วันหยุดประจำภาค :โบว์ดำรัฐราชการรวมศูนย์
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีวันหยุดราชการประจำภาคต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ โดยเริ่มหยุดตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาที่ภาคเหนือ
จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีวันหยุดราชการประจำภาคต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ โดยให้วันที่ 26 มี.ค. เป็นวันหยุดราชการ ภาคเหนือ ชดเชยประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี/ วันที่ 10 พ.ค. วันหยุดราชการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ/วันที่ 6 ต.ค. วันหยุดราชการประจำภาคใต้ ประเพณีสารทเดือนสิบ/วันที่ 21 ต.ค. วันหยุดราชการประจำภาคกลาง ประเพณีเทศกาลออกพรรษา
โดยเริ่มหยุดตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาที่ภาคเหนือ ตามประเพณีชาวเหนือนั้นถือกันว่า คนใดเกิดปีใด จะต้องไปสักการบูชาพระธาตุนั้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน ดังนี้
- ปีชวด(ปีไจ้) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
- ปีฉลู(ปีเป้า) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
- ปีขาล(ปียี่) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
- ปีเถาะ(ปีเหม้า) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
- ปีมะโรง(ปีสี) พระธาตุประจำปีเกิดคือ เจดีย์พระสิงห์ วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
- มะเส็ง(ปีไส้) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธยาประเทศอินเดีย ชาวบ้านเดินทางไปไม่ถึง ให้ไหว้ต้นโพธิ์แทน
- ปีมะเมีย(ปีสะง้า) พระธาตุประจำปีเกิด พระธาตุย่างกุ้ง หรือชะเวดากองประเทศพม่า
- ปีมะแม(ปีเม็ด) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
- ปีวอก(ปีสัน) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
- ปีระกา(ปีเล้า) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
- ปีจอ(ปีเส็ด) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ถ้าจะไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ให้ปล่อยคมและสักการะด้วยดอกไม้ ธูปเทียน
- ปีกุน(ปีไก๊) พระธาตุดอยตุง จากหวัดเชียงราย
หากผู้ใดเกิดปีไหนแล้วควรไปนมัสการพระธาตุนั้นๆได้อานิสงส์มากสำหรับผู้ใดที่อยู่ห่างไกลจากพระธาตุประจำปีเกิดของตนเดินทางไปไม่ถึง ก็ให้ไปกราบไหว้เอาเองหรือไปขอที่วาดรูป วาดใส่แผ่นผ้าหรือแผ่นกระดาษนำไปสักการบูชาได้ ไม่มีขนบธรรมเนียมหรือประเพณีใดๆที่จะต้องไปนมัสการหรือสักการะวันไหน เดือนไหน หรือปีละครั้งเดียวเท่านั้น หรือจะต้องทำพร้อมกันในวันเดียวกันในทุกปีเกิดตามที่ครม.กำหนดแต่อย่างใด
ซึ่งในวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาได้สร้างความสับสนอลหม่านและมีความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนกันถ้วนหน้า เพราะแทบจะไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นวันหยุดราชการมิหนำซ้ำยังติดกับวันเสาร์อาทิตย์เสียอีก เลยต้องรอไปอีก 3 วันจึงจะมาติดต่อราชการใหม่ได้ โรงเรียน สถานศึกษาก็หยุด โรงพยาบาลในส่วนของคนไข้นอกก็หยุด ไฟฟ้า ประปา ในส่วนของการติดต่อการบริการก็หยุด ฯลฯ ความเสียหายทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมาย
การที่กำหนดให้ 26 มีนาคม เป็นวันหยุดไหว้พระธาตุสำหรับภาคเหนือ ให้วัดจัดงาน บ่งบอกถึงความไม่รู้อะไรเลยในเรื่องของศิลปวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น คิดอยากจะทำก็ทำ จะเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงหรือเดือนเพ็ญ ก็ไม่ใช่ จะเป็นวันแรมสิบห้าค่ำหรือเดือนดับก็ไม่ใช่ วันสรงน้ำพระก็ไม่ใช่ วันปีใหม่(เมือง)ก็ไม่ใช่ วันดีวันเสียก็ไม่ใช่ ฯลฯ ไม่ใช่อะไรสักอย่าง นึกอยากจะประกาศเป็นวันหยุดก็ประกาศไปเลยเสียยังจะดีกว่า หรือจะให้สุดๆไปเลยว่าเป็นวันหยุดเพื่อให้กินเที่ยวดื่มสุรายาเมาประจำภาคเหนือ ไม่ใช่มาประกาศหยุดแล้วอ้างว่าเป็น"วันหยุดประเพณีไหว้พระธาตุ" มันเป็นประเพณีอะไรเหรอ ขอถามสักคำเถอะครับ คนได้ประโยชน์คือ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ นอนตีพุงสบายอยู่บ้านฟรีๆ
แล้วการที่กำหนดวันที่ 10 พ.ค. วันหยุดราชการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ คนอีสานไปอยู่ที่เป็นชุมชนๆหรือแม้กระทั่งเป็นอำเภอๆเลยแถวเชียงราย มีการพูดภาษาอีสานกันเป็นภาษาถิ่นที่สองเลยก็มี มีการแข่งขันบ้องไฟก็มีทำไมไม่หยุดให้เขาล่ะ
วันที่ 6 ต.ค. วันหยุดราชการประจำภาคใต้ ประเพณีสารทเดือนสิบ ภาคอื่นก็มีประเพณีนี้ ส่วนวันที่ 21 ต.ค. วันหยุดราชการประจำภาคกลาง ประเพณีเทศกาลออกพรรษานั้น ทั่วประเทศเขามีการตักบาตรเทโวกัน ทำไมไม่หยุดให้เขาด้วย
การรวมศูนย์อำนาจไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมืองการปกครอง นั้นได้ทำลายอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี ของท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการกำหนดให้มีวัฒนธรรมเดี่ยว ความดีงามเดี่ยว ภาษาเดี่ยว เชื้อชาติเดี่ยว ศาสนาเดี่ยว ฯลฯ ชื่อสถานที่ที่มีมาแต่ดั้งเดิมถูกเปลี่ยนไปโดยอ้างมาตรฐานความสุภาพไม่สุภาพของรัฐรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ประเพณีสงกรานต์การสระเกล้าดำหัวกลายเป็นรดน้ำตามแบบข้าราชการที่ไปจากส่วนกลาง
การยัดเยียดประเพณีโดยมติครม.เช่นวันหยุดประจำภาคครั้งนี้ก็เช่นกัน นอกจากประเด็นพื้นฐานคือความไม่รู้ประเพณีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นนโยบายประชานิยมแบบมักง่ายอีกด้วย หวังว่าคนมีวันหยุดเพิ่มขึ้น คนจะแฮปปี้ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดการติดอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์คืออยากจะทำอะไรจากส่วนกลางก็มีคำสั่งหรือมมติออกมาเลย ไม่สนใจใยดีถึงความเดือดร้อนของผู้คนว่าจะอลหม่านแค่ไหน
ให้คนท้องถิ่นเขากำหนดเองเถอะครับว่าเขาจะทำอะไรตามความเชื่อความศรัทธาของเขา ตราบใดที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบต่อการเป็นรัฐเดี่ยว ไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ(ที่แท้จริง) ฯลฯ ไม่มีใครรู้ประเพณีท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่นหรอกครับ
หยุดทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีเถอะครับ.