งเป็นพันธุ์ท้องถิ่นให้มีคุณลักษณะดีที่สุด เช่น ใหญ่ที่สุด บังคับสีสันตามต้องการได้ อร่อยที่สุด สารอาหารดีที่สุด บังคับรูปร่างได้ตามต้องการ เป็นต้น รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเมนูฟักทอง 365 เมนู และเมนูข้าวใหม่ปลามัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฟักทอง การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น

5. การพัฒนาสังคมและชุมชน

ชุมชนง้อมเปามีปัญหาเช่นเดียวกับชุมชนชนบทอื่น ๆ อาทิ ความยากจน การอพยพย้ายถิ่น การขาดการรวมกลุ่ม ปัญหาสุขอนามัย โรงเรียนมีขนาดเล็กและคุณภาพการศึกษาต่ำ เป็นต้น สถาบันการสร้างชาติจึงมีแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนหม่อมเจ้าเจริญใจฯ เพื่อพัฒนาให้เด็กเป็นคนดี เก่ง กล้า เช่น การจัดหาครูอาสาสมัครมาช่วยสอน การสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อแบ่งปันครูร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาให้โรงเรียนเป็นต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ในการพัฒนาอาชีพ เพื่อขยายผลไปสู่ชุมชน

นอกจากนี้ สถาบันการสร้างชาติยังมีแผนการจัดหลักสูตร “ชุมชนง้อมเปาสร้างชาติ” เพื่อการพัฒนา ความรู้ ทักษะ ลักษณะชีวิต และทัศนคติของประชาชน เพื่อจุดระเบิดการพัฒนาจากภายใน อันนำไปสู่การพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต คุณธรรม และพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน

ในการเดินทางครั้งนี้ ผมและคณะได้เดินทางไปยังจุดที่เป็นต้นน้ำน่าน ซึ่งเป็นเพียงแอ่งน้ำซับขนาดเล็ก ทำให้ผมได้ข้อคิดว่า แม่น้ำน่านที่ใหญ่โต ยังเกิดจากแอ่งน้ำขนาดเล็ก ๆ ฉันใด การทำงานที่ยิ่งใหญ่ของน่าน ย่อมเกิดการทุ่มเททำงานจากจุดเล็ก ๆ ที่ห้วยกานต์ฉันนั้น.