New Normal Cultural Practices: วัฒนธรรมปฏิบัติปกติใหม่

New Normal Cultural Practices: วัฒนธรรมปฏิบัติปกติใหม่

นับตั้งแต่เริ่มต้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เท่ากับว่า เราอยู่กับโรคนี้มาเป็นระยะเวลาปีกว่า ๆ แล้ว

      ผมได้คาดการณ์ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยในช่วงแรก ๆ ว่า มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะอยู่กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยราว 2 ปี ดังที่เคยนำเสนอโมเดล วงจรชีวิต 2 ปี กับ COVID-19”

            6 เดือนแรก : สติแตก : ชีวิตแปลก (จากปกติเก่า)

           6 เดือนที่สอง : สติตื่น : ชีวิตเปลี่ยน (จากปกติเก่า)

           6 เดือนที่สาม : สติเติม: ชีวิตปรับ (สู่ปกติใหม่)

           6 เดือนที่สี่ : สติเต็ม: ชีวิตเป็น (ปกติใหม่)

เรียกได้ว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วง 6 เดือนที่สาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สติถูก “เติมแล้ว และชีวิตกำลังปรับ เข้าสู่ความปกติใหม่

ปัจจุบัน หลายบริษัทได้ทำการผลิตวัคซีนสำเร็จแล้ว และได้กระจายวัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทว่าประสิทธิผลของวัคซีนที่แตกต่างกัน และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นต่อผู้รับวัคซีนในบางกลุ่ม ทำให้บางประเทศระงับการฉีดวัคซีนของบางบริษัท และคนบางกลุ่มตัดสินใจว่าจะยังไม่รับวัคซีน

นอกจากนี้ การเข้าถึงวัคซีนยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะปริมาณความต้องการวัคซีนนั้นสูงกว่าความสามารถในการผลิต ประกอบกับการฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากต้องใช้เวลา ส่งผลให้อัตราส่วนของผู้ได้รับวัคซีนต่อประชากรในหลายประเทศยังคงต่ำ และต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่คนส่วนใหญ่ในทุกประเทศจะได้รับวัคซีนครบถ้วน

ถึงกระนั้น เรายังสามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ตามหลักปฏิบัติพื้นฐานตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เช่น การหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ การระมัดระวังการสัมผัสพื้นผิวทั่วไป จุดสัมผัสสาธารณะที่มีคนจับบ่อยครั้ง รวมถึงไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก หรือใบหน้า และการรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 – 2 เมตรเสมอ เพื่อลดการรับเชื้อจากการไอจามรดกัน เป็นต้น

แม้วัคซีนเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดความรุนแรงจากเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะไม่กลับมาติดเชื้อโรคอีก ด้วยเหตุนี้ หลักปฏิบัติพื้นฐานข้างต้นยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทั้งผู้ที่ได้รับหรือยังไม่ได้รับวัคซีนพึงกระทำและปฏิบัติตามเสมอ

ในอนาคต ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า ทุกคนจึงต่างได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่กับหลักปฏิบัติใหม่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมปฏิบัติปกติใหม่ (new normal cultural practices) กระนั้นไม่ใช่ทุกข้อปฏิบัติจะกลายเป็นวัฒนธรรมปฏิบัติปกติใหม่ได้ ทว่ามีบางข้อปฏิบัติที่เป็นหรือกำลังจะกลายเป็นวัฒนธรรมปฏิบัติปกติใหม่ ซึ่งผมขอนำเสนอ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

  161892645529

ประการที่ 1 สวมหน้ากาก เหมือน สวมเสื้อผ้า (เสมือนโป๊ หากไม่สวมหน้ากาก)

ก่อนการระบาดของโควิด-19 การสวมใส่หน้ากากอนามัย ขึ้นอยู่บริบททางวัฒนธรรมและปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละพื้นที่

หลายประเทศในเอเชีย ถือว่าการสวมหน้ากากเป็นเรื่องปกติมากขึ้น นับตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์ส การเกิดปัญหามลพิษทางอากาศอย่าง PM 2.5 ในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงความต้องการปกปิดข้อบกพร่องของใบหน้าของชาวเกาหลีใต้ การรักษาความอบอุ่นในฤดูหนาวในญี่ปุ่น ไต้หวัน การลดความประหม่า การสวมใส่ตามเพื่อแฟชั่นตามศิลปิน ดารา นักร้อง

ในทางตรงกันข้าม ชาวตะวันตกกลับมีมุมมองทางลบต่อการสวมหน้ากากอนามัยว่า เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นโรค การบังคับให้สวมหน้ากากเป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพ และการมีความมั่นใจในการแสดงใบหน้า

อย่างไรก็ตาม วิฤตการณ์โควิด-19 จะทำให้การสวมหน้ากากอนามัย ควรสามารถกลายเป็นวัฒนธรรมปฏิบัติปกติใหม่ ทั้งโลกฝั่งตะวันตกและตะวันออก ควรจะปฏิบัติกันทั่วไป ไม่ต่างจากการสวมเสื้อผ้า กล่าวคือ หากไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือในพื้นที่ที่เว้นระยะห่างได้ยาก จะถือเป็นความไม่สุภาพ เสมือนเป็นการโป๊เปลือยในที่สาธารณะ

นวัตกรรมหน้ากากอนามัยแบบใหม่ที่จะใช้สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ควรจะได้รับการพัฒนาให้ช่วยได้ทั้งป้องกันโรคได้ สวมใส่สะดวก หายใจง่าย ไม่อึดอัด เสียงพูดออกมาฟังชัดได้ และมีหลากรูปแบบ หลายสี สวยงาม เข้ากับเครื่องแต่งกายทุกประเภท และมีราคาไม่แพง

 

ประการที่ 2 เมื่อพบกัน พูดว่า ยังเป็นมิตร แม้อยู่ห่าง” (แทน การสัมผัส จับมือ โดนตัว)

          ปัจจุบัน หลายชุมชนได้กำหนดรูปแบบการสื่อความเป็นมิตรรูปแบบใหม่ เพื่อลดการสัมผัส จับมือ โดนตัว เพื่อเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น โรงเรียนในประเทศอังกฤษหันมาเรียนรู้การไหว้เพื่อใช้ทักทาย หรือคนจีนบางกลุ่มหันมาทักทายด้วยการใช้เท้าแตะกันแทนการจับมือ หรือนักกีฬาหันมาใช้ศอกชนกันแทนการกอด เป็นต้น

นอกเหนือจากการแสดงท่าทาง การสัมผัสเมื่อพบปะกันแล้ว การพูดว่า “อยู่ห่างแต่ยังรัก” ยังเป็นมิตรแม้อยู่ห่าง” หรือ มิตรภาพเหมือนเดิมแม้อยู่ห่าง” ก็อาจเป็นการสื่อความเป็นมิตร ที่เน้นย้ำถึงความผูกพันในความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี แม้ไม่มีการสัมผัสกัน ทั้งนี้ วัฒนธรรมการพูดเพื่อสื่อความเป็นมิตรจะต้องใช้ความจริงใจ ความห่วงใยที่แสดงออกผ่านสายตาและน้ำเสียงที่นุ่มนวล อ่อนโยนควบคู่ไปด้วย

 ประการที่ 3 ทักทายกันว่า ล้างมือหรือยัง?” (แทน “กินข้าวหรือยัง?” “สบายดีมั้ย?”)

วัฒนธรรมการทักทายด้วยเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย แทนการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หรือการกินข้าว เป็นการทักทายด้วยความห่วงใย การเอาใจใส่กันและกันรูปแบบใหม่ ซึ่งมิใช่เป็นการทักเพื่อจ้องจับผิดหรือแสดงความรังเกียจ แต่ปรารถนาให้ผู้มาเยือนหรือผู้ที่เราพบเจอมีสุขอนามัยที่ดี ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และร่วมรับผิดชอบต่อกันและกัน โดยไม่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่น

ในอนาคต การทักทายว่า “ล้างมือหรือยัง” อาจแสดงออกควบคู่กับการกดเจลแอลกอฮอล์ให้สำหรับล้างมือ หรือขออนุญาตฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่มือในขณะทักทายกันด้วยก็ได้

วัฒนธรรมปฏิบัติปกติใหม่นี้ เป็นแนวทางการลดและยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งจะคงอยู่กับเราต่อไป ตราบใดที่ยังไม่สามารถจัดการกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะด้วยยารักษาโรคและวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ

สุดท้าย ความตระหนักแต่ไม่ตระหนก ความตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตูม และความมีสติเต็มแต่ไม่สติแตก จะนำพาให้ทุกคนรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมร่วมกันได้เป็นอย่างดี.