บริษัทจดทะเบียนและ Whistleblower
บริษัทจดทะเบียนที่ยึดหลักการดำเนินกิจการตามหลักธรรมาภิบาล ตามแนวทางของสำนักงาน ก.ล.ต. จะยอมรับกลไก Whistleblower หรือการแจ้ง/ชี้เบาะแสทุจริต
ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ได้กำหนดหน้าที่ของกรรมการในการดำเนินกิจการของบริษัทไว้ค่อนข้างเข้มงวดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 85 ถึงมาตรา 95 ที่สำคัญ คือตามมาตรา 85 กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ถ้ากรรมการคนใดไม่ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ดังกล่าวแล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท บริษัทเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการคนนั้นได้
แต่ถ้าเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่เริ่มจัดตั้งใหม่ และได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนหรือบุคคลใดตามมาตรา 32 หรือได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ตามมาตรา 33 หรือเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถเสนอขายหุ้นในวงจำกัด ตามมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่เรียกกันว่า "บริษัทจดทะเบียน"ต้องอยู่ในบังคับของ หมวด3/1 ส่วนที่2 หน้าที่และความรับผิดของกรรมการและผู้บริหาร ของกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วย
ที่สำคัญคือตามที่บัญญัติในมาตรา 89/7 ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง ความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และตามมาตรา 89/10 ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กรรมการและผู้บริหารต้องกระทำการโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ กระทำการที่มีจุดมุ่งหมายโดยชอบและเหมาะสม และไม่กระทำการอันเป็นการขัดหรือแย้งกับประโยชน์ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
การตรวจสอบการดำเนินการของกรรมการและผู้บริหารบริษัท
เนื่องด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจัดให้มีการทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนสิ้นสุดรอบปีบัญชี หรือที่จัดทำขึ้นระหว่างกาล เพื่อเสนอต่อที่ประชุมอนุมัติ ต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนนั้นให้เสร็จก่อนเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย แล้วนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ส่วนกรณีที่เป็นบริษัทจดทะเบียนก็จะอยู่ในบังคับต้องจัดทำงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ตามมาตรา 56 ของกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่สำคัญคือ งบการเงินรายไตรมาสที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว และต้องส่งต่อตลาดหลักทรัพย์ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส
ดังนั้นขั้นตอนทีสำคัญที่จะตรวจสอบการดำเนินการของกรรมการและผู้บริหาร ว่าปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมาดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ นอกเหนือขั้นตอนการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบภายใน หรือกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นกรรมการอิสระ คือขั้นตอนการการตรวจสอบงบการเงินของผู้สอบบัญชี ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าธุรกรรมต่างๆ ของบริษัทจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารมีความผิดปกติหรือมีข้อน่าสงสัยส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ ถ้าพบว่ามีความผิดปดติหรือส่อไปในทางทุจริตก็สามารถสอบถามให้ฝ่ายบริหารชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม หรือทักท้วงทัดทานได้
แต่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้สอบบัญชีก็อาจมีข้อจำกัดจากการที่ฝ่ายบริหารไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ชี้แจงความจริงปกปิดข้อมูล หรือกีดกันไม่ให้เข้าถึงข้อมูล ซึ่งผู้สอบบัญชีก็คงทำได้เพียงให้ความเห็นในรายงานประกอบงบการเงินแบบมีเงื่อนไข หรืองบการเงินไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็น
Whistleblower
Whistleblower เป็นวลีที่มีรากฐานจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการในการแข่งขันกีฬาบางประเภท ที่เป่านกหวีดเพื่อชี้ว่ามีการทำผิดกติกาหรือทำฟาล์ว และเป็นที่ยอมรับกันในหลายประเทศว่าเป็นหน้าที่ของบุคคลในองค์กรหรือในสังคม ที่มีหน้าที่เป่านกหวีด ชี้ให้เห็นถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้อง กระทำผิดกฎหมาย มีการฉ้อฉล มีการโกงกันในองค์กรหรือในสังคมนั้น ประเทศที่สนับสนุนกลไก Whistleblower จะมีการตรากฎหมายออกมาคุ้มครอง Whistleblower ด้วย เช่นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป
กลไก whistleblower ในแวดวงธุรกิจในประเทศไทย
สำหรับบริษัทจดทะเบียน ที่ต้องยึดหลักการดำเนินกิจการ ตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ตามแนวทางของสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งต้องมีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ต่างก็จะตรากฎบัตรธรรมาภิบาลตามแนวทางของ ก.ล.ต. ขึ้นใช้บังคับในบริษัทของตนเอง และจะกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอาจออกเป็นรูปของระเบียบหรือประกาศหรือกฎบัตรของบริษัท ซึ่งจะมีการยอมรับกลไก Whistleblower ไว้ในประกาศ ระเบียบ หรือกฎบัตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เรียกว่า การแจ้งหรือชี้เบาะแสการทุจริต
โดยจะมีข้อกำหนดคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตด้วย แต่จะจริงจังแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกรรมการบริษัทและผู้บริหาร ว่ามีเจตนาต่อต้านทุจริตจริงหรือไม่หรืออาจเพียงกำหนดนโยบาย เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีนโยบายต่อต้านการทุจริต เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กฎหมายคุ้มครอง whistleblower หรือผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตของไทย
ไทยยังไม่มีการตรากฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตออกมาใช้บังคับเป็นการเฉพาะในลักษณะเป็นกฎหมายกลาง แต่มีบทบัญญัติคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตอยู่ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา89/2 ที่บัญญัติว่า
“ มาตรา89/2 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทกระทำการใดอันเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลอื่นใดที่รับจ้างทำงานให้แก่บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะโดยการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน หรือสถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลดังกล่าว ด้วยเหตุที่บุคคลนั้น
(1) ให้ข้อมูล ให้ความร่วมมือ หรือให้ความช่วยเหลือไม่ว่าด้วยประการใด ๆ แก่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน อันเกี่ยวข้องกับกรณีที่พนักงาน ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นใดนั้นเชื่อหรือมีเหตุอันควรเชื่อโดยสุจริตว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(2) ให้ถ้อยคำ ยื่นเอกสารหลักฐาน หรือให้ความช่วยเหลือไม่ว่าด้วยประการใด ๆ แก่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาหรือตรวจสอบกรณีที่มีเหตุสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะกระทำไปโดยที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงานมีคำสั่งให้ปฏิบัติหรือไม่”
นับตั้งแต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์พ.ศ.2535 เพิ่มเติมมาตรา 89/2 ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2551ไม่ปรากฏข้อมูลจาก ก. ล..ต. ว่ามีการแจ้งเบาะแสการทุจริตและมีการบังคับใช้มาตรา 89/2 กับ บริษัทที่ฝ่าฝืนมาตรา 89/2 อย่างไรหรือไม่.